ก้อนน้ำมันดินเกยหาดไม่อันตราย แต่ให้เลี่ยงการสัมผัสตรง ทช.เร่งตรวจแหล่งที่มา

วันที่ 2 มีนาคม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ให้สัมภาษณ์ ว่า จากกรณีที่สื่อเผยแพร่ข่าวปรากฏการณ์ก้อนน้ำมันดิน (Tarball) ลอยเกยชายฝั่งบริเวณเกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานีนั้น ได้สั่งการให้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง (ศวทก.) ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคมที่ผ่านมานั้น มีรายงานว่า พบบริเวณชายฝั่งในหลายพื้นที่ของจังหวัดชุมพร ได้แก่ หาดทุ่งซาง อำเภอปะทิว และหาดทรายรี อำเภอเมือง และเกาะต่างๆ ของ จ.สุราษฏร์ธานี บริเวณหาดริ้น และหาดต่างๆของเกาะพะงัน และหาดละไม-หาดเฉวง เกาะสมุย ทั้งนี้ ในหาดท่องเที่ยวต่างๆที่พบก้อนน้ำมันดิน หลายเทศบาลได้ดำเนินการเร่งทำความสะอาดชายหาดแล้ว จากการสำรวจของ ศวทก. พบก้อนน้ำมันดิน ขนาดตั้งแต่เท่าหัวไม้ขีดถึงเหรียญบาท แต่ส่วนใหญ่มีขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร – 1 เซนติเมตร กระจายประปรายตามแนวน้ำขึ้นสูงสุด เจ้าหน้าที่ได้ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างก้อนน้ำมันดินบริเวณหาดทุ่งซาง หาดทรายรี จ.ชุมพร และหาดริ้น หาดละไม จ.สุราษฏร์ธานี เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณในห้องปฏิบัติ และจะส่งตัวอย่างก้อนน้ำมันดินให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์หาคุณสมบัติเฉพาะ ต่อไป

อธิบดี ทช. กล่าวว่า สำหรับประชาชนที่ลงเล่นน้ำ หรือเดินริมชายหาด ไม่แนะนำให้สัมผัสกับก้อนน้ำมันดินโดยตรง เนื่องจากการสัมผัสก้อนน้ำมันดินบ่อยครั้งแม้จะในปริมาณที่น้อยอาจจะทำให้คนที่มีผิวแพ้ง่ายเกิดการระคายเคือง และผื่นคันได้ ซึ่งหากสัมผัสโดน แนะนำให้ล้างออกด้วยน้ำสะอาด หรือใช้ทรายสะอาดที่ชายหาดถูกบริเวณที่ก้อนน้ำมันดินติดร่างกาย และอาจใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทไข เช่น ครีมทำความสะอาดเอนกประสงค์ เช็ดคราบน้ำมันดินออก ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารสะลายขจัดคราบน้ำมัน เช่น น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล หรือสารละลายไฮโดรคาร์บอนอื่นๆ เพราะอาจทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง อย่างไรก็ตาม ควรรีบล้างก้อนน้ำมันดินให้เร็วที่สุด เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ อาจส่งผลให้เกิดอาการแพ้ได้ นอกจากความเป็นพิษที่เกิดจากการสัมผัสแล้วหากมีการกิน หรือกลืนเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร ก้อนน้ำมันดินอาจจะทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตนั้นได้

Advertisement

นายจตุพร กล่าวว่า ก้อนน้ำมันที่ยังใหม่ อาจจะหลอมเมื่อถูกความร้อนจากแสงแดด ซึ่งทำให้สารประกอบปิโตรเลียมซึมลงสู่ชั้นทรายและทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต เช่น เพรียง หรือ หอยสองฝาได้ โดยการทำความสะอาดชายฝั่งนั้น ถึงแม้ก้อนน้ำมันดินสามารถย่อยสลายได้อย่างช้าๆ ด้วยจุลินทรีย์บางชนิด แต่ใช้เวลานาน ดังนั้นการกำจัดก้อนน้ำมันดินจึงมักเก็บออกด้วยมือหรือใช้เครื่องจักรช่วยร่อนออกแล้วสามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเตาเผาเพื่อให้ความร้อน เช่นเตาเผาซีเมนต์

จตุพร บุรุษพัฒน์

Advertisement

“แม้ว่าก้อนน้ำมันดินอาจไม่ได้อันตรายร้ายแรงต่อชีวิตมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงฉับพลัน และไม่ได้หมายความว่าก้อนน้ำมันดินจะต้องเกี่ยวข้องกับกับรั่วไหลของน้ำมันในทะเลเสมอไป แต่การปรากฏขึ้นของก้อนน้ำมันดินเป็นดัชนีชี้วัดได้ว่ามีคราบน้ำมันอยู่ในทะเลมากน้อยเพียงใด หากเกิดปรากฏการณ์ก้อนน้ำมันดินขึ้นบ่อย แสดงว่ามีปริมาณน้ำมันในทะเลค่อนข้างมาก อาจต้องมีการตรวจสอบต่อไปว่าต้นกำเนิดของก้อนน้ำมันดินเป็นน้ำมันที่มาจากแหล่งใด เพื่อจะได้นำไปสู่แนวทางการบริหารจัดการที่ดีขึ้นได้ในอนาคต”อธิบดี ทช. กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image