ปส.ยัน ‘ปลานำเข้าจากฟูกุชิมา’ ปลอดกัมมันตภาพรังสี

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม นายยุทธนา ตุ้มน้อย นักชีววิทยารังสีชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาด้านความปลอดภัย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวเรื่องนำเข้าสินค้าประมงจากเมืองฟูกุชิมา ประเทศญี่ปุ่น ว่า ในปี 2559 ปส.ได้ทำการวิเคราะห์ปริมาณกัมมันตภาพรังสีของซีเซียม-134 และซีเซียม-137 (Cs-134, Cs-137) ในตัวอย่างอาหารทะเลจากประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ ปลาแมคคาเรล ปลาแซลมอน ปลากระพงแดง ปูอัดแช่แข็ง ปลาหมึก และหอยเชลล์ พบว่าปริมาณกัมมันตภาพรังสีของ Cs-134, Cs-137 ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีของประเทศไทย และในเดือนเมษายน 2560 ปส.ได้รับตัวอย่างอาหารทะเลล่าสุดจากประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ ปลาหางเหลืองแช่แข็ง และหอยนางรมแช่แข็ง เพื่อวิเคราะห์ปริมาณกัมมันตภาพรังสีของ Cs-134, Cs-137 ในตัวอย่างดังกล่าว พบว่าปริมาณกัมมันตภาพรังสีของ Cs-134,Cs-137 ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีของประเทศไทยเช่นกัน

นายยุทธนา กล่าวต่อไปว่า จากผลการตรวจวัดปริมาณกัมมันตภาพรังสีของ Cs-137 ในปลาทะเลจากบริเวณโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมาของห้องปฏิบัติการในประเทศญี่ปุ่น และของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ในปี 2557-2559 พบว่าปริมาณกัมมันตภาพรังสีของ Cs-137ไม่เกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม (Bq/kg) ตามเกณฑ์มาตรฐานอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียมของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 5 เท่า และต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียมในระดับนานาชาติ 10 เท่า (CODEX STAN 193-1995)และจากผลการติดตามตรวจวัดปริมาณกัมมันตภาพรังสีของ Cs-134,Cs-137 ในอาหารทะเลจากบริเวณโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมาของ Japan Atomic Energy Agency (JAEA) ของประเทศญี่ปุ่น พบว่าปริมาณกัมมันตภาพรังสีของ Cs-134, Cs-137 ไม่เกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม(Bq/kg) เช่นกัน

“ปส.ได้เฝ้าระวังในเรื่องนี้อยู่เสมอ โดยทำงานร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามตรวจวัดปริมาณกัมมันตภาพรังสีของCs-137 ในน้ำทะเล จำนวน 314 ตัวอย่าง และอาหารทะเลของประเทศ จำนวน 277 ตัวอย่าง จาก 6 ชนิด ได้แก่ ปลาทรายแดง ปลาปากคม หมึกกล้วย หอยแมลงภู่ หอยแครง หอยนางรม จากทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ตั้งแต่ภายหลังอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกูชิมา ปี 2554 จนกระทั่งปัจจุบัน พบว่าปริมาณกัมมันตภาพรังสีของ Cs-137 ในสิ่งแวดล้อมทางทะเลของประเทศไทยอยู่ในระดับปกติ ไม่แตกต่างจากปริมาณกัมมันตภาพรังสีของ Cs-137 ที่ทำการตรวจวัดก่อนอุบัติเหตุดังกล่าว รวมถึงมีปริมาณอยู่ในระดับเดียวกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” นายยุทธนา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image