สมเด็จพระเทพฯ ทรงชี้วิจัยต้องใช้ได้จริง เกิดความรู้ใหม่-เหมาะกับบริบทปท. สวทช.ชูธง5อุตสาหกรรม

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการ สวทช.ประจำปี 2561 (NSTDA Annual Conference 2018: NAC2018) ภายใต้แนวคิด “ตอบโจทย์ประเทศไทยด้วยงานวิจัยประเด็นมุ่งเน้น” และทรงมีพระราชดำรัส ใจความว่า
ความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นปัจจัยสำคัญ ที่นำมาซึ่งความเจริญของประเทศชาติในทุกๆ ด้าน ตลอดจนคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เป็นที่น่ายินดีที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้กำหนดประเด็นงานวิจัย ที่มุ่งเน้นการพัฒนาในด้านที่เป็นหลักสำคัญ ดังเช่น งานวิจัยด้านคุณภาพชีวิตของปวงชน งานวิจัยในภาคอุตสาหกรรม และงานวิจัยภาคเกษตรกรรม ทั้งได้เลือกสรรหัวข้องานวิจัยที่เหมาะสมกับ บริบทของประเทศ นักวิจัยมีศักยภาพ และมีความรู้เพียงพอ มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมที่จะพัฒนางานวิจัย จึงหวังว่าภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน จะได้ช่วยกันสนับสนุนงานวิจัยของนักวิจัยไทยให้ประสบผลสำเร็จ เกิดความรู้ใหม่ หรือเทคโนโลยีที่นำไปใช้ได้จริง และมีการถ่ายทอดผลงานสู่ภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง

ด้านนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า การประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนองานวิจัยประเด็นมุ่งเน้น ตามแผนกลยุทธ์ของ สวทช.ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2560-2564) ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ได้จริงใน 5 ด้าน ได้แก่ 1.อาหารเพื่ออนาคต 2.ระบบขนส่งสมัยใหม่ 3.การสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิต 4.เคมีชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ และ 5.นวัตกรรมเพื่อการเกษตรยั่งยืน โดยเป็นผลงานวิจัยและพัฒนาที่ สวทช. ได้สนับสนุนและดำเนินการโดยนักวิจัยของ สวทช.ร่วมกับเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และชุมชน

Advertisement

ด้านนายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช.กล่าวว่า 5 กลุ่มอุตสาหกรรมมุ่งเน้น ได้แก่ 1.นวัตกรรมเพื่อการเกษตรยั่งยืน โรงงานผลิตพืชเพื่อการเกษตรในอนาคต การพัฒนาระบบปฏิบัติการตรวจสอบจีโนไทป์ข้าวแบบประสิทธิภาพสูงสำหรับการปรับปรุงพันธุ์ข้าว และการสร้างฐานข้อมูลข้าวเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ (ฐานข้อมูลข้าว)/ระบบควบคุมเครื่องตีน้ำอัตโนมัติ/ระบบบริหารจัดการปฏิทินการเพาะปลูกพืช 2.กลุ่มอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ ตั้งศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย เป็นคลังชีววัสดุชั้นนำระดับภูมิภาคอาเซียน ด้วยระบบการบริหารจัดการเครือข่ายคลังชีววัสดุ ข้อมูลชีววัสดุ และกฎหมายชีวภาพที่เชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โรงงานต้นแบบชีวกระบวนการ เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ สำหรับการพัฒนากระบวนการผลิตชีวมวลเซลล์และสารชีวภัณฑ์จากจุลินทรีย์ในระดับกึ่งอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ในอุตสาหกรรมต่างๆ 3.กลุ่มอาหารเพื่ออนาคต สร้างอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทย 4.การสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิต สำหรับผู้สูงอายุ อาทิ เตียงตื่นตัว: เตียงกระตุ้นการลุกขึ้นนั่ง อุปกรณ์ช่วยขึ้นลงเตียง: อุปกรณ์สำหรับช่วยทำให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ต้องใช้เตียงสูง สามารถลุกนั่งและเข้าออกจากเตียงด้วยตัวเองได้อย่างปลอดภัย และผ้ากระตุ้นสมอง: ผ้าห่มที่มีความอ่อนนุ่มและสวยงาม 5.ระบบขนส่งสมัยใหม่ แบตเตอรี่ต้นแบบสำหรับรถยนต์นั่งไฟฟ้า ระบบติดตามรถประจำทาง รถบริการ รถโดยสาร เพื่อให้ข้อมูลตำแหน่งกับผู้โดยสาร สำหรับการจัดการบริหารเวลาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image