‘อัศวิน’ เผยกทม.ให้6จว.ปริมณฑล ยืม ‘วัคซีนหมาบ้า’

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 21 มีนาคม ที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานประชุมแนวทางในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง โดยมีปศุสัตว์จังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดปริมณฑล ได้แก่ สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร นครปฐม ฉะเชิงเทรา สำนักอนามัย กทม. สำนักงานเขตที่มีพื้นที่รอยต่อกับจังหวัดใกล้เคียง 21 เขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

เวลา 11.30 น. พล.ต.อ.อัศวินแถลงว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า นำไปสู่การระบาดในสุนัข แมว หมู และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ด้วยความห่วงใยพี่น้องประชาชน กทม.ได้จัดหน่วยบริการเคลื่อนที่เพื่อฉีดวัคซีน ทำหมัน และฝังไมโครชิป (บัตรประจำตัวสัตว์เลี้ยงอิเล็กทรอนิกส์) ในพื้นที่ชุมชนทั่ว 50 เขต พร้อมจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 250,000-300,000 โดส โดยได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์ไปแล้วกว่า 100,000 โดส ขณะเดียวกัน กทม.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ จังหวัดใกล้เคียง กรมปศุสัตว์จังหวัด ฯลฯ ร่วมหารือถึงการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงห่วงใยต่อปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของพสกนิกรชาวไทย โดยทรงรับเป็นประธานในการขับเคลื่อนการดำเนินการ

“โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า” ตามพระราชปณิธาน ตลอดจนทรงอุทิศพระวรกายในการช่วยเหลือสุนัขจำนวนมาก เพื่อให้โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม กทม.ในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวในทุกด้าน จังหวัดใกล้เคียง และหน่วยงานด้านสาธารณสุขรู้สึกภูมิใจที่ได้สนองงานตามพระราชดำริด้วยการรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

Advertisement

พล.ต.อ.อัศวินแถลงต่อไปว่า สำหรับการเสียชีวิตในคนจากโรคพิษสุนัขบ้า ปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงจนเป็นศูนย์ โดยในปี 2559 มีผู้เสียชีวิตที่เขตบางนา จำนวน 1 ราย เท่านั้น จากนั้นไม่มีตัวเลขผู้เสียชีวิต ส่วนจังหวัดอื่นที่มีผู้เสียชีวิต 5 ราย ประกอบด้วย สุรินทร์ สงขลา ตรัง นครราชสีมา และประจวบคิรีขันธ์ สำหรับผลการหารือน่าพอใจ โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเปิดรับอาสาสมัครเพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ประสานความร่วมมือจากคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ มาร่วมฉีดวัคซีนและทำหมันสัตว์ ฯลฯ อีกทั้งมีแนวทางความร่วมมือกับจังหวัดใกล้เคียง อาทิ การควบคุมสุนัขในพื้นที่รอยต่อ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหรือประสานการออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ ช่วยกันเฝ้าระวังในพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง ฯลฯ เพื่อป้องกันปัญหาสุนัขติดเชื้อลุกลามไปยังเขตพื้นที่ใกล้เคียง โดยจังหวัดใกล้เคียงที่น่ากังวลมาก คือ สมุทรปราการ เพราะมีประชากรแฝงมาก และมีพื้นที่รอยต่อติดกับกรุงเทพฯ ประมาณ 6-7 พื้นที่เขต จึงร่วมหารือแนวทางการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้น

“ขณะเดียวกัน กทม.ได้ดำเนินการฝังไมโครชิป โดยจะสามารถทราบได้ว่าสัตว์ตัวใดที่ฉีดวัคซีนแล้ว ด้วยการตรวจสอบจากเครื่องสแกน ปัจจุบันมีสัตว์ที่ได้รับการฝังไมโครชิปแล้วกว่า 100,000 ตัว และยังคงมีไมโครชิปเพียงพอต่อการฝังชิปในสัตว์อีกจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ขอแจ้งว่าสำหรับการฉีดวัคซีน ทำหมันและฝังไมโครชิป กทม.ได้ให้บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยประชาชนสามารถนำสัตว์เลี้ยงมาร่วมรับบริการได้ตามหน่วยเคลื่อนที่ของ กทม.” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัจจุบันได้มีกระแสเซตซีโร่สัตว์เลี้ยง ประชาชนในหลายพื้นที่เริ่มวางยาเบื่อสุนัข เพื่อกำจัดและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า ในที่ประชุมได้มีการพูดคุยถึงประเด็นดังกล่าว ส่วนนี้ขอความร่วมมือจากประชาชนให้แจ้งมายัง กทม. เพื่อเข้าไปดำเนินการจับสัตว์เลี้ยงไปทำหมันยังศูนย์ควบคุมสุนัขเขตประเวศ ก่อนส่งไปเลี้ยงไว้ที่ศูนย์พักพิงสุนัข อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี โดยมีความเห็นไม่ควรกระทำเช่นนั้น ปล่อยให้สุนัขหมดอายุขัยไปเองดีกว่า เพราะสัตว์ก็คือชีวิตหนึ่ง

Advertisement

“ส่วนการของบริหารจัดการวัคซีนให้เพียงพอต่อจำนวนสัตว์ในพื้นที่นั้น สำหรับปัญหาปัจจุบันรัฐบาลได้อนุมัติให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดซื้อ บางครั้งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้นตามระเบียบการบริหารจัดการฉบับใหม่นั้น มีขั้นตอนยุ่งยาก ล่าช้าและใช้เวลากว่า 3 เดือน จึงมีข้อตกลงร่วมกันให้สามารถยืมวัคซีนกันได้ โดยจังหวัดใกล้เคียงสามารถมายืม กทม.หรือกรมปศุสัตว์ได้ ซึ่ง กทม.ได้จัดเตรียมวัคซีนไว้จำนวนมาก เชื่อว่ามีจำนวนเพียงพอในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากจังหวัดสามารถจัดซื้อได้แล้วก็นำมาใช้คืน กทม. จึงชี้แจงประชาชนว่าไม่ต้องกังวัลเรื่องวัคซีนจะขาดแคลนในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว

เมื่อถามอีกว่ามีกระแสเรื่องวัคซีนปลอมแพร่ระบาด กทม.มีวิธีการตรวจสอบอย่างไร พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า กทม.มีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบราชการ โดยบริษัทที่เป็นคู่สัญญาได้ผ่านการรับรองคุณภาพจากสำนักงานอาหารและยา (อย.)

“คนเราก็เหลือเกิน แม้วัคซีนยังปลอมกันได้ ควรเอาฉีดหมาตัวเองบ้างแล้ว ผมยืนยันว่าของ กทม.ไม่มีปัญหาดังกล่าว ยกเว้นกระบวนการในการเก็บรักษาวัคซีน ต้องรักษาความเย็นของอุณหภูมิอยู่ที่ 2-8 องศาเซลเซียส” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว

เมื่อถามว่าการฝังไมโครชิปจะสามารถนำมาเป็นแนวทางในการควบคุมไม่ให้มีสุนัขจรจัดได้หรือไม่ พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า เป็นแนวทางที่ดี ซึ่งเจ้าของสัตว์เลี้ยงสามารถมาขอให้ กทม.ฝังไมโครชิปให้สัตว์เลี้ยงได้ แต่หน้าที่ตามระเบียบ กทม.จะดูเฉพาะสุนัขจรจัดเท่านั้น ไม่มีสิทธิดูแลสุนัขในบ้านประชาชน ทั้งนี้ เมื่อคนรักสัตว์ เลี้ยงสัตว์แล้ว ก็ควรทำสิ่งที่ดีๆ ให้เขา ไม่ใช่รักแล้วทิ้ง

พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัด กทม. กล่าวว่า สำหรับการลงทะเบียนสุนัข นอกจากหน่วยบริการ กทม.จะรับลงทะเบียนแล้ว ประชาชนสามารถมาจดทะเบียนสัตว์เลี้ยงตามคลินิกเอกชนได้ โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้ 1.สุนัขต้องมีตัวตนลักษณะชัดเจน 2.มีเจ้าของชัด และ 3.มีที่อยู่ของสุนัขชัดเจน โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกฝังไมโครชิปที่สัตว์เลี้ยงจนสิ้นอายุขัย จึงขอเชิญชวนเจ้าของสัตว์เลี้ยงมาขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง เพื่อสะดวกในการควบคุม
ขณะที่ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีเด็กในพื้นที่ถูกสุนัขจรจัดกัดแล้ว 3 รายนั้น จังหวัดได้ดำเนินการจัดส่งปศุสัตว์อำเภอเข้าพื้นที่ เพื่อสอบสวนโรคว่าติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีมาตรการให้เน้นจัดการสัตว์จรจัดนำมาฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ได้ พร้อมทำปลอกคอ เพื่อระบุว่าสัตว์ตัวนั้นได้ฉีดวัคซีนแล้ว ปัจจุบันจังหวัดอยู่ระหว่างดำเนินการระดมหน่วยตราในทุกพื้นที่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image