คพ.เตือน ไฟไหม้บ่อขยะฤดูร้อน ร้ายแรงกว่าที่คิด

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ รองอธิบดี กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ปัญหาเพลิงไหม้บ่อขยะสามารถเกิดขึ้นได้ทุกฤดูกาล แต่ในช่วงฤดูร้อนปัญหานี้มักเกิดขึ้นมากกว่าช่วงฤดูอื่นๆ เพราะเป็นช่วงที่อากาศแห้ง อุณหภูมิสูง ทำให้ความชื้นในกองขยะมีน้อย เมื่อขยะเกิดการลุกไหม้จึงลุกลามได้ง่ายและดับยาก คพ. ได้รวบรวมสถิติข้อมูลตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2560-มีนาคม 2561 พบมีเพลิงไหม้บ่อขยะ 6 แห่ง ได้แก่ 1.บ่อขยะ ต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ 2.บ่อขยะ ต.จุมพล อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย 3.บ่อขยะเอกชน ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา 4.บ่อขยะต.ทุ่งกระตาดพัฒนา อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ 5.บ่อขยะเอกชนต.ต้นธงชัย อ.เมือง จ.ลำปาง และ6.บ่อขยะในต.ศาลา อ.เกาะคา จ.ลำปาง ทั้งนี้ ต้นเพลิงอาจเกิดขึ้นจากการเผาขยะภายในบ่อโดยตรง เช่น การเผากำจัดขยะในบ่อขนาดเล็กที่ใช้วิธีการเทกองแล้วเผาเพื่อให้มีพื้นที่รองรับขยะในรอบปีต่อไป บางกรณีคนคุ้ยขยะอาจเผาเศษพลาสติกเพื่อค้นหาเศษโลหะที่จำหน่ายได้ หรือเผาสายไฟเพื่อเอาสายทองแดง บางกรณีอาจมีคนงานก่อไฟแล้วปล่อยทิ้งไว้หรือทิ้งก้นบุหรี่ จนเป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ เป็นต้น นอกจากนี้ ในช่วงฤดูแล้งอาจมีต้นเพลิงจากพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ การเผาไร่เพื่อกำจัดวัชพืชและเศษวัสดุทางการเกษตรหรือการเผาป่า โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง

นางสุวรรณา กล่าวว่า เหตุเพลิงไหม้บ่อขยะทำให้เกิดก๊าซพิษที่มีฤทธิ์เฉียบพลัน เช่นคาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไออกไซด์ ไฮโดรเจนคลอไรด์ และฝุ่นละอองขนาดเล็ก เป็นต้น รวมทั้งอาจมีน้ำเสียจากการดับเพลิงไหลล้นสู่พื้นที่ใกล้เคียงหรือแหล่งน้ำสาธารณะ ทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ บางกรณีหน่วยงานท้องถิ่นต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงอันตราย ซึ่งต้องใช้งบประมาณภาครัฐในการบริหารจัดการและนอกจากผลกระทบด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่หรือประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาแล้ว หากเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นในบ่อฝังกลบขยะตามหลักสุขาภิบาลก็ย่อมทำให้การกำจัดขยะช่วงดังกล่าว ต้องหยุดชะงักลง จึงต้องงดให้บริการเก็บขนขยะในชุมชนและทำให้ขยะสะสมตกค้างในชุมชนปริมาณมาก ส่งผลกระทบด้านสังคม ประชาชนกังวล ไม่ยอมรับ และไม่ไว้วางใจต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ นำไปสู่การต่อต้านการเดินระบบกำจัดขยะหรือการสร้างสถานที่กำจัดขยะแห่งใหม่ในอนาคต

Advertisement

นางสุวรรณา กล่าวว่า คพ.จึงขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้มงวดในการดำเนินการมาตรการป้องกันเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่บ่อขยะที่ตนรับผิดชอบ และการป้องกันต้นเพลิงที่อาจเกิดจากความประมาทหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ต่าง ๆ เช่น ควรกลบทับขยะด้วยดินทุกวัน ห้ามสูบบุหรี่หรือก่อกองไฟ ห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาคุ้ยเขี่ยขยะ จัดหน่วยเฝ้าระวังการเกิดเพลิงไหม้บ่อขยะและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้ง ควรเตรียมอุปกรณ์ดับเพลิงไว้ภายในบ่อขยะ เช่น ถังน้ำหรือถังดับเพลิงเพื่อให้สามารถดับเพลิงขนาดเล็กที่กำลังเกิดขึ้นได้ และประสานเตรียมความพร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอำเภอ และจังหวัด กรณีการขอสนับสนุนรถดับเพลิงและรถตักหน้าขุดหลังสำหรับการดับเพลิงขนาดใหญ่ ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ ทั้งนี้ หน่วยงานท้องถิ่นสามารถประสาน คพ. และหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนเจ้าหน้าที่เข้าร่วมตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุและเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งตรวจวัดความเข้มข้นของมลพิษที่เกิดขึ้นว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรงเพียงใด โดยสามารถติดต่อ คพ.ผ่านโทรศัพท์สายด่วน 1650 ตลอด 24 ชั่วโมง
/////

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image