กก.ปฎิรูปสาธารณสุขอีกทางออก แก้ปัญหาโรคจากสัตว์สู่คน

จากกรณีสถานการณ์การระบาดของเชื้อพิษสุนัขบ้าทำให้สุนัขตายจำนวนมาก ขณะที่ผู้เสียชีวิตจากเชื้อดังกล่าวที่มีการยืนยันก็พบสูงถึง 7 คนในรอบ 3 เดือนตั้งแต่ต้นปี 2561 ที่ผ่านมา ยังไม่รวมกับปัญหาโรคไข้หวัดนกที่มีการเปิดเผย แม้จะไม่มีการยืนยันชัดเจนจากกรมปศุสัตว์ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่สังคมก็เกิดคำถามว่า ทั้งหมดมาจากระบบจัดการที่ยังไม่มีประสิทธิภาพด้วยหรือไม่ หรือการเปิดเผยปัญหาโรคระบาดจากสัตว์สู่คนเป็นเรื่องที่ไม่ควรประกาศ เพราะส่งผลต่อภาพลักษณ์และกระทบต่อเศรษฐกิจการส่งออกสัตว์ปีก

ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม  ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มติชน ว่า  ปัญหาโรคจากสัตว์สู่คนไม่ใช่มีแค่โรคพิษสุนัขบ้า แต่โรคพิษสุนัขบ้า ถือเป็นโรคที่จัดการควบคุมได้ง่าย หากสามารถควบคุมประชากรสุนัขจรจัด และมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างครบถ้วนจริงๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นหลายคนมองไปที่ความผิดของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ที่มีการทักท้วงการจัดซื้อวัคซีนฯ รวมทั้งไปเจอปัญหาคุณภาพวัคซีนอีก แต่สิ่งหนึ่งที่ปฎิเสธไม่ได้คือ ความรับผิดชอบของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ต้องมีการรับมือหรือร่วมแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วด้วยหรือไม่ หรือแม้แต่เรื่องการพบเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์บกก็ยังถูกกล่าวหาว่า ไม่เป็นความจริง เพราะตนไม่ได้มีซากตัวอย่างมาตรวจเชื้อ ทั้งๆที่ห้องปฏิบัติการที่จุฬาฯ สามารถตรวจเชื้อได้ทั้งสัตว์และคน แต่ปัจจุบันกรมปศุสัตว์เป็นผู้ดำเนินการหมด ยกเว้นเชื้อแอนแทรกซ์จะมีส่งมาเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าปัญหาโรคจากสัตว์สู่คน ไม่ว่าจะโรคพิษสุนัขบ้าที่เกิดขึ้นแล้ว หรือความไม่ชัดเจนของโรคไข้หวัดนกในสัตว์บก ที่จะเสี่ยงติดสู่คนหรือไม่นั้น ควรมีทางออกอย่างไร ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า จริงๆ ประเทศไทยมีคำว่า One Health หรือที่เรียกว่าสุขภาพหนึ่งเดียว ซึ่งมีหลายหน่วยงานทำมาก ทั้งกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย ฯลฯ แต่การทำงานจริงๆ กลับไม่ได้ตอบสนองต่อคำว่าสุขภาพหนึ่งเดียวอย่างแท้จริง แม้แต่การตอบโต้ต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน เห็นเพียงกระทรวงสาธารณสุขที่มีทีมระบาดวิทยา ลงพื้นที่ไปทำงานควบคุมโรคตามสถานการณ์ต่างๆ ที่ออกมาพูดก็ไม่ได้ต้องการชมกระทรวงสาธารณสุข แต่พูดความจริง ซึ่งถ้าจะให้ดีกว่านี้ต้องทำงานภาพรวมกับหน่วยงานต่างๆอย่างแท้จริงด้วย

“ขณะนี้มีความพยายามในการปรับโครงสร้างการทำงานอยู่ ซึ่งหน่วยงานอื่นต้องไม่รู้ แต่กระทรวงสาธารณสุขมีการดำเนินการเรื่องนี้ โดยมีศูนย์สุขภาพหนึ่งเดียว แต่จะดีกว่าหรือไม่ถ้ามีหน่วยงานระดับชาติมาดูเรื่องนี้ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข ที่มีนพ.เสรี ตู้จินดา เป็นประธานได้มีการพิจารณา และเดินหน้าประเด็นสาธารณสุขระดับชาติ ซึ่งจะมีเรื่องการควบคุมโรคจากสัตว์สู่คน การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ทั้งเรื่องวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์และในคนก็จะมีการทำงานผ่านคณะกรรมการฯ ซึ่งเข้าใจว่าได้มีการร่างการทำงานผ่านสำนักงานมาตรฐานและการจัดการสารสนเทศระบบบริการสุขภาพแห่งชาติหรือสมสส. ขึ้น ทราบว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งจะมีการขับเคลื่อนแผนปฏิรูปฯและน่าจะความคืบหน้าการดำเนินงานช่วงสัปดาห์หน้า”ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว และว่า หากมีคณะทำงานนี้จริงๆ ก็จะทำให้การทำงานระดับชาติในการป้องกันควบคุมโรคดีขึ้น เพราะจะมีประเด็นปรับโครงสร้างด้วย โดยให้กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มาร่วมกันทำงานตรงนี้ แต่ในรูปแบบใดคงต้องรอการพิจารณาและประกาศแผนปฏิรูปด้านสาธารณสุขต่อไป

Advertisement

ด้าน นพ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้มีการเดินหน้าแผนการปฏิรูปด้านสาธารณสุขอยู่ ซึ่งมีการพิจารณาและเสนอการตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ขึ้น แต่จะทำงานผ่านสำนักงานมาตรฐานและการจัดการสารสนเทศระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นสำนักเลขานุการ ซึ่งจะมีเรื่องการฟอร์มโครงสร้างการทำงานของแต่ละส่วนให้ตรงจุดมากขึ้น ไม่ซ้ำซ้อน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image