องค์กรลูกจ้างจ่อชงรัฐ5ข้อ ยกเครื่อง ‘ระบบแรงงาน’ ลั่นไม่ทำส่งต่อพรรคการเมือง

เมื่อวันที่ 11 เมษายน นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) เปิดเผยว่า วันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี ถือว่าเป็นวันสำคัญของผู้ใช้แรงงาน และปีนี้หลังเสร็จสิ้นเทศกาลสงกรานต์ สพท.เตรียมจะเสนอนโยบายด้านแรงงานต่อรัฐบาล เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม แต่หากยังไม่เป็นผลจะนำข้อเสนอเดียวกันนี้เสนอต่อพรรคการเมืองให้จัดทำเป็นนโยบายหากได้รับเลือกตั้งต่อไป

นายมนัส กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอ คือ 1.ต้องปฏิรูประบบประกันสังคม เป็นประกันสังคมแบบถ้วนหน้าที่ครอบคลุมคนทำงาน และคนที่มีรายได้อายุ 15 ปีขึ้นไป มีหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการและประกาศเป็นวาระแห่งชาติ โดยปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคมที่มีอยู่แล้วให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อให้คนทำงานและคนที่มีรายได้จำนวนประมาณ 45 ล้านคน มีหลักประกันทางสังคม ทั้งในระหว่างทำงานและเมื่อเกษียณอายุจากการทำงาน สร้างเสริมการมีส่วนร่วม และส่งเสริมการออมเพื่อลดภาระการคลังของประเทศทั้งปัจจุบันและอนาคตที่จะเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปี 2563 ที่คาดว่าจะมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 20 นอกจากนี้ ให้มีการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมที่เป็นอิสระจากการถูกแทรกแซงจากการเมืองและภาครัฐ มีส่วนร่วม โปร่งใส ตรวจสอบได้

2.รัฐต้องจัดให้มีการส่งเสริมด้านแรงงานสัมพันธ์ทุกมิติ เพื่อเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจแรงงาน และทุกๆ ด้านที่เกี่ยวกับการจ้างงานทุกภาคส่วน เพื่อลดความขัดแย้งด้านแรงงาน และเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และลูกจ้างด้วยกัน ส่งเสริมให้มีการรวมตัวจัดตั้งองค์กรของแรงงานเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันทุกภาคี เพื่อให้เกิดมิติใหม่ในการจ้างงาน เพิ่มทักษะฝีมือแรงงานให้สอดคล้องและรองรับอุตสาหกรรมในยุค 4.0

3.จัดตั้งกองทุนประกันความมั่นคงในการทำงาน เช่น ว่างงาน สนับสนุนสถานประกอบการ พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ชดเชยจากการเลิกจ้าง เป็นต้น โดยออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบรวมกองทุนใหม่ ซึ่งมีกองทุนเดิมอยู่แล้ว คือ กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง กองทุนคุ้มครองคนหางาน และกองทุนประกันสังคม เฉพาะกรณีว่างงาน ทั้งนี้ เพื่อลดอัตราการว่างงานและชะลอการเลิกจ้าง

Advertisement

“ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของแรงงานและสถานประกอบการ อีกทั้งเพื่อให้เกิดระบบการบริหารจัดการแบบบูรณการในเรื่องงบประมาณและกลไกการบริหารจัดการ และแรงงานมีหลักประกันในเรื่องค่าชดเชยและความเสี่ยงจากการถูกเลิกจ้าง การปิดกิจการของสถานประกอบการ” นายมนัส กล่าว

นายมนัส กล่าวว่า 4.บูรณการกองทุนสุขภาพ 3 กองทุน คือ กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกองทุนประกันสังคม ให้ระบบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคพื้นฐานอยู่มาตรฐานเดียวกันและเข้าถึงสิทธิเท่าเทียมกัน และ 5.ค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นไปตามกลไกของสภาวะเศรษฐกิจ และเป็นค่าจ้างแรกเข้าให้มีโครงสร้างปรับค่าจ้างประจำตามประเภทกิจการ สาขาอาชีพ และทักษะฝีมือแรงงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image