‘บึงบางซื่อ’ ต้นแบบการพัฒนา วิถีประชารัฐ

บึงบางซื่อก่อนพัฒนา

บึงบางซื่อŽ เขตจตุจักร กรุงเทพ มหานคร เป็นหนึ่งในพื้นที่ โครงการสานพลังประชารัฐŽ ที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ตั้งเป้าร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ยกระดับชีวิตของประชาชนที่เคยอยู่อย่างยากลำบาก และด้อยโอกาสในสังคม มีปัญหาทั้งในเรื่องสุขอนามัย ความปลอดภัย เข้าไม่ถึงระบบบริการของภาครัฐ ให้มีโอกาสในสังคม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

บึงบางซื่อ

พื้นที่บึงบางซื่อตั้งอยู่บนเนื้อที่ 61 ไร่ เมื่อ 100 ปีก่อน เคยเป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิตปูนซีเมนต์ของโรงงานปูนซีเมนต์บางซื่อ เอสซีจี ในสมัยนั้นเป็นพื้นที่ห่างไกลจากใจกลางเมืองค่อนข้างมาก เอสซีจีจึงได้จัดสร้างบ้านพักให้กับคนงานและครอบครัวในบริเวณโดยรอบ กระทั่งเมื่อหยุดการใช้งานในปี 2511 พื้นที่ดังกล่าวถูกปรับให้เป็นบึงน้ำสาธารณะ จากนั้นมีประชาชนทยอยมาสร้างที่พักอาศัยเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ประกอบด้วย 5 ชุมชน รวมประมาณ 250 หลังคาเรือน ประชากรราว 1,300 คน ซึ่งปัจจุบันมีสภาพความเป็นอยู่แออัด ไม่สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อาทิ น้ำประปา ไฟฟ้า การจัดการขยะ ถนนเข้า-ออก และเกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จากสภาพปัญหานี้เอง ทั้งกรุงเทพมหานคร (กทม.) เอสซีจี สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. การรถไฟแห่งประเทศไทย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กรมธนารักษ์ และประชาชนในชุมชน จึงร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ และเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ไปเป็นประธานเปิดโครงการด้วยตนเอง

Advertisement
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส

‘รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส’ กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี เล่าว่า ปัจจุบันบึงบางซื่อกลายเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ใจกลางเมืองที่สามารถพัฒนาเป็นแก้มลิง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และยังเป็นปอด เป็นแหล่งพักผ่อนของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง เอสซีจีจึงได้มอบที่ดินบริเวณนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม โดยเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2559 เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนบึงบางซื่อเป็นหัวใจสำคัญ

‘สำหรับแผนพัฒนาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชน และการพัฒนาบึงน้ำสาธารณะ โดยจะก่อสร้างที่พักอาศัยทั้งสิ้น 197 ยูนิต แบ่งเป็น ทาวน์เฮาส์ 60 ยูนิต อาคารชุดพักอาศัย 4 ชั้น 3 อาคาร 133 ยูนิต และบ้านกลางสำหรับผู้สูงอายุ ที่ไม่มีผู้ดูแลและไม่มีรายได้อีก 4 ยูนิต โดยจัดพื้นที่ส่วนกลางสำหรับกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งวางระบบสาธารณูปโภคส่วนกลาง คาดว่าในส่วนของที่พักอาศัยจะแล้วเสร็จในปี 2563 จากนั้นจึงจะพัฒนาบึงน้ำสาธารณะเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป ซึ่งคาดว่าทั้งหมดนี้จะใช้เม็ดเงินลงทุนราว 600 ล้านบาทŽ’ รุ่งโรจน์กล่าว

Advertisement

‘พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง’ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ในความร่วมมือนี้ พอช.จะสนับสนุนสินเชื่อเพื่อให้ชาวชุมชนมีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของบ้าน สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สนับสนุนงบประมาณดำเนินงาน 200 ล้านบาท ช่วยเติมเต็มให้ชุมชนได้บ้านที่เสร็จสมบูรณ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย อนุญาตให้เช่าใช้ที่ดินเป็นทางเข้า-ออก สำนักงานเขตจตุจักร กทม.อนุญาตการก่อสร้างในพื้นที่ และแสดงเจตนารมณ์ร่วมพัฒนาบึงน้ำสวนสาธารณะ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สร้างการมีส่วนร่วมและความเข้มแข็งให้กับชุมชน ธนาคารเพื่อการเกษตรฯสนับสนุนการปรับปรุงสะพานปากทางถนนเข้า-ออก ส่วนกรมธนารักษ์ดูแลที่ดินที่เอสซีจีมอบให้ใช้ประโยชน์

ณิชกรานต์ ผกานนท์
ชุมชนร่วมออกแบบ

‘ณิชกรานต์ ผกานนท์’ ที่ปรึกษาสหกรณ์เคหะสถานบ่อฝรั่งริมน้ำพัฒนา จำกัด บอกว่าดีใจที่หน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ ทั้งพัฒนาพื้นที่ ทำให้มีบ้าน มีทะเบียนบ้าน มีน้ำ มีไฟฟ้า มีถนนมีทางเข้า-ออกบ้าน รับฟังความคิดเห็นและความต้องการของชาวบ้านในชุมชน

มานะ เพ็งคาสุคันโธ
ฝึกการออม

ขณะที่ ‘มานะ เพ็งคาสุคันโธ’ กรรมการกลุ่มออมทรัพย์ริมน้ำมั่นคง กล่าวว่า นับตั้งแต่ชุมชนได้รับความช่วยเหลือ นอกจากได้เข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานแล้ว ยังทำให้หลายคนมีรายได้ มีเงินออม ที่สำคัญได้เห็นความสมัครสมานสามัคคีของชาวชุมชน

เพาะเห็ดสร้างรายได้
แบบบ้านตัวอย่าง

บึงบางซื่อ จึงนับเป็นต้นแบบการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน 4 ด้าน คือ ต้นแบบโครงการสานพลังประชารัฐ ที่ขับเคลื่อนโดยพลังประชารัฐอย่างแท้จริง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน ต้นแบบที่อยู่อาศัยชุมชนเมือง ที่คำนึงถึงการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าจากที่ดินใจกลางเมืองที่มีราคาสูง ออกแบบให้เหมาะกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนต้นแบบการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัย ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบตามวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองในทุกขั้นตอน และต้นแบบบึงน้ำสวนสาธารณะ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นบึงน้ำ สามารถพัฒนาเป็นแก้มลิงกักเก็บน้ำของกรุงเทพฯ ช่วยในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม อีกทั้งมีความร่มรื่น สวยงาม เหมาะเป็นสถานที่ออกกำลังกาย และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image