‘กทม.’จ่อปรับภูมิทัศน์ชุมชนป้อมมหากาฬเป็นสวนสาธารณะ จัดงบ69ล้านบูรณะป้อม-กำแพง

เมื่อเวลา 15.30 น. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัดกทม. และคณะผู้บริหารกทม.ที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ตรวจความเรียบร้อยแนวทางการพัฒนาพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬ เขตพระนคร ก่อนเข้าปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ให้เป็นสวนสาธารณะ โดยพล.ต.อ.อัศวิน เดินสำรวจบริเวณโดยรอบป้อมมหากาฬและริมคลองโอ่งอ่าง แต่ไม่ได้เข้าพื้นที่ภายในชุมชนป้อมมหากาฬเพื่อตรวจดูชาวบ้านขณะรื้อถอนบ้านเรือนแต่อย่างใด

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ภายหลังกทม.และชุมชนได้ร่วมหารือและพบปะพูดคุยเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี กทม.ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องชุมชนที่อาศัยในพื้นที่ป้อมมหากาฬเป็นอย่างดี จนในท้ายที่สุดชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในป้อมมหากาฬเข้าใจเจตนารมณ์ของกทม.ที่ต้องการอนุรักษ์ป้อมมหากาฬ ซึ่งเป็นป้อมปราการของนครหลวงของกทม.ภายหลังได้ย้ายมาจากกรุงธนบุรี สร้างขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 1 ในปี 2326 เป็น 1 ใน 4 ป้อมที่โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อป้องกันรักษาพระนครในการป้องกันข้าศึกศัตรูบริเวณคูเมืองชั้นนอก ส่วนใหญ่ชำรุดทรุดโทรมไปเกือบทั้งหมดเหลือเพียงป้อมพระสุเมรุ บริเวณถนนพระอาทิตย์ และป้อมมหากาฬ บริเวณเขตพระนคร ขนาดพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ สำหรับความคืบหน้าในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ปัจจุบันเหลือบ้านที่อยู่ระหว่างรื้อถอน จำนวน 5 หลัง โดยในวันที่ 29 เมษายนชาวบ้านจะรื้อถอนบ้านเรือนออกจากพื้นที่ทั้งหมด จากนั้นกทม.จะเข้าพื้นที่เพื่อตัดแต่งต้นไม้ ขุดหน้าดินเพื่อปรับพื้นที่ และทำความสะอาดทั้งหมด เพื่อปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะชั่วคราวเช่นเดียวกับพื้นที่ทิศใต้ที่กทม.ได้ปรับภูมิทัศน์ไปแล้ว โดยเฉพาะต้นไม้กทม.ไม่มีนโยบายตัด แต่จะตัดแต่งเพื่อให้สวยงามเท่านั้น นอกจากนี้ กทม.จะดำเนินการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างในเวลากลางคืนและตามแนวกำแพงป้อมมหากาฬ รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่รักษาความเรียบร้อยคอยตรวจตราพื้นที่และอำนวยความสะดวกประชาชน รวมถึงป้องกันคนเร่ร่อนเข้ามาแอบหลับนอนภายใน โดยประชาชนไม่ต้องกลัวว่าจะมืดหรืออันตรายอย่างแน่นอน

Advertisement

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวต่อว่า ภายหลังกทม.ปรับภูมิทัศน์แล้ว ประชาชนสามารถเข้ามาเดินเล่น ออกกำลังกาย เที่ยวชมโบราณสถานได้ โดยตามแนวริมคลองโอ่งอ่างทางเดิน กทม.จะขยายทางเท้าให้เป็น 2 เมตร รวมถึงจัดทำราวกันตก โดยสำนักการระบายน้ำได้ออกแบบเรียบร้อยแล้ว จากนั้นกทม.จะดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นระยะๆ จนแล้วเสร็จ โดยสำนักสิ่งแวดล้อมจะเข้ามาดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม สำนักการโยธาจะเข้ามาดำเนินการติดตั้งเสาไฟฟ้า รวมถึงให้สำนักผังเมืองดำเนินการปรับปรุงตัวป้อมมหากาฬและกำแพง ซึ่งปัจจุบันพบส่วนหลังคาของป้อมและทางเท้าเกิดชำรุดเสียหาย โดยจะประสานกรมศิลปากรในการดำเนินการในทุกขั้นตอน เนื่องจากถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โดยกทม.ไม่สามารถดำเนินการโดยพลการ ทั้งนี้ กทม.ยังได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 69 ล้านบาท เพื่อดำเนินการปรับปรุงป้อมมหากาฬและกำแพงเมืองเก่าด้วย

Advertisement

“ส่วนแนวคิดในการอนุรักษ์บ้านโบราณนั้น เนื่องจากบ้านเป็นสิทธิของเจ้าของบ้าน เจ้าของบ้านได้แจ้งความประสงค์ขอรื้อถอนออกทั้งหมด ซึ่งกทม.ได้ช่วยทำการขนย้ายไปยังพื้นที่ของเจ้าของบ้าน ประสานหาที่อยู่อาศัยใหม่ ส่วนบ้านอนุรักษ์นั้น เดิมกทม.กำหนดให้อนุรักษ์บ้านโบราณไว้ 3-4 หลัง ยกตัวอย่าง บ้านหลอมทอง แต่ชาวบ้านแจ้งความประสงค์ขอรื้อถอน เพื่อนำไม้ที่ได้จากการรื้อถอนไปยังพื้นที่ของตนเอง อย่างไรก็ตาม แม้เป็นพื้นที่เป็นสิทธิของกรุงเทพมหานคร แต่บ้านเป็นสิทธิส่วนบุคคล” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวและว่า ทั้งนี้ ภายในป้อมมหากาฬจึงไม่มีสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด คาดช่วงกลางเดือนพฤษภาคม กทม.จะปรับปรุงสวนสาธารณะชั่วคราวแล้วเสร็จ โดยประชาชนสามารถเดินทางมายังสวนสาธารณะได้และจะมีการจัดสร้างห้องน้ำไว้ภายในไว้บริการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี ส่วนการกำหนดเวลาเปิด-ปิดสวนสาธารณะนั้น สำนักงานเขตพระนครจะร่วมหารืออีกครั้ง

เมื่อถามว่าจะมีการอนุรักษ์อาคารเก่าแก่ใกล้เคียงกับป้อมมหากาฬหรือไม่ พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ส่วนอาคารโบราณเก่าแก่ เป็นอาคารชั้นเดียวหรืออาคารพระยาญาณประกาศ กทม.ไม่มีกำหนดรื้อถอน โดยกทม.จะอนุรักษ์ไว้ควบคู่กับโบราณสถาน โดยจะเข้ามาดำเนินการทาสี ปรับปรุงอาคารภายใน ฝากั้นห้อง ซ่อมแซมหลังคาที่ผุผัง โดยกทม.อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อปรับปรุงอาคารให้เป็นพื้นที่นั่งพักผ่อนหรือศูนย์เรียนรู้บอกเล่าเรื่องราวของป้อมมหากาฬ

“อุปสรรคในการรื้อสิ่งปลูกสร้างช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือ ช่วงแรกกทม.ของการดำเนินการนั้น ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ เนื่องจากถูกปิดกั้นด้วยสังกะสีทั้งหมด ก่อนจะเข้าทำความเข้าใจกับชุมชนเรื่อยมา ช่วงแรกชุมชนไม่ได้ยินยอมรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้าง แต่เมื่อมีการทำความเข้าใจระหว่างกัน ชี้แจงด้วยเหตุผล กระทั่งระยะหลัง ได้รับประสานจากกอ.รมน.กทม.ในการเป็นผู้เจรจา จนได้ข้อยุติ และชาวบ้านยินยอมรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

 

ส่วนนายจักกพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการปรับปรุงสวนสาธารณะชั่วคราว กทม.จะดำเนินการปูหญ้า ตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ และล้อมต้นไม้เข้ามาปลูกในพื้นที่ประมาณ 30-40 ต้น จำพวกไม้หอมโบราณ อาทิ จำปี พิกุล จำปา รวงผึ้ง มะลิ ดอกแก้ว ดอกพุดพันธุ์ต่างๆ เป็นต้น ภายหลังสำนักการโยธาเข้ามาปรับหน้าดิน ใสพื้นปูนเรียบร้อยแล้ว ส่วนรูปแบบถาวรนั้น เนื่องจากพื้นที่เป็นของสำนักการโยธา ดังนั้น ในต้นเดือนพฤษภาคมจะทำการส่งมอบให้กับสำนักผังเมืองรับผิดชอบในออกแบบและปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยให้ตั้งคณะกรรมการประกอบด้วย 4 ฝ่าย คือ สำนักผังเมือง สำนักการโยธา สำนักการจราจรและขนส่งและสิ่งแวดล้อมเพื่อร่วมกันออกแบบ ขณะเดียวกันจะมอบหมายให้สำนักเขตพระนครรับผิดชอบดูแลเรื่องของความปลอดภัยและสะอาดเรียบร้อย ส่วนปัญหาเรื่องแมวจำนวน 30-40 ตัวที่อาศัยอยู่ภายในป้อมมหากาฬนั้น และยังไม่มีผู้นำไปรับเลี้ยงนั้น กทม.ยังไม่ทราบเรื่อง อย่างไรก็ตาม จะประสานสำนักอนามัยให้ลงพื้นที่ เพื่อนำไปดำเนินการขั้นตอนของสำนักอนามัย

“นอกจากนี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยังได้ส่งหนังสือมายังกทม.เพื่อเร่งรัดให้กทม.ดำเนินการใช้พื้นที่ให้ประโยชน์ เนื่องจากกทม.ได้จัดซื้อที่ดินเมื่อปี 2516 จำนวน ตามราคาท้องตลาด ก่อนขอเวรคืนพื้นที่คืนเมื่อปี 2535 ซึ่งเดิมในอดีตมีบ้านเรือนจำนวน 102 หลังคาเรือน ทั้งบุกรุกและไม่บุกรุก พร้อมจ่ายค่าเยียวยาและความเสียหาย โดยที่ผ่านมากทม.ได้ปฎิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดและคำสั่งอื่นอย่างเคร่งครัด พร้อมเขียนโครงการขณะนั้นให้เป็นสวนสาธารณะและอนุรักษ์โบราณสถานของชาติ” นายจักกพันธุ์ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image