วิจารณ์แซ่ด รัฐบาลไทยรับใบสั่งทหารพม่า ระงับเวทีเปิดตัวรายงานละเมิดสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยง

วันที่ 25 เมษายน มีรายงานว่า เวทีสัมนาและเปิดตัวรายงานกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสันติภาพ (Karen Peace Support Network) และศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จะจัดขึ้นในช่วงบ่ายของวันเดียวกันนี้มีอันต้องยกเลิกกระทันหันเนื่องจากมีคำสั่งห้ามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ ทำให้วิทยากรที่ได้รับเชิญมาร่วมงาน อาทิ นางสิโพรา เส่ง รองประธานสภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการ RCSD นางสาวเพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประเทศไทยและพม่า องค์กรแม่น้ำนานาชาติ รวมถึงชาวบ้านกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ ต่างเดินทางมาเก้อ

ทั้งนี้แรกทีเดียวเวทีสัมนาครั้งนี้ได้กำหนดจัดขึ้นที่ ห้องประชุมคณะสังคมศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อมาทางผู้จัดได้รับแจ้งจากทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่าไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ ทำให้ต้องเปลี่ยนสถานที่จัดงานเป็นสวนเจ็ดริน ถนนห้วยแก้ว แต่สุดท้ายได้มีการประกาศอีกครั้งหนึ่งเมื่อช่วงสายวันนี้ว่ายกเลิกกิจกรรมซึ่งเดิมกำหนดว่าจะเริ่มกิจกรรมในช่วง 13.00 น. เนื่องจากถูกสั่งห้ามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเมื่อผู้สื่อข่าวเดินทางไปสังเกตการณ์ที่สวนเจ็ดริน พบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบหลายนายนั่งเฝ้าสังเกตผู้ที่เดินทางไปร่วมงาน

ข่าวแจ้งว่า สาเหตุของการสั่งห้ามจัดเวทีสัมนาครั้งนี้เนื่องจาก ก่อนหน้านี้รัฐบาลพม่าได้ประสานมายังหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยเพื่อขอให้ระงับการจัดงาน เพราะอาจส่งผลต่อภาพพจน์ของรัฐบาลพม่าและกระบวนการสันติภาพ ทำให้หน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยต้องสั่งการมายังผู้บริหาร มช.เพื่อขอไม่ให้ใช้สถานที่ ต่อมาเมื่อคณะผู้จัดงานเตรียมย้ายออกไปจัดงานที่สวนเจ็ดริน ได้มีการสั่งการไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เพื่อขอให้ระงับการจัดงานครั้งนี้

สำหรับรายงานที่เตรียมนำมาเปิดตัวในเวทีครั้งนี้ เป็นรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า ซึ่งจัดทำโดยเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสันติภาพ โดยมีชื่อเรื่องว่า “การเดินทางกลับพร้อมฝันร้าย ความหวังของชาวกะเหรี่ยงต่อสันติภาพและเสถียรภาพ ภินท์พังเพราะปฏิบัติการของกองทัพพม่า” ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2561 เป็นต้นมา กองทัพพม่าเริ่มการตรึงกำลังทหารครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่ปี 2551 ในเขต มูตรอ (ผาปูน) รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามชายแดนไทยด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งปัจจุบันมีทหารพม่ากว่า1,500 ราย ซึ่งเป็นพื้นที่ยึดครองของ KNU ถือเป็นการละเมิดข้อตกลงหยุดยิงระดับประเทศ เป็นเหตุให้มีการปะทะกับกองพลน้อยที่ 5 ของกองทัพ KNU หลายครั้ง โดยทหารพม่าได้โจมตีอย่างไม่เลือกเป้าหมายต่อพลเรือน ส่งผลให้ชาวบ้านกว่า 2,400 คน ต้องหนีภัยสงคราม ทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนมาอาศัยอยู่ในป่า

Advertisement

ในรายงานระบุด้วยว่า KNU และกองทัพพม่าต่างลงนามในความตกลงหยุดยิงเมื่อปี2558 ซึ่งห้ามการขยายโครงสร้างพื้นฐานทางการทหาร และห้ามการเสริมกำลังทหาร ในพื้นที่หยุดยิง แต่กองทัพพม่าอย่างน้อย 8 กองพัน ได้เคลื่อนกำลังพลเข้าสู่พื้นที่หลู่ซอ โดยไม่มีการทำข้อตกลงล่วงหน้า และเริ่มก่อสร้างถนนยุทธศาสตร์ทางทหาร ที่เหล่อมูพอ และเคพู หากถนนนี้สร้างเสร็จ อาจส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่อย่างถาวร

“ชาวบ้านกว่า 2,400 คนรวมทั้งผู้สูงวัย ผู้หญิงและเด็ก ได้หลบหนีจากถิ่นฐานบ้านเรือนพากันไปหลบซ่อนในป่าเขา คาดว่ามีชาวบ้านอีก 500 คนเตรียมจะหลบหนีจากหมู่บ้านของตน ระหว่างที่ทหารพม่าพยายามเสริมกำลังในทางตะวันตกเฉียงเหนือของพ้นที่ลูทอ คนเหล่านี้แทบไม่ได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้า พวกเขาสามารถนำข้าวของติดมือไปได้เพียงเล็กน้อย ต้องอยู่ในป่าอย่างเหน็บหนาว โรงเรียน 5 แห่งต้องปิดตัวลงเนื่องจากการสู้รบ”ในรายงานระบุ

Advertisement

ในช่วงท้ายของรายงานได้ระบุข้อเสนอแนะว่า 1.กองทัพพม่าต้องปฎิบัติตามจรรยาบรรณของทหารที่กำหนดไว้ในความตกลงหยุดยิงระดับประเทศและให้ถอนกำลังทหารทั้งหดที่เข้าสู้พื้นที่ควบคุมของ KNU 2.ควรให้ฝ่ายที่สามที่ไม่ใช่กองทัพพม่า KNU และรัฐบาลพม่า เข้ามาทำหน้าที่สอบสวนเพื่อคลี่คลายความตรึงเครียด 3.กองทัพพม่าต้องยุติการดำเนินงานเพื่อก่อสร้งถนนใดๆในพื้นที่ควบคุม 4.ก่อนมีกระบวนการสันติภาพจะมั่นคงและการเมืองที่แน่นอน กระบวนการตัดสินใจต่างๆควรให้ KNU เข้าไปมีส่วนร่วม 5.ผู้นำ KNU และกองทัพพม่าต้องให้ความสำคัญกับการถอนกำลังทหารจากที่ดินของชาวบ้าน 6.รัฐบาลพม่าและองค์กรเอกชนในทุกระดับต้องเคารพและยอรับโครงสร้างการปกครอง และการบริหารของชุมชนกะเหรี่ยง 7.หน่วยงานระหว่างประเทศ ควรส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นในประเทศ

นางสาวเพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประเทศไทยและพม่า องค์กรแม่น้ำนานาชาติ 1 ในวิทยากรที่ได้รับเชิญไปร่วมงานในครั้งนี้ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่การจัดกิจกรรมครั้งนี้ถูกระงับ เพราะประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญแก่รายงานชิ้นนี้ เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในดินแดนที่ติดกับประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณชายแดนฝั่งตะวันตก ซึ่งจะต้องส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ผ่านมามีประชาชนจากรัฐกะเหรี่ยงต้องหนีภัยสงครามมายังชายแดนไทยจำนวนนับแสนคน และยังมีผู้พลัดถิ่นระลอกใหม่ ซึ่งยังไม่มีวี่แววว่าจะได้คืนสู่บ้านเดิม

“ดิฉันไม่แน่ใจว่าเหตุผลลึกๆ ในการสั่งห้ามหรือยกเลิกจัดกิจกรรมในครั้งนี้คืออะไร แต่สิ่งที่ไม่อยากเห็นคือกระบวนการสิทธิมนุษยชนของเราไม่ควรถูกบั่นทอนลงไปอีก เพราะทุกวันนี้ เราก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมโลกอยู่พอสมควรแล้ว เห็นได้จากรายงานของสหประชาชาติฉบับล่าสุด” นางสาวเพียรพร กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image