‘นากใหญ่ขนเรียบ’ บุกรอยต่อกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ กินปลา รุกพื้นที่เกษตรทำเสียหายหนัก

เมื่อวันที่ 29 เมษายน นายพลเฉลิม ศรมณี ผู้อำนวยการเขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา สำนักงานเขตทุ่งครุได้จัดประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำแขวงทุ่งครุ ที่ห้องประชุม สำนักงานเขตทุ่งครุ ร่วมกับศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำแขวงท่าข้าม แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน สำนักงานเกษตรรพื้นที่ 3 สภาเกษตรกรุงเทพมหานคร กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อประชุมพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหานากใหญ่ขนเรียบ ซึ่งมีชื่อสามัญว่า Smooth-coated Otter และชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Lutrogale perspicillata โดยนากใหญ่ขนเรียบถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ปัจจุบันมีการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วในพื้นที่ทุ่งครุ ทำให้มีจำนวนนากใหญ่ขนเรียบจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงเข้าบุกรุกพื้นที่ทำการเกษตรและกินสัตว์น้ำที่ชาวเกษตรกรในพื้นที่เพาะเลี้ยงไว้ สร้างความเดือดร้อนและความเสียหายจำนวนมาก

นางวาสนา บูรณกิตติโสภณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตทุ่งครุ ในฐานะประธานการประชุมเพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหานากใหญ่ขนเรียบ กล่าวว่า เนื่องจากนากใหญ่ขนเรียบมีข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหา เพราะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ดังนั้น การกำจัดหรือทำลายไม่สามารถทำได้ โดยที่ผ่านมา สำนักงานทุ่งครุได้ประสานไปยังกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในการช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วม 2 ปีแล้ว แต่ไม่ได้ผล โดยได้ร่วมกันการทำแร้วหรือกับดักสัตว์ เพื่อไม่จำกัดบริเวณนากใหญ่ขนเรียบไม่ให้เข้าไปบุกรุกพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน แต่พบนากค่อนข้างฉลาดประกอบมีขนาดตัวใหญ่มาก ทำให้รู้วิธีเอาตัวรอดจากแร้วและออกจากพื้นที่ไปกินปลาหรือสัตว์น้ำของชาวบ้านที่เพาะเลี้ยงไว้ จากการบอกเล่าของของเกษตรกร ตอนแรกต่างไม่ทราบว่าปลาในกระชังของชาวบ้านถูกนากใหญ่ขนเรียบจับกิน แต่เมื่อตรวจสอบจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) ที่ติดตั้งไว้พบครอบครัวนากเข้ามากัดกินปลาในกระชังเกือบหมดบ่อ ทำให้ชาวบ้านได้รับความเสียหายอย่างหนัก เพราะบางครั้งนากก็จับปลากินเล่น แบบกินทิ้งกินขว้าง กินแต่หัวปลาบ้าง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีแนวทางแก้ไขในระยะยาว ทำให้เมื่อปีที่แล้ว ผู้อำนวยการเขตทุ่งครุถึงขึ้นต้องควักกระเป๋าส่วนตัวในการจัดทำเครื่องดักสัตว์ไม่ให้นากเข้าไปบุกรุกพื้นที่การเกษตรและกระชังปลาของเกษตรกร เนื่องจากทางกรมอุทบานแห่งชาติฯ ได้แจ้งว่าไม่มีงบประมาณในการดำเนินการส่วนดังกล่าว

นางวาสนา กล่าวอีกว่า สำหรับนากใหญ่ขนเรียบนั้น เดิมนักวิชาการเกษตรคาดเข้ามาอาศัยในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2557 แต่เมื่อร่วมพูดคุยกับเกษตรกรในพื้นที่อย่างจริงจัง กลับพบว่านากอาศัยในพื้นที่มานานแล้ว เมื่อก่อนมีจำนวนมากไม่มากนัก เดิมธรรมชาติมีความสมบูรณ์ มีสัตว์น้ำในแหล่งน้ำสำหรับเป็นอาหารของนากจำนวนมาก ทำให้นากไม่เข้ามาบุกรุกพื้นที่เกษตรของชาวบ้านหรือเข้ามาวุ่นวายกับคน แต่ปัจจุบันในพื้นที่ทุ่งครุต้องยอมรับว่ามีการขยายพื้นที่เขตเมือง เริ่มมีการก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรรจำนวนมาก บุกรุกพื้นที่ธรรมชาติเดิมที่มีอยู่ ทั้งแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยและสัตว์น้ำ อาหารของนากจึงน้อยลง ทำให้นากที่ขยายพันธุ์จำนวนมาก เริ่มออกหากินและบุกรุกพื้นที่ของชาวบ้าน บ้างได้รับร้องเรียนว่ากินปลาจนหมดบ่อและเกือบหมดกระชังที่ชาวบ้านเพาะเลี้ยงไว้ โดยธรรมชาติมักจะออกหากินช่วงกลางคืน ส่วนช่วงกลางวันจะพบน้อยมาก อย่างไรก็ตาม แม้นากจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน แต่จำนวนนากที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของธรรมชาติได้เช่นกัน

“เบื้องต้นจึงได้ประสานกลุ่มพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ให้ร่วมกันสำรวจข้อมูล อาทิ จำนวนของนาก ชนิดปลาที่เสียหาย มูลค่าเสียหายทางเศรษฐกิจ เพราะจากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติฯ นากจะออกหากินแบบเสือ คือ ครอบครัวของนากแต่ละครอบครัวจะมีพื้นที่ครอบครองหรืออาณาเขตในการออกหากินเป็นของตัวเอง โดยครอบครัวอื่นจะไม่มายุ่ง ปัจจุบันนากอาศัยอยู่บริเวณรอยต่อ 3 พื้นที่ ได้แก่ ทุ่งครุ บางขุนเทียน และ อ.พระประแดง โดยส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่รกร้าง พื้นที่นายทุนที่ซื้อไว้แต่ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ เดิมมีการเรียกร้องจากชาวบ้านให้ถางป่าไม่ให้รกร้าง แต่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ขอความร่วมมือไม่ให้ทำลายพื้นที่อาศัยของนาก เพื่อป้องกันการเสี่ยงสูญพันธุ์และให้ชะลอการดำเนินการไว้จนกว่าจะมีแนวทางแก้ไขระยะยาวร่วมกัน ขณะเดียวกัน เกษตรกรบางส่วนก็มีการล้อมรั้วกันนากบริเวณกระชังปลาเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนแนวทางระยะยาว กรมอุทยานแห่งชาติฯ จะขอเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ ขณะนี้ จากข้อมูลของนักวิชาการเกษตรคาดมีประชากรนากในพื้นที่ทุ่งครุราว 200 ตัว ยังไม่รวมกับประชากรนากในพื้นที่บางขุนเทียนและพระประแดงที่ยังไม่มีข้อมูลสำรวจ” นางวาสนา กล่าวและว่า เนื่องจากนากค่อนข้างฉลาดและดุเพราะป้องกันตัวเองตามสัญชาตญาณ โดยเขตมีความกังวลว่าจะมีการกระทำรุนแรง จึงขอความร่วมมือชาวบ้าน เกษตรกรหรือประชาชน ไม่ให้ทำร้ายนากเด็ดขาด เพราะถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองสำคัญของไทยที่ใกล้สูญพันธุ์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image