กทม.สั่งเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ‘ป้าย-ต้นไม้’ โค่นล้มจากพายุฝนฟ้าคะนอง

เมื่อวันที่ 29 เมษายน นายวันชัย ถนอมศักดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงมาตรการเฝ้าระวังป้ายโฆษณา และต้นไม้โค่นล้มในช่วงเกิดพายบุฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ ว่า กทม.ได้ออกหนังสือด่วนที่สุด (ว.8) ไปยัง 50 สำนักงานเขต เตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล อาทิ ให้ตรวจสอบป้ายโฆษณาในความรับผิดชอบของ กทม. โครงการก่อสร้างและสำรวจต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อป้องกันอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อย่างไรก็ตาม สำหรับต้นไม้ใหญ่ ก่อนเกิดเหตุฝนตกหนัก ทุกสำนักงานเขตของ กทม.ก็ได้เร่งตัดแต่งกิ่งไม้และตรวจสอบความแข็งแรงทันที จึงพบว่าเหตุฝนตกหนักและลมกระโชกแรงครั้งนี้ ไม่ปรากฎกระแสข่าวต้นไม้โค่นล้มใส่รถยนต์หรือบ้านเรือนของประชาชนได้รับความเสียหายหรือบาดเจ็บแต่อย่างใด

นายวันชัย กล่าวว่า สำหรับป้ายโฆษณาในความรับผิดชอบของ กทม. สำนักเทศกิจ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมกันตรวจสอบความแข็งแรงต่อเนื่อง พร้อมให้ประสานป้ายโฆษณาของผู้ประกอบการหรือภาคเอกชน ให้ตรวจสอบความมั่นคงและแข็งแรงอยู่เสมอ หากพบความเสียหายหรือชำรุดให้ดำเนินการซ่อมแซมทันที ส่วนศาลาที่พักผู้โดยสารบริเวณหน้า ปตท.ถล่มลงมาจากการตรวจสอบบื้องต้นทราบมีลักษณะทึบ ข้างหลังถูกออกแบบให้ติดตั้งป้ายโฆษณาเพื่อประชาสัมพันธ์และแจ้งข้อมูล ทำให้เมื่อเกิดลมกระโชกแรงและรับปริมาณน้ำฝนมาก ทำให้ศาลาที่พักผู้โดยสารที่มีลักษณะเหมือนร่มหงายจึงต้านลมจนถล่มในที่สุด ขณะที่ปกติศาลาที่พักผู้โดยสารของกทม.ส่วนใหญ่ จะมีลักษณะโปร่ง และไม่ได้ต้านแรงลม

นายวันชัย กล่าวอีกว่า ข้อแนะนำศาลาที่พักผู้โดยสาร อยากให้ประชาชนสังเกตถึงความแข็งแรงและความมั่นคง อาทิ โครงสร้างมีส่วนชำรุดหรือเสียหายหรือไม่ หากพบป้ายมีความเสี่ยงประชาชนสามารถแจ้งมายังสายด่วน กทม. 1555 ได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ และหากไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม.จะเร่งประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบต่อไป

วันเดียวกัน ทางด้านนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. และคณะลงพื้นที่ตรวจสอบระบบระบายน้ำ บริเวณถนนเสรีไทย ซอยเสรีไทย 5 ซอยเสรีไทย 7 ประตูระบายน้ำบึงลำพังพวย ตอนเคหะคลองจั่น และสถานีสูบน้ำบึงลำพังพวย เขตบางกะปิ

Advertisement

นายจักกพันธุ์ ให้สัมภาษณ์ว่า จากการพยากรณ์สภาพอากาศของกรมอุตุฯ พบความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้เกิดพายุฤดูร้อน โดยเมื่อวันที่ 28 เมษายน มีฝนตกลงปริมาณมากถึง 83 มิลลิเมตร (มม.) ทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง 12 จุด สำนักการระบายน้ำได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นผิวจราจรจนแห้งเป็นปกติแล้ว

“อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดฝนตกลงมาอีก ปริมาณฝนสูงสุดที่วัดได้ 78 มม. และเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ รวม 4 จุด ได้แก่ 1.ถนนบางขุนเทียนชายทะเล ซอยเทียนทะเล 16 เขตบางขุนเทียน 2.ถนนเอกชัย หน้าบริษัทกระทิงแดง เขตบางบอน 3.ถนนสาธุประดิษฐ์ หน้าโรงเรียนยานนาเวศ-ซอย 4 และ 4.ถนนสวนพลู หน้าสถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ-สวนพลู 6 เขตสาทร ปัจจุบันได้รับรายงานน้ำแห้งเป็นปกติทุกจุดแล้ว โดยสาเหตุน้ำท่วมบริเวณถนนสวนพลู เนื่องจากกทม.อยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม หรือไปป์แจ็คกิ้ง บริเวณถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 17 และถนนสวนพลู เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำในถนนสวนพลูและพื้นที่ใกล้เคียง” นายจักกพันธุ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image