วาฟชี้ ยังไม่เข้าหน้าฝน แต่ตกหนักเพราะลมอ่าวไทยปะทะความกดอากาศสูง ยาวไปถึง 5 พ.ค.

วันที่ 30 เมษายน แบบจำลองสภาพอากาศ(วาฟ-รอม) ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) แจ้งว่า แม้ช่วงเวลาปลายเดือนเมษายน จนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทยยังมีฝนตกหนักถึงหนักมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝน อย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะขณะนี้ ยังไม่มีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดเข้าปกคลุมประเทศไทยแต่อย่างใด ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ฝนตกหนัก ถึงหนักมาก หลายพื้นที่ ที่ผ่านมานั้นเกิดจากพายุฤดูร้อน ที่มาจากความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่แผ่ลงมา ประกอบกับ มีลมใต้ กับลมตะวันออกเฉียงใต้กำลังแรง ที่พัดความชื้นมาจากอ่าวไทยเข้ามา

“หลังจากวันนี้ไปอีก 2-3 วัน ก็จะยังคงมีฝนตก ถึงตกหนักในหลายพื้นที่ เพราะความชื้นจากอ่าวไทยถูกพัดขึ้นไปถึงภาคเหนือ โดยที่พื้นที่ภาคเหนือเองก็ยังคงได้รับอิทธิพลจากกระแสลมตะวันตก ในระดับลมชั้นบนพัดปกคลุมอยู่ ดังนั้น ความชื้นที่ถูกพัดจากอ่าวไทยเข้ามาสมทบนั้นก็จะถูกเหนี่ยวนำให้ยกตัวขึ้น ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตก”วาฟระบุ

แบบจำลองสภาพอากาศ ระบุด้วยว่า ส่วนพื้นที่ภาคใต้ ที่มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ช่วง 1-2 วันที่ผ่านมานั้น เป็นเพราะอิทธิพลการก่อตัวของหย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลอันดามัน ทำให้ความชื้นจากทะเลอันดามันพัดเข้ามาปะทะกับลมตะวันออกเฉียงใต้ ที่พัดมาจากอ่าวไทย ทำให้เกิดฝนตกหนัก ถึงหนักมาก ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ไปจนถึงวันที่ 1 พฤษภาคม ปริมาณฝนจะเบาบางลง แต่ วันที่ 3-5 พฤษภาคม ความกดอากาศสูงระลอกใหม่ แต่กำลังไม่แรงนัก ก็จะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนอีกครั้ง ประกอบกับมีลมใต้ และลมตะวันออกเฉียงใต้ พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยเข้ามา จะทำให้ประเทศไทยตอนบนเกิดพายุฤดูร้อน ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนอีกรอบ

“ส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 30 เมษายน ถึง วันที่ 2 พฤษภาคม ตลอดช่วงบ่ายถึงค่ำ ก็จะมีฝนตกหนัก เช่นกัน จากลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ จะสังเกตุได้ว่า ช่วงนี้ทิศทางฝนจะพัดขึ้นมาจากอ่าวไทยเข้าสู่สมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร โดยจะเบาบางในวันที่ 3 พฤษภาคม แต่ก็ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม “วาฟระบุ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image