‘ศิริราช’ แถลงสำเร็จปลูกถ่าย3อวัยวะ ‘หัวใจ ตับ ไต’ ในผู้ป่วยรายเดียว คนที่ 15 ของโลก (คลิป)

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 2 พฤษภาคม ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานแถลงข่าว “ศิริราชปลูกถ่าย 3 อวัยวะ หัวใจ-ตับ-ไต สำเร็จในผู้ป่วยรายเดียว…ครั้งแรกในเอเชีย” โดยมี รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการ (ผอ.) โรงพยาบาลศิริราช รศ.นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร รอง ผอ.โรงพยาบาลศิริราช ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายตับและหัวหน้าทีมศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ รศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายหัวใจ รศ.นพ.ธวัชชัย ทวีมั่นคงทรัพย์ ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายไต และ พญ.ศรีสกุล จิรกาญจนากร อายุรแพทย์โรคหัวใจและปลูกถ่ายหัวใจ พร้อมด้วย นายรชานนท์ รุ่งสว่าง ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ และนางโสภา รุ่งสว่าง มารดา ร่วมแถลงข่าว ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

นพ.ประสิทธิ์แถลงว่า เพื่อให้ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศได้รับทราบถึงความก้าวหน้าด้านวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลสามารถปลูกถ่าย 3 อวัยวะ ให้แก่ผู้รับการรักษาเพียงคนเดียว และใช้เวลาในการปลูกถ่ายอวัยวะต่อเนื่องกัน สำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะในประเทศไทยได้เกิดขึ้นมานานแล้ว โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชได้เริ่มดำเนินการปลูกถ่ายอวัยวะครั้งแรก เมื่อปี 2516 โดยเริ่มจากการปลูกถ่ายอวัยวะไตและพัฒนาการอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับโรคภับไข้เจ็บที่รุนแรง อาทิหัวใจ ตับ ตับอ่อน ปอด ฯลฯ จนปัจจุบันได้ผ่าตัดปลูกถ่ายไตแล้ว 1,298 ราย ผ่าตัดปลูกถ่ายตับ ผ่าตัดปลูกถ่ายตับ 321 ราย และผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ 67 ราย รวม 1,692 ราย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีปลูกถ่ายอวัยวะมากที่สุดในประเทศไทย ขณะเดียวกัน การปลูกถ่ายอวัยวะถือเป็นการรักษามาตรฐานสำหรับผู้ป่วยที่มีอวัยวะทำงานล้มเหลว ส่วนใหญ่การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมักทำเพียง 1 อวัยวะ ให้แก่ผู้รับบริจาค 1 ราย แต่ผู้ป่วยบางกลุ่มจำเป็นต้องปลูกถ่ายมากกว่า 1 อวัยวะ เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติและมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชจึงเริ่มปลูกถ่าย 2 อวัยวะครั้งแรกเมื่อปี 2548 อาทิ ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวหรือภาวะตับวาย อาจมีภาวะไตวายร่วมด้วย และเมื่อปี 2552 เริ่มการปลูกถ่ายตับจากคนไข้ที่มีชีวิตสู่ผู้ป่วยอีกคน จนประสบความสำเร็จจนถึงปัจจุบันสามารถปลูกถ่าย ไต-ตับอ่อน 10 ราย ตับ-ไต 8 ราย หัวใจ-ปอด 5 ราย และหัวใจ-ไต 2 ราย รวม 25 ราย

“การเปลี่ยนอวัยวะแต่ละครั้ง ไม่ได้อาศัยเทคนิคทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่การเป็นทีม ความพร้อมก่อนผ่าตัด การเลือกผู้ให้และผู้รับบริจาคอวัยวะที่เหมาะสมกัน การดูแลหลังผ่าตัดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการติดตามผล จากการสะสมประสบการณ์และบทเรียนที่ได้รับการจากการปลูกถ่ายอวัยวะ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การปลูกถ่าย 2 อวัยวะ อาจทำให้ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งรอด แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยอีกกลุ่ม ทำให้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชมีความมั่นใจประกอบกับความพร้อมเทคโนโลยีและความรู้ที่ได้สะสมมาอย่างต่อเนื่องสู่การปลูกถ่ายหัวใจ ตับ และไต รวม 3 อวัยวะในผู้ป่วยคนเดียว” นพ.ประสิทธิ์​กล่าว

Advertisement

พญ.ศรีสกุล แถลงถึงอาการคนไข้ก่อนได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะว่า ผู้ป่วยมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นเพศชาย อายุ 26 ปี เป็นบุตรชายคนแรกจาก 2 คน อาศัยอยู่กับมารดาและเครือญาติของมารดาและจบการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่หลังเรียบจบไม่สามารถประกอบอาชีพได้เพราะความเจ็บป่วย โดยผู้ป่วยถูกวินิจฉัยเป็นโรคไตตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ซึ่งช่วงแรกโรคไตสามารถควบคุมได้ด้วยการรักษาด้วยยา สามารถเรียนหนังสือและใช้ชีวิตได้ตามปกติ กระทั่งไตทำงานแย่ลงตามลำดับ จนกระทั่งพบผู้ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ระหว่างศึกษาระดับอุดมศึกษา ขณะนั้นแพทย์ได้แนะนำให้รับการรักษาด้วยการฟอกเลือดมาโดยตลอด รวม 6 เดือน และในปี 2557 ผู้ป่วยเริ่มมีอาการเหนื่อยง่าย ขาบวม และได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะหัวใจล้มเหลวจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง โดยสาเหตุอาจเกี่ยวข้องกับโรคไตวายเรื้อรัง จากนั้นได้รับการรักษาด้วยยาตามาตรฐานและติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจ แต่สามารถควบคุมโรคได้เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น ระยะหลังผู้ป่วยเริ่มมีอาหารเหนื่อยง่ายมากขึ้น ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ เริ่มมีอาการขาบวมมากขึ้น และท้องโตจากการมีน้ำคั่งในช่องท้อง จำเป็นต้องเจาะระบายน้ำในช่่องท้องเป็นระยะทุก 2-4 สัปดาห์ ครั้งละ 2-4 ลิตร ทำให้ตับบวมน้ำเป็นระยะเวลายาวนาน และต่อมาตรวจพบผู้ป่วยมีภาวะตับแข็งจากโรคหัวใจล้มเหลว จึงได้รับการส่งตัวมารักษาต่อที่คลินิกหัวใจล้มเหลวที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2560 เพื่อให้ทีมแพทย์พิจารณาผ่าปลูกถ่าย 3 อวัยวะ กระทั่งเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560 ทางทีมแพทย์ได้พิจารณาว่าผู้ป่วยสมควรได้รับการปลูกถ่ายทั้ง 3 อวัยวะจริง

“การผ่าตัดยังไม่เคยทำก่อนในโรงพยาบาลศิริราชและประเทศไทย ตอนนั้นมีการประชุมวางแผนหลายครั้งถึงขั้นตอนก่อนผ่าตัด ระหว่างและหลังผ่าตัด เนื่องจากผู้ป่วยมีการเจ็บป่วยเรื้อรังมายาวนาน มีการเจาะช่องท้อง ซึ่งทำให้สูญเสียโปรตีนเป็นจำนวนมาก จึงต้องวางความพร้อมของผู้ป่วยในการผ่าตัดใหญ่” พญ.ศรีสกุลกล่าว

Advertisement

รศ.นพ.ยงยุทธ แถลงถึงการปลูกถ่ายอวัยวะว่า เนื่องจากผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดปลูกถ่าย หัวใจ ตับ และไต จากผู้บริจาครายเดียวเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2560 ดังนั้น การผ่าตัดดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือ การประสานงาน และความพร้อมของทีมผู้รักษาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในขณะผ่าตัด และการดูแลหลังผ่าตัด เนื่องจากเป็นการผ่าตัดใหญ่ จึงต้องมีการวางแผนขั้นตอนการผ่าตัดล่วงหน้าอย่างรอบคอบ และการประสานงานระหว่างทีมที่ดี ถือเป็นหัวใจของความสำเร็จ สำหรับการผ่าตัดใช้เวลานานถึง 12 ชั่วโมง 5 นาที โดยเริ่มจากจากการปลูกถ่ายหัวใจและตับ ซึ่งอยู่ใกล้กันทำให้มีระยะเวลาเพียงช่วงสั้นๆ ที่ต้องเย็บหัวใจและตับให้ต่อเนื่องกัน ส่วนไตเป็นอวัยวะสุดท้าย โดยได้ปลูกถ่ายไว้บริเวณอุ้งเชิงกรานด้านซ้าย โดยในระหว่างผ่าตัด ความดันโลหิตและสภาพร่างกายทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของทีมวิสัญญีแพทย์อย่างใกล้ชิด หลังเสร็จสิ้นการผ่าตัด ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาต่อในหอผู้ป่วยวิกฤตเพื่อพักฟื้น

รศ.นพ.ยงยุทธแถลงว่า พบว่าหลังผ่าตัดวันแรก อวัยวะที่ปลูกถ่ายเริ่มทำงานได้ในระดับที่ดี ไม่พบการต่อต้านของหัวใจใหม่จากการตรวจชิ้นเนื้อหัวใจ การตรวจด้วยอัลตราซาวด์ตับ พบว่าตับมีเลือดมาเลี้ยงได้ดี ตับเริ่มมีการทำงานและขจัดของเสียของร่างกายได้ดี จากผลเลือดที่ตรวจเป็นระยะๆ อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยผู้ป่วยได้รับการรักษาในโรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2560 จนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 รวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 83 วัน พบว่าผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านโดยปลอดภัย และอวัยวะที่ได้รับการปลูกถ่ายทั้งหมด มีการทำงานเป็นปกติดี

“การผ่าตัดปลูกถ่าย 3 ให้แก่ผู้ป่วยรายเดียว มีรายงานการผ่าตัดจากทั่วโลกน้อยมาก จากข้อมูล Organ Procurement and Transplantation Network พบว่าตั้งแต่ปี 2532 มีรายงานจำนวนการผ่าตัดเพียง 14 รายเท่านั้นในประเทศสหรัฐอเมริกาและสำหรับในทวีปเอเชีย รวมถึงในประเทศไทย ยังไม่เคยมีรายงานการผ่าตัดปลูกถ่าย หัวใจ ตับไต มาก่อน ดังนั้น การผ่าตัดครั้งนี้ จึงถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและทวีปเอเชีย” รศ.นพ.ยงยุทธกล่าว

รศ.นพ.ปรัญญา แถลงว่า อวัยวะแต่ละประเภทจะมีความทนทานต่อการนำมาจากร่างกายของผู้บริจาคต่างกัน โดยหัวใจต้องการให้หัวใจเต้นภายใน 4 ชั่วโมง หลังจากที่นำออกจากร่างกายของผู้บริจาคแล้ว ดังนั้น การวางแผนจะต้องให้หัวใจของผู้บริจาคมาถึงทีมแพทย์และสามารถปลูกถ่ายกับผู้ป่วยอีกคนได้ทันที จึงจำเป็นต้องเตรียมหัวใจ ไตและตับของผู้ป่วยให้พร้อมก่อนอวัยวะจะมาถึง เพราะบางอวัยวะใช้เวลาค่อนข้างนาน โดยเฉพาะบริเวณช่องท้องที่มีพังพืดมาก

ด้านนายรชานนท์ ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ แถลงว่า เมื่อก่อนใช้ชีวิตประจำวันอย่างยากลำบาก ขณะที่เดินก็มีอาการเหนื่อย ท้องโต และต้องเดินทางมาฟอกไตที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละ 3 ครั้ง แต่เมื่อได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะแล้ว ปัจจุบันใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติ สามารถเดินไปไหนมาได้อย่างปกติ ไม่ต้องเดินทางไปฟอกไตและสามารถช่วยงานบ้านแม่ โดยไม่เป็นภาระคนอื่นอีกต่อไป

“เดิมไม่มีความมั่นใจในตัวเองเพราะเป็นคนขี้โรค ไม่กล้าเจอผู้คน เพราะมักถูกมองด้วยสายตาเหมือนตัวเองเป็นตัวประหลาดเพราะท้องโต และเคยคิดฆ่าตัวตาย” นายรชานนท์กล่าว

ขณะที่นางโสภาแถลงว่า ขอบคุณทีมแพทย์ที่เกี่ยวข้องได้ทำการรักษาลูกชาย เมื่อก่อนลูกชายทุกข์ทรมานมาก แต่ตอนนี้สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ อยากฝากไปถึงผู้ป่วยโรคเดียวกันกับลูกชายให้เข้ามารักษาก่อนที่จะสายเกินไป แต่ทุกอย่างไม่สายเกินไปหากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และมีโอกาสหายป่วยจากโรคได้ ขอให้ผู้ป่วยอย่าท้อแท้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image