กระทรวงวิทย์ฯ ชู”ลิ่มทองโมเดล”แก้ปัญหาน้ำทั่วประเทศ ร่วม 800 กองทุนหมู่บ้าน

วันที่ 3 พฤษภาคม นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 – 8 พฤษภาคม นี้ ตนจะประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัญจร ที่ จ.บุรีรัมย์ และก่อนที่ประชุมจะเดินทางลงพื้นที่ ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ บ้านลิ่มทอง – บ้านโคกพลวง ต.หนองโบสถ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาน้ำและปัญหาความยากจน เพื่อดูปัญหาการบริหารจัดการน้ำโดยมีการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เข้าไปบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน จนสามารถทำให้บ้านลิ่มทอง – บ้านโคกพลวง ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาน้ำและปัญหาความยากจน ถือเป็นต้นแบบการบริหารจัดการน้ำแห่งหนึ่งของประเทศ สามารถเปลี่ยนสภาพชุมชนลิ่มทอง ที่เดิมเคยประสบปัญหาภัยแล้ง และ ขาดแคลนน้ำ ฝนตกน้ำท่วม ท่วมเลย เก็บน้ำไม่ได้ แล้งก็แล้งสนิท จนส่งผลกระทบต่อชีวิตของชาวบ้าน ขณะที่ความพยายามในการแก้ปัญหา มีการใช้ระบบไอที เข้ามาจัดการแก้ปัญหาความยากจน เช่น ทำระบบบัญชีครัวเรือน เป็นต้น แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนได้ข้อสรุปว่า ต้องมีการบริหารจัดการน้ำ ชาวบ้านจึงจะไม่ยากจน ต่อมาสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เริ่มเข้าไปสำรวจพื้นที่ พร้อมกับจัดทำแผนที่ ผังน้ำ และพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อให้เข้าใจในการแก้ปัญหาตรงกันและร่วมกันทำงาน เพราะมีพื้นที่บางส่วนชาวบ้านต้องเสียสละ เพื่อใช้เก็บกักน้ำหรือให้ทางน้ำผ่านได้ ไม่ใช้วิธีการเวนคืนที่ดิน แต่ให้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

รัฐมนตรีวท.กล่าวต่อว่า สสนก.ใช้เวลาแก้ปัญหา 2 ปี จบเกิดระบบบริหารจัดการน้ำ จากระยะแรก 3,700 ไร่ 15 ครัวเรือน ในปี 2550 ขยายไปเป็น 7,000 ไร่ 105 ครัวเรือนในปี 2552 ขยายไปเป็น 20,000 ไร่ 1,103 ครัวเรือนในปี 2553 จนถึงปัจจุบันขยายผลไปถึง 173,904 ไร่ มี 2,221 ครัวเรือนได้ประโยชน์จากระบบการบริหารจัดการน้ำ และการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ จนมีรายได้ต่อวันระหว่าง 300 – 500 บาท หรือเดือนละมากว่า 10,000 – 20,000 บาทโดยเฉลี่ย การแก้ปัญหาน้ำของชุมชนลิ่มทอง ได้รับรางวัลจากในหลวงรัชกาลที่ 9 และมีการนำไปขยายผลพูดในเวทีโลกและกลายเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นนำไปใช้กว่า 1 พันชุมชน ดังนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะนำความสำเร็จของชุมชนลิ่มทองหรือ “ลิ่มทองโมเดล” ไปดำเนินการร่วมกับกองทุนหมู่บ้าน ใน 800 พื้นที่ทั่วประเทศ โดยปัจจุบัน สสนก.ได้มีการลงนามความร่วมมือไปแล้ว และสามารถทำได้เลย โดยใช้เงินของกองทุนหมู่บ้าน คำว่า สามารถทำได้เลย เพราะ 1.กองทุนหมู่บ้าน มีการแบ่งเกรด 800 หมู่บ้านไว้เรียบร้อยแล้ว ว่าหมู่บ้านไหนเข้มแข็งตามเกรด A,B,C,D 2.คัดเลือกความพร้อมของหมู่บ้านในการต้องการแก้ปัญหาน้ำ 3.ใช้เครือข่ายชุมชนน้ำของ สสนก.ที่เข้มแข็งกว่า 60 แห่งชุมชนทั่วประเทศเป็นพี่เลี้ยงในพื้นที่เดียวกัน ทำงานร่วมกับชาวบ้าน การแก้ปัญหาเรื่องน้ำ จะสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ตามนโยบายวิทย์แก้จนของรัฐบาลเพราะเรื่องน้ำ คือ เรื่องสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจน ถ้าเกษตรกร มีน้ำดีจะทำให้พืชผลทางการเกษตรดีตามไปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image