กกจ.จี้บริษัทจัดหางานฯ ช่วยแรงงานไทยแอฟริกาใต้ไม่ได้คืนเงินสะสมกองทุนเลี้ยงชีพ

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีแรงงานไทยที่กลับจากไปทำงานในแอฟริกาใต้ และยังไม่ได้รับคืนเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากนายจ้าง โดยแรงงานได้ไปยื่นข้อร้องเรียนกับกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ กกจ.และกรมการกงสุล ได้ประชุมหารือร่วมกับบริษัทจัดหางานที่จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานให้กับนายจ้างที่แอฟริกาใต้ จากการประชุมทราบว่า ขณะนี้ บริษัทจัดหางานฯ ได้ช่วยเหลือติดต่อประสานงานกับแรงงานในประเทศไทย พร้อมทั้งดำเนินการด้านเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และได้ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปแอฟริกาใต้เพื่อตรวจสอบข้อมูลและติดตามสถานการณ์ยื่นขอคืนเงินสะสมของแรงงานไทยทุกคน ซึ่งมีแรงงานที่เดินทางกลับมาประเทศไทยแล้ว จำนวน 1,813 คน ได้รับเงินสะสมคืนไปแล้ว จำนวน 684 คน ยังไม่ได้รับเงินสะสม จำนวน 1,129 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2561) และมีแรงงานอีกจำนวน 913 คน เดินทางกลับประเทศไทยในช่วงปี 2560-2561 ซึ่งสถานะยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบภาษีรายได้ส่วนบุคคลของสรรพากรแอฟริกาใต้ และหน่วยงานกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ MIBFA

“ทั้งนี้ ตามกฎหมายการจ้างงานของแอฟริกาใต้ นายจ้างและลูกจ้างมีหน้าที่นำส่งเงินสะสมเข้ากองทุน Provident Fund ในสัดส่วน 50 : 50 (คนละครึ่ง) และเมื่อสิ้นสุดการจ้างงาน ลูกจ้างมีสิทธิยื่นขอรับเงินสะสมคืนจากกองทุนดังกล่าวได้ตามกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติพบว่าแรงงานส่วนใหญ่จะมอบอำนาจให้บริษัทนายจ้างแอฟริกาใต้เป็นผู้ดำเนินการแทนในเรื่องการขอคืนเงินสะสม โดยเมื่อได้รับเงินคืน บริษัทนายจ้างจะนำเงินส่งผ่านบริษัทจัดหางานในประเทศไทยเพื่อส่งคืนให้กับแรงงานไทยต่อไป แต่พบว่ามีแรงงานไทยบางส่วนยังไม่ได้รับเงินสะสมดังกล่าวคืน ซึ่งการคืนเงินสะสม แรงงานจะได้รับคืนในส่วนที่ตนถูกหักเงินไปเต็มจำนวน รวมกับส่วนที่นายจ้างจ่ายสมทบหลังหักภาษี เนื่องจากส่วนของนายจ้างที่สมทบไปจะต้องนำไปหักภาษีตามอัตราที่กำหนดในขณะที่ขอคืน คงเหลือจำนวนเท่าใดก็จะนำไปรวมเป็นเงินสะสมให้กับแรงงานต่อไป เช่น แรงงานได้รับเงินเดือนขั้นต่ำเดือนละ 30,000 บาท หักสะสมเข้ากองทุนร้อยละ 6 คิดเป็นเงิน 1,800 บาท ทุกเดือน หากมีระยะเวลาการจ้างงาน 5 ปี (สัญญาการจ้างงานปีต่อปี) คนงานจะมีเงินสะสมในกองทุน (1,800 บาท x 12 เดือน x 5 ปี) เท่ากับ 108,000 บาท รวมกับส่วนที่นายจ้างสมทบหลังหักภาษีอีก 86,400 บาท (108,000 บาท หักภาษีประมาณร้อยละ 20) รวมเป็นเงินที่แรงงานจะได้รับคืนประมาณ 194,400 บาท ทั้งนี้ ระยะเวลาการยื่นขอคืนเงินสะสมจนถึงการคืนเงินสะสมต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน” นายอนุรักษ์ กล่าว

นอกจากนี้ นายอนุรักษ์ฯ กล่าวว่า กกจ.และกรมการกงสุล ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้มอบหมายให้บริษัทจัดหางานที่จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานแอฟริกาใต้ เป็นผู้รับผิดชอบดูแลในเรื่องนี้โดยเฉพาะ ทั้งนี้ หากแรงงานไทยคนใดได้รับแจ้งจากสรรพากรแอฟริกาใต้เกี่ยวกับการยื่นภาษี ขอให้ติดต่อบริษัทจัดหางานฯ โดยทันที เพื่อประสานการดำเนินงานร่วมกับบริษัทนายจ้างโดยตรงต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ โทร. 0 2245 6708-9

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image