อนุฯเฉพาะกิจโยนกก.วัตถุอันตรายชี้ขาดต่อ-ไม่ต่ออายุ ‘พาราควอต’

ภายหลังจากคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายแต่งตั้งขึ้นและให้มีอำนาจตัดสินใจ ได้มีการประชุมพิจารณาการต่อหรือไม่ต่ออายุพาราควอต สารเคมีกำจัดวัชพืช เมื่อวันที่ 24 เมษายน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยข้อสรุปออกสู่สาธารณชน เนื่องจากจะต้องดำเนินการรวบรวมข้อสรุปจากที่ประชุมเพื่อเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายตัดสินอีกครั้งนั้น

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากความคลุมเคลือดังกล่าว ทำให้ภาคประชาชนมีการคาดการณ์ว่าจะเป็นไปตามข้อสังเกตที่เคยตั้งไว้ว่าความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ จะแตกเป็น 2 เสียง คือ เสียงส่วนใหญ่ให้มีการใช้พาราควอตต่อไป แต่ต้องมีการจำกัดการใช้ และเสียงอีกบางส่วนให้มีการยุติการใช้พาราควอต ตามมติของคณะกรรมการจาก 3 กระทรวง ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีข้อสรุปส่งไปยังคณะอนุกรรมการฯ จึงมีความกังวลว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะตัดสินตามเสียงส่วนใหญ่ ล่าสุดภาคประชาชนจึงได้มีการล่า 50,000 รายชื่อ เป็นแคมเปญต่อเนื่องเพื่อคัดค้านการขึ้นทะเบียนและเตรียมเสนอต่อไปยังนายกฯ

นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ในฐานะคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า หน้าที่ของคณะอนุกรรมการ คือ การทำให้ข้อมูลทางวิชาการมีความกระจ่าง โดยการหาข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งอาจจะมีบางความเห็นที่ขัดแย้งไม่ตรงกันบ้างในเชิงวิชาการ ซึ่งทั้งหมดได้เสนอไปยังคณะกรรมการเพื่อให้ทำการสรุปอีกครั้งเป็นที่เรียบร้อย

“ขณะนี้ก็หมดหน้าที่ของคณะอนุกรรมการแล้ว จะต้องใช้ระยะเวลานานเท่าไรในการพิจารณาสรุปให้ชัดเจน เรื่องนี้ต้องไปถามคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่าจะสามารถประชุมกันได้เมื่อใด” นพ.พูลลาภ กล่าว
ทางด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้มีการแชร์ข้อความจากเฟซบุ๊กส่วนตัว ที่ใช้ชื่อว่า Sumon Nakchalerm ที่ระบุว่าระหว่างขับรถผ่าน อ.ท่าตะเกียบ พบเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกมาจัดแสดงสอนให้ชาวบ้านเลือกซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลงชนิดต่างๆ โดยในนั้นมียาพาราควอตด้วย

Advertisement

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรจะมีการเผยแพร่กับประชาชนในการโฆษณาข้างถนนเช่นนี้ เพราะในศูนย์ควบคุมและป้องโรคสหรัฐอเมริกาก็ระบุไว้ว่า เป็นสารที่มีอันตรายร้ายแรง อีกทั้งในประเทศ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ที่มีการอนุญาตให้ใช้ ก็จะมีการควบคุม มีการขึ้นทะเบียนและอบรมการใช้ในพื้นที่ที่มิดชิด “เพราะหากมีการสัมผัสเข้าสู่ร่างกายก็จะเป็นอันตรายหลายอย่าง เช่น เยื่อบุตาอักเสบ เยื่อบุปากอักเสบ และในเรื่องของกระบอกสเปรย์ฉีดนั้นก็ต้องได้มาตรฐาน หากไม่ได้มาตรฐานสามารถซึมเข้าสู่ร่างกาย เคยมีรายงานว่าเคยมีการซึมเข้าไปในง่ามก้น เข้าไปในร่างกายทำให้ปอดอักเสบ ตับอักเสบ ไตวาย หรือหนักไปกว่านั้นก็จะเป็นโรคมะเร็ง สมองตาย” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวและว่า ไม่แน่ใจว่า ข้อมูลนี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่ก็ย้ำว่าไม่ควรจะมีการทำในลักษณะนี้ เพราะนอกจากเรื่องการสัมผัสเข้าสู่ร่ายกายโดยตรงจนทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว ก็มีรายงานจากทั้งในไทยและในต่างประเทศว่า สารดังกล่าวหากมีการใช้ก็สามารถแพร่กระจายในในน้ำ ไร่นา ได้ ซึ่งสามารถตรวจพบได้ในสัตว์ต่างๆ เช่น ปูนา กบนา กบหนอง เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image