183 ชุมชน “วิกฤตลิง” ไม่รวมลพบุรี-เขาวัง ที่ชาวบ้านยังเชื่อ อยู่ร่วมกันได้

วันที่ 15 พฤษภาคม นายศุภากร ปทุมรัตนาธาร รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ลงพื้นที่ และสำรวจ สอบถาม และเก็บข้อมูลทั่วประเทศ พบว่า มีสัตว์ป่า เข้ามาสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 22 ชนิดด้วยกัน เรียงตามลำดับคือ 1.ลิง 183 พื้นที่ ไม่รวม จ.ลพบุรี และ เขาวัง จ.เพชรบุรี 2.ช้าง 166 พื้นที่ 3.หมูป่า 82 พื้นที่ 4.กระรอก 70 พื้นที่ 5.เหี้ย 57 พื้นที่ 6.งู 41 พื้นที่ 7.นก 34 พื้นที่ 8.กวาง 31 พื้นที่ 9.หมี 10 พื้นที่ 10.เสือ 10 พื้นที่ 11.ค้างคาว 8 พื้นที่ 12.หมาไน 5 พื้นที่ 13.หนู 14.-22.คือ อีเห็น หอยทาก สมเสร็จ ตัวตุ่น เม่น ตะกวด พังพอน จระเข้ และ กระทิง

“สำหรับลิงนั้น สถานการณ์ค่อนข้างหนักสุด เพราะมีการแจ้งหลายพื้นที่มาก ในจำนวน 183 พื้นที่ หรือ 183 ชุมชนนั้น ยังไม่นับ ที่ จ.ลพบุรี และที่ เขาวัง จ.เพชรบุรี เพราะขณะที่สำรวจนั้น ในชุมชนบอกว่า ไม่มีปัญหาอะไร สามารถอยู่ร่วมกันได้ ในรายละเอียดปลีกย่อยนั้น พบว่า มีลิงที่สร้างปัญหาทั้งหมด 51,441 ตัว มีพื้นที่ ที่มีความรุนแรง ที่ถูกลิงรุกรานถึงขั้นรุนแรงมาก จำนวน 44 แห่ง รุนแรงปานกลาง 102 แห่ง และรุนแรงน้อย 37 แห่ง ลิงที่สร้างปัญหามากที่สุดคือ ลิงแสม จำนวน 34,608 ตัว ใน 93 พื้นที่”นายศุภากร กล่าว

เมื่อถามว่า ในรายงานสัตว์ที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน มีบางชนิด ที่ไม่มีใครคิดมาก่อนว่าจะสร้างความเดือดร้อนได้ เช่น นก กระรอก หมูป่า กวาง รวมไปถึงเสือ สัตว์เหล่านี้สร้างความเดือดร้อนอย่างไร รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า กรณีของหมูป่านั้น เวลานี้ มีปริมาณเยอะมากในพื้นที่เกาะสีชัง ซึ่งเข้าไปรื้อกองขยะ และทำลายพืชผลของชาวบ้าน ส่วนกระรอกนั้น ได้รับแจ้งจาก ชาวบ้านในพื้นที่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม แอบเข้าไปกัดกินมะพร้าว และพืชผลในสวน ส่วนกวางนั้น ได้รับแจ้งจากหลายพื้นที่ใน จ.พะเยา และ จ.น่าน ว่า มีกวางป่า ออกมากินพืชผล ได้รับความเสียหาย สำหรับเสือ มีปัญหาคือ ชาวบ้าน ที่อยู่ชายป่า เอาสัตว์เลี้ยง พวก วัว ควาย เข้าไปเลี้ยงในป่า จึงถูกเสือกิน พบในหลายที่ เช่น ป่าภูเรือ ป่าห้วยขาแข้ง เป็นต้น

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ในกรณีที่มีประเด็นที่มีข้อเสนอการย้ายลิงไปอยู่ตามเกาะต่างๆ นั้น เคยมีเจ้าหน้าที่นำเสนอเรื่องนี้มาให้ตนพิจารณา โดยตนได้ให้ข้อสังเกตไปว่าการนำลิงไปอยู่ที่ใดต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าบริเวณพื้นที่เหล่านั้น ต้องเป็นพื้นที่ ที่ไม่มีคนอยู่อาศัยมาก่อน และจะต้องมีแหล่งน้ำและอาหารให้เพียงพอ เพื่อให้ลิงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ไม่เช่นนั้นก็เข้าข่ายทารุณกรรมสัตว์ อาจจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ได้ นอกจากนั้นปัญหาลิงในบางพื้นที่เป็นการที่ชุมชนเข้าไปบุกรุกถิ่นที่อยู่อาศัยของลิง ทำให้พฤติกรรมของลิงเปลี่ยนไป หรือในบางชุมชนก็ไม่ต้องการที่จะย้ายลิงเพราะมีความรักและความผูกพันกับลิงมาก ซึ่งเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนและต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

Advertisement

นายสุชาติ โภชฌงค์ หัวหน้ากลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า วิธีการที่ดีที่สุดในการจัดการประชากรลิงล้นพื้นที่ และออกไปสร้างความเดือดร้อนประชาชนในชุมชน คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และการจับทำหมัน ซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ คือ ทำความเข้าใจ ไม่ให้อาหารลิงสะเปะ สะปะ ส่วนการจับทำหมันนั้น ค่อยๆทำไป แต่ต้องทำต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นผลภายในระยะเวลาราว 5 ปี ขึ้นไป ว่าประชากรลิงลดลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image