เห็นต่าง ‘ไก่อู’ หลังประกาศหากลูกจ้างต้องการสิทธิประกันสังคม จ่ายสมทบได้ ใช่หรือ…

ความคืบหน้าการเรียกร้องสิทธิลูกจ้างส่วนราชการ  ล่าสุดพล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วง และต้องการให้ภาครัฐดูแลลูกจ้างกลุ่มนี้ แต่หากต้องการสิทธิประโยชน์ก็สามารถไปสมัครจ่ายสมทบเองตามมาตรา 40 ของกองทุนประกันสังคม โดยจ่ายเดือนละ 300 บาทแต่ได้สิทธิเพิ่มมานั้น

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม นายโอสถ สุวรรณเศวต  ประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการที่ทางรัฐบาล โดย พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีลูกจ้างที่ไม่ได้สิทธิสวัสดิการใดๆ และต้องการสิทธิประกันสังคมให้ไปจ่ายสมทบเพิ่มเติมนั้น ซึ่งแม้จะเป็นช่องทางของกฎหมายเพื่อให้ได้สิทธิเพิ่มจากการจ่ายเงินเอง แต่ถามว่าควรเป็นภาระของลูกจ้างหรืออย่างไร เพราะในเมื่อทำงานในหน่วยงานรัฐ ถูกสัญญาว่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วยการเลี่ยงกฎหมาย จ้างแบบเหมาบริการ แต่รูปแบบการจ้างเป็นปีต่อปี มีการเซ็นชื่อเข้างานเช้า ออกงานเย็น อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหัวหน้างาน  เหมือนลูกจ้างส่วนราชการทั่วไป

“กรณีแบบนี้ไม่เข้านิยามของลูกจ้างเหมาบริการ ซึ่งเรื่องนี้ตนเคยไปเรียกร้องให้ลูกจ้าง และทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เคยชี้ว่าหากจ้างรูปแบบนี้ไม่ใช่เหมาบริการ ต้องให้สิทธิสวัสดิการเหมือนแรงงานทั่วไปต้องมีสิทธิประกันสังคมที่ต้องจ่ายสมทบ 3 ส่วน คือ รัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง ไม่ใช่ให้ไปจ่ายสมทบเองโดยนายจ้าง หรือส่วนราชการนั้นๆไม่ต้องรับผิดชอบ เนื่องจากต้องเข้าใจก่อนว่า ลูกจ้างเหมาบริการ คือ กลุ่มที่ไม่ต้องทำงานภายใต้ผู้บังคับบัญชา เพราะถูกว่าจ้างแบบเหมางาน เช่น ให้ซักผ้าจำนวนหนึ่งเสร็จภายในเวลากี่วัน พอแล้วเสร็จก็จบงาน แต่ที่ผ่านมาหลายรพ.ใช้วิธีเลี่ยงด้วยการจ้างเหมา แต่ให้มาทำงานจันทร์ถึงศุกร์ในเวลาราชการ และจ้างต่อเนื่องไปเป็นปีๆ ถามว่าหากวันหนึ่งไม่จ้างเขา พวกเขาอายุมากขึ้น เขาก็ไม่ได้อะไรเลย หรือระหว่างการทำงานไปประสบอุบัติเหตุ ก็ไม่ได้อะไรอีก หากอยากได้เราก็ต้องจ่ายเงินสมทบประกันสังคมเองใช่หรือไม่” นายโอสถ กล่าว

ประธาน สสลท. กล่าวอีกว่า กรณีนี้เกิดขึ้นมานานเป็นสิบๆ ปี ปัญหาคือ ลูกจ้างกลุ่มนี้กระจายไปทั่วทุกกระทรวง ไม่มีใครกล้าออกมาเรียกร้อง มีที่ออกมาเรียกร้องก็คือ ญาติ เพราะลูกจ้างเสียชีวิตจากอุบัติเหตุระหว่างการทำงาน เมื่อเรียกร้องก็จะได้เงินชดเชยกลับมา ปัญหาคือ ต้องไม่ให้เกิดเคสแบบนี้ไม่ดีกว่าหรืออย่างไร ขณะนี้ทาง สสลท. จึงกำลังประสานหน่วยงานหรือองค์กรลูกจ้างที่อยู่ตามกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะใน 4 กระทรวงใหญ่ อย่าง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงนี้ตนพอจะมีข้อมูลประสานได้อยู่ แต่ยังเหลือกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งก็พยายามหาข้อมูลอยู่ แต่ขอประกาศไปตรงนี้ว่า อยากให้ลูกจ้างที่ประสบปัญหาถูกลิดรอนสิทธิในทุกกระทรวง ช่วยประสานมาทาง สสลท. เราจะช่วยกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม  โดยจะทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ขอให้แก้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ของกระทรวงแรงงาน โดยให้ลูกจ้างผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน ทุกประเภทได้เข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน

Advertisement

 

นายโอสถ สุวรรณ์เศวต
แฟ้มภาพ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image