จิสด้าเตรียมดัน แอพพลิเคชันเฝ้าระวังช้างป่า ชนะเลิศ เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ สู่ธุรกิจสตาร์ทอัพ

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า จัดการแข่งขันโปรแกรมประยุกต์ทางด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ “Geo-informatics Applications Contest : G-CON 2018” รอบชิงชนะเลิศ หัวข้อ เทคโนโลยีด้านการเกษตร(Agritech) และ เทคโนโลยีด้านการท่องเที่ยว(Travetech) ภายใต้งาน Startup Thailand 2018 ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยเสริมสร้างแนวคิดการพัฒนาและต่อยอดให้แอพพลิเคชั่นสามารถใช้งานได้จริง บนข้อมูลที่มีความถูกต้อง และใช้ได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์อย่างก้าวกระโดด และการพัฒนาในรูปแบบธุรกิจนวัตกรรม ทั้งนี้ ในการจัดแข่งขันมุ่งหมายเพื่อที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้น ให้มีองค์ความรู้และสร้างมาตรฐาน ที่จะช่วยผลักดันการสร้างธุรกิจนวัตกรรมให้มีความเข้มแข็งและสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในเชิงพาณิชย์ต่อไป

ผลการแข่งขัน รางวัลชนะเลิศได้แก่ทีม Four Square รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ทีม Cosmo และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ทีม Lawang-chang System โดยทีม Four Square มีผลงาน Travelista หน่วยงาน Startup เติมเต็มทุกการท่องเที่ยว Travel application ช่วยจัดวันว่างให้ตรงกับเพื่อนทุกคนค้นหาสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร และที่พักวางแผนให้กลุ่มเพื่อน หรือครอบครัวตั้งแต่ต้นจนจบ ใน แอพพลิเคชั่นเดียว ทีม COSMO มีผลงานชื่อ PlantPhet หน่วยงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แอปพลิเคชันที่พลิกโฉมวิธีการทําเกษตรกรรมตามวิถี Thailand 4.0 สนับสนุนให้เกษตรกรตัดสินใจภายใต้การใช้ข้อมูลทีเพียงพอเหมาะสมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การตัดสินใจ เลือกชนิดพืชที่จะเพาะปลูก ให้ข้อมูลด้านราคา สร้างช่องทางการค้าขายกับพ่อค้าผู้รับซื้อ และ ทีม Lawang-chang System มีผลงานชื่อ ระบบการตรวจจับและแจ้งเตือนช้างออกมานอกพื้นที่หน่วยงาน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ การแจ้งเตือนให้เมื่อช้างออกมานอกพื้นที่เพื่อให้ชาวบ้านได้ระวังอันตรายและเจ้าหน้าที่ได้รับทราบเพื่อเข้าไปไล่ให้กลับเข้าไปในป่าเพื่อไม่ให้ช้างออกมาก่อความวุ่นวาย ทำลายพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน หรือทำร้ายชาวบ้าน แอพพลิเคชั่น เข้าสู่ระบบแบ่งชาวบ้านหรือเจ้าหน้าที่ แจ้งจุดที่มีช้างออกมา ดูสถานะของอุปกรณ์ นำทางเจ้าหน้าที่ ช้างบ้านแท็กจุดที่มีช้างออกมา ดูสถิติของจุดที่ช้างบุกรุก Sensor สามารถตรวจจับช้างที่ออกนอกพื้นที่ได้ สามารถส่งข้อมูลเพื่อแจ้งเตือนให้กับเจ้าหน้าที่ได้ และตรวจสอบสถานะของอุปกรณ์ว่าออนไลน์อยู่หรือไม่

นายพรเทพ นวกิจกนก หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมการรังสรรค์ผลิตภัณฑ์อวกาศของจิสด้า กล่าวว่า การพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ทางด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศถือเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ และเพื่อให้ทางเลือกนี้สามารถรองรับการใช้งานได้ในทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะประชาชนทั่วไป ผ่านอุปกรณ์พกพา เช่น Notebook โทรศัพท์มือถือ Smartphone PDA หรือ อุปกรณ์นั้น การพัฒนานั้นต้องอาศัยองค์ประกอบหลายด้าน เช่น ข้อมูลถ่ายทอดเรื่องราวหรือปรากฏการณ์ต่างๆ บนพื้นผิวโลกผ่านข้อมูลจากดาวเทียม ตำแหน่งบนพื้นโลกผ่านข้อมูลจากดาวเทียม

Advertisement

ข้อมูลที่ให้บริการนี้ต้องผ่านการนำเสนอข้อมูล เก็บข้อมูล จัดการ วิเคราะห์ และแสดงผลข้อมูล โดยจัดเก็บในรูปแบบฐานข้อมูล อย่างชัดเจน ทำให้เห็นภาพรวมของสิ่งที่สนใจ อันจะนำไปสู่การวางแผนในชีวิตประจำวันได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความสะดวกให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การบริการได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งสามารถนำไปต่อยอดแนวความคิดในการพัฒนาการบริหารจัดการงานได้อีกด้วย ซึ่งโครงการฯ มีระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 1 ปี โดยเริ่มต้นจากการประชาสัมพันธ์และการแข่งขันในระดับภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ภาคตะวันออกฉียงเหนือ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จ.อุดรธานี ภาคใต้ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา และ ภาคกลาง ณ มหาวิทยาลัยจันทรเกษม กรุงเทพมหานคร จนได้ผู้เข้าร่วมสมัครทั้งหมด รวม 104 ทีม เพื่อคัดเลือกเหลือ 20 ทีม เพื่อเข้าอบรมเชิงปฏิบัติการ และทุกทีมได้มีเวลาพัฒนาผลงาน ปรับปรุงแก้ไข และในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 ภายในงาน Geoinfotech 2018 ได้จัดการแข่งขัน Pitching รอบ Semi-Final เพื่อคัดเลือกทีมที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศจำนวน 6 ทีม เข้ารอบชิงชนะเลิศเพื่อแข่งขันในงาน Startup Thailand ในครั้งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image