เปิดผลตรวจผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร พบยาลดน้ำหนักเจือปนมีสารอันตรายเพียบ!

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏ เป็นข่าวหนุ่มมหาวิทยาลัยย่านบางนาเสียชีวิต      ซึ่งคาดว่าอาจมาจากผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งต้องมีการชันสูตร     หาสาเหตุการตายที่แท้จริงต่อไป และขอเตือนให้ประชาชนระมัดระวังอย่าหลงเชื่อไปบริโภคผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณลดความอ้วนได้อย่างรวดเร็วเห็นผลทันใจ  เนื่องจาก อย. มักตรวจพบว่ามีการลับลอบใส่สารไซบูทรามีนซึ่งเป็นอันตรายและมีผลข้างเคียงร้ายแรง  ผู้ใช้อาจได้รับผลข้างเคียงจากยานั้นจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

นพ.สุรโชค กล่าวว่า  ไซบูทรามีนเป็นยาที่ยกเลิกทะเบียนตำรับไปแล้ว ตั้งแต่ ปี 2553 อย. ขอยืนยันว่าสารไซบูทรามีน                ไม่สามารถใส่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือเป็นยา และได้ยกระดับไซบูทรามีนขึ้นเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิต              และประสาท ประเภทที่ 1 แล้ว ผู้ใดนำไซบูทรามีนไปผสมในผลิตภัณฑ์อาหาร จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสนบาท – 2 ล้านบาท หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของไซบูทรามีน จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 4 แสนบาท – 2 ล้านบาท จึงขอเตือนมายังผู้ผลิตและผู้จำหน่ายอย่าฝ่าฝืนกฎหมายโดยการผลิตหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่มีไซบูทรามีน เพราะจะได้รับโทษหนักมากกว่าเดิม โดยจำคุกสูงสุดถึง 20 ปี ปรับสูงสุดถึง 2 ล้านบาท

“อย.ขอเตือนไปยังประชาชนผู้บริโภคและพ่อแม่ผู้ปกครองให้ช่วยกันสอดส่องดูแลบุตรหลานไม่ให้ซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาว่าลดความอ้วนได้มากิน เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากผู้ใดกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแล้ว มีอาการปากแห้ง ไม่อยากอาหาร เบื่ออาหาร รับรู้รสชาติแปลก ๆ คลื่นไส้ ท้องผูก มีปัญหา     การนอนหลับ วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและไขข้อ การเต้นของหัวใจผิดจังหวะ และอาการทางจิตประสาท ให้หยุดกินทันที และหากอาการไม่ดีขึ้นแนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์ เนื่องจากผลิตภัณฑ์นั้นอาจมีส่วนผสมของไซบูทรามีน หากผู้บริโภคต้องการลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและควบคุมอาหาร รวมทั้งออกกำลังกายอย่างเหมาะสม” นพ.สุรโชค กล่าว

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้รับรายงานผลการตรวจพบยาแผนปัจจุบันเจือปนแยกตามประเภทอาหาร ปีงบประมาณ 2559-2561 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าในปี 2559 มีการตรวจพบยาแผนปัจจุบันจำนวนมากในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยในปี 2559 ตรวจผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 344 ตัวอย่าง ตรวจพบการเจือปน 115 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 33.4 ส่วนปี 2560 ตรวจ 530 ตัวอย่าง พบการเจือปน 137 ตัวอย่าง คิดเป็น ร้อยละ 25.8 และล่าสุดปี 2561 ตรวจไปแล้ว 307 ตัวอย่าง พบการเจือปน 48 ตัวอย่าง คิดเป็น ร้อยละ 15.6

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ยาแผนปัจจุบันกลุ่มยาลดน้ำหนัก คือ ไซบูทรามีน (Sibutramine) เฟนเทอรามีน (Phentermine) ออริสแตส (Orlistat) ฟล็อกซิติน (Fluoxetine) อีเฟดรีน (Ephedrine) กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ คือ ซิเดนาฟิล ยาทาดาลาฟิล และวาเดนาฟิล (Sildenafil, Tadalafil, Vardenafil) กลุ่มยาสเตียรอยด์ กลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีนส์ที่ออกฤทธิ์กลุ่มยาลดความอยากอาหาร เช่น เฟนฟลูรามีน (Fenfluramine) และกลุ่มยาระบาย ทั้งนี้ บางตัวอย่างพบยาแผนปัจจุบันเพียงตัวเดียว บางตัวอย่างพบ 2 ตัว และบางตัวอย่างพบผสมอยู่ถึง 3 ตัว เช่น ข้อมูลในปี 2561 พบไซบูทรามีนเดี่ยวๆ 17 ตัวอย่าง ยาออริสแตส  6 ตัวอย่าง ฟล็อกซิติน 1 ตัวอย่าง ซิเดนาฟิล 13 ตัวอย่าง ทาดาลาฟิล 1 ตัวอย่าง และพบไซบูทรามีนร่วมกับยาฟีนอลทาลิน 5 ตัวอย่าง พบไซบูทรามีน ร่วมกับออริสแตส 2 ตัวอย่าง ไซบูทรามีนร่วมกับฟล็อกซิติน 1 ตัวอย่าง พบซิเดนาฟิล ร่วมกับทาดาลาฟิล 1 ตัวอย่าง ส่วนกรณีผสม 3 ตัว เช่น พบไซบูทรามีน ร่วมกับออริสแตส และฟล็อกซิติน 1 ตัวอย่าง เป็นต้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image