20 องค์กรลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้อง ‘บิ๊กตู่’ 1 มิ.ย. ค้านก.คลัง ชี้บางส่วนตกงาน!(คลิป)

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 28 พฤษภาคม ที่โรงแรมเบย์ ถ.ศรีนครินทร์ กลุ่มเครือข่ายองค์กรลูกจ้างกว่า 20 องค์กร อาทิ สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย(สพท.)  เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน(คปค.) องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย กลุ่มพลังเพื่อนแรงงาน เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ มูลนิธิอารมณ์พงศ์พงัน มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ฯลฯ ร่วมแถลงข่าว “ขับเคลื่อนการเข้าถึงสิทธิและบริการของกองทุนเงินทดแทนของลูกจ้างหน่วยงานภาครัฐ” พร้อมออกแถลงการณ์มีมติขอให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้าง โดยใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ พร้อมทั้งจะเดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ช่วยเหลือลูกจ้างส่วนราชการที่ถูกลิดรอนสิทธิจากราชการเอง

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) แถลง ว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.เงินทดแทน (ฉบับที่…) พ.ศ. … เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561 ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ขยายความคุ้มครองแก่ลูกจ้างของส่วนราชการ ที่มิใช่ข้าราชการและลูกจ้างประจำ ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ลูกจ้างของกระทรวง ทบวง กรม ทุกหน่วยงานมีลูกจ้างที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมจำนวน 904,759 ราย จากหน่วยงานรัฐทั้งหมด 9,361 แห่ง และยังมีลูกจ้างเหมาบริการ 475,828  ราย ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยได้รับสิทธิสวัสดิการใดๆ เลย ก็จะเข้ามาอยู่ในกองทุนนี้ด้วย  แต่ปรากฏว่า เดิมทีการขับเคลื่อนร่างพ.ร.บ.เงินทดแทน(ฉบับที่..) ซึ่งจะประกาศใช้ครอบลูกลูกจ้างส่วนราชการทั้งประเทศภายในปี 2561 ปรากฎว่าไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจาก  คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ ..) .ศ. พิจารณาและพบว่า มีลูกจ้างกลุ่มเหมาทำของ หรือเหมาบริการ   475,828  รายจะไม่ได้สิทธิตามร่างพ.ร.บ.ใหม่

“ลูกจ้างเหมาบริการกลุ่มนี้น่าเห็นใจ เนื่องจากส่วนราชการทำสัญญาจ้างแบบเหมาบริการหรือเหมาทำของ รับจ้างทำของเสร็จก็จบ แต่ความเป็นจริงกลับไม่ใช่ เป็นการจ้างแบบสัญญาปีต่อปี หรือ 3-4 ก็มีขึ้นอยู่กับแต่ละแห่งและด้วยสัญญาจ้างที่ระบุว่าเป็นการจ้างเหมาทำให้พวกเขาไม่ได้รับสิทธิ ที่ผ่านมาใครต้องการเรียกร้องสิทธิก็ต้องไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองเอง ซึ่งเป็นเคสบายเคส เรียกว่า เดิมทีก็ถูกลิดรอนอยู่แล้ว ทำงานให้ส่วนราชการ แต่หากเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุระหว่างทำงานจะไม่ได้อะไรเลย  ยิ่งกระทรวงการคลังออกระเบียบว่าด้วยการจ้างงานแบบนี้มาอีก เหมือนเป็นการซ้ำเติม” นายมนัสกล่าว

Advertisement

นายมนัส กล่าวอีกว่า    เพราะจากระเบียบดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อลูกจ้างในส่วนราชการทั้งหมด 1.4 ล้านคน แบ่งเป็น 1. ลูกจ้าง475,828  ราย กลุ่มนี้ได้รับผลแน่ๆ ตรงไม่มีสิทธิสวัสดิการใดๆเลย เพราะเป็นการจ้างแบบเหมาบริการ เหมาทำของ  ซึ่งเดิมไม่ได้สิทธิสวัสดิการใดๆอยู่แล้ว และ 2.ตัวเลขที่จะเข้าประกันสังคมได้สิทธิแน่ๆ  904,759 ราย กลุ่มนี้เราไม่รู้ว่ามีการจ้างสัญญาจ้างแบบใด ปีต่อปี หรือ 3 ปี หรือ 4 ปี ซึ่งกลุ่มนี้ตามระเบียบกระทรวงการคลังระบุว่า การว่าจ้างจะต้องสิ้นสุดในปีงบประมาณนั้นๆ และเมื่อพนักงานหรือลูกจ้างลาออก หรือส่วนราชการหมดความจำเป็นในการจ้างให้ยุบเลิกตำแหน่งพนักงานหรือลูกจ้างนั้นเสีย  หมายความว่า เราจะมีคนตกงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกใช่หรือไม่ สรุปคือ ทั้งหมดกว่า 1.4 ล้านคนนอกจากเดิมจะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการอยู่แล้ว หลายคนยังเสี่ยงตกงานด้วย” นายมนัส กล่าว

นายมนัส กล่าวว่า  เครือข่ายอีกกว่า 20 องค์กร ซึ่งได้มีการประชุมหารือ และมีมติเห็นชอบร่วมกันที่จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในวันศุกร์ที่ 1 มิถุนายนนี้ เพื่อขอให้ลูกจ้างส่วนราชการทั้งหมดต้องได้รับความคุ้มครองทั้งจากกองทุนประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน และตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะกองทุนเงินทดแทนที่เมื่อเวลาลูกจ้างภาครัฐประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ควรได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับลูกจ้างภาคเอกชน ซึ่งจากการประมาณการว่าอัตราการจ่ายต่ำสุดของนายจ้างหรือหน่วยงานภาครัฐต่างๆ คือ 0.2% จากฐานเงินเดือนของลูกจ้างที่ต่ำสุดคือ 9,000 บาท ไม่เกิน 20,000 บาท หน่วยงานรัฐนั้นต้องอุดหนุนงบประมาณเข้ากองทุนประมาณ 18-40 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งจากประมาณการตัวเลขลูกจ้างส่วนราชการกว่า 1.4 ล้านคน หากคิดจากอัตราสูงสุดก็อยู่ที่ประมาณ 56 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำจากการจ้างงานและเพิ่มความเป็นธรรมได้

Advertisement

น.ส.อรุณี  ศรีโต  ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ขอสนับสนุนร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทนฯ และขอให้ลูกจ้างส่วนราชการทุกประเภทต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคมทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันไทยมีลูกจ้างต่างด้าวเข้ามาประเทศไทยไม่ใช่น้อย ในขณะที่ลูกจ้างคนไทยแท้ๆอยู่นอกระบบเยอะ ยิ่งส่วนราชการยิ่งมาก จึงเป็นโอกาสที่รัฐบาลควรทำเป็นต้นแบบให้สิทธิอย่างเท่าเทียม ให้พวกเขาได้รับการคุ้มครอง โดยหากพวกเขาเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุจากการทำงานก็ต้องได้รับการดูแลด้วย  ซึ่งส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลจะใจกว้างและเห็นใจแรงงานเหล่านี้

นายภาคภูมิ สุกใส กรรมการ สพท. กล่าวว่า  ส่วนราชการมีลูกจ้างกลุ่มเหมาทำของ เหมาบริการเยอะมาก แต่พวกเขากลับได้เงินเดือนน้อย การดูแลสิทธิสวัสดิการก็ไม่ได้ ทั้งๆที่การจ้างงานไม่ได้แตกต่างจากลูกจ้างทั่วไปเลย ยิ่งระเบียบกระทรวงการคลังออกมา ยิ่งเป็นการสกัดไม่ให้พวกเขาได้เข้าสู่กองทุนเงินทดแทน ทั้งๆที่มีการขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทนฉบับใหม่ ซึ่งเดิมให้สิทธิแต่ลูกจ้างเอกชน เป็นเพิ่มให้ลูกจ้างส่วนราชการครั้งแรก แต่ระเบียบกระทรวงคลังก็มาสกัดอีก ไม่ได้สิทธิ ยังควบคุมการจ้าง ระบุให้จ้างได้ไม่เกินอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตนจึงไม่เข้าใจว่า เพราะเหตุใดจึงออกระเบียบมาเช่นนี้

พ.ต.ท.หญิง ฐิชาลักษณ์ ณรงค์วิทย์ ที่ปรึกษาสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การคุ้มครองของกองทุนเงินทดแทนนั้น สิ่งที่สหภาพฯ อยากขอคือ ขอให้คุ้มครองข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐทุกประเภท เพราะราชการเวลาทำงานนั้นทำงานเป็นทีม เวลาเกิดเหตุก็ควรได้รับการคุ้มครองดูแลเท่าเทียมกัน ซึ่งหากในครั้งนี้ข้าราชการกว่า 2 ล้านคน ยังไม่ได้รับความคุ้มครองก็ขอให้เป็นการพิจารณาในวาระหน้า หรือหาระบบทดแทนดูแล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image