‘ทช.’ ดิ่งปะการังเทียมจากขาแท่นปิโตรเลียม ฟื้นระบบนิเวศเกาะพะงัน

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นในการ “จัดวางปะการังเทียมจากขาแท่นผลิตปิโตรเลียม เพื่อการอนุรักษ์บริเวณเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี” ระหว่างวันที่ 28-29 พฤษภาคม เพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียดกิจกรรมโครงการ ก่อนนำไปพิจารณาปรับปรุงและขั้นตอนการดำเนินงานให้โครงการสมบูรณ์ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ผู้ประกอบการท่องเที่ยว กลุ่มประมง สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และประชาชนกว่า 500 คนร่วมประชุม ที่โรงแรมบรรจงบุรี จ.สุราษฎร์ธานี

นายจตุพรกล่าวว่า ภายหลังบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 โดยมีคณะกรรมการระดับชาติ ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน บริหารผ่านคณะกรรมการระดับจังหวัด เพื่อคุ้มครองทรัพยากรทะเลและชายฝั่งทะเลและมิติทางกฎหมาย ซึ่งการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นการจัดวางปะการังเทียมจากขาแท่นปิโตรเลียม เกิดจากข้อห่วงใยของ พล.อ.ประวิตร เพราะเป็นเรื่องใหม่ จึงมอบหมายให้ ทช.รวบรวมข้อมูลรอบด้าน พร้อมจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน เพื่อรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการในการพิจารณาแนวทางเหมาะสม เบื้องต้นแผนดำเนินการจัดวางปะการังเทียมจากขาแท่นปิโตรเลียมจะมีผลกระทบต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี โดยระยะแรกกำหนดพื้นที่จัดวางบริเวณเกาะพะงัน ขนาด 2×2 ตารางกิโลเมตร (กม.) อยู่ห่างจากเกาะพะงันเป็นระยะทางประมาณ 8 ไมล์กิโลเมตรและจากหินใบประมาณ 7 ไมล์ทะเล

“เหตุผลในการเลือกบริเวณเกาะพะงัน ข้อมูลวิจัยและหน่วยงานศึกษาสำรวจพบเป็นพื้นที่เหมาะสม โดยกำหนดให้เกาะพะงันเป็นพื้นที่นำร่องในการวางปะการังเทียมจากขาแท่น จำนวน 8 แท่น แบ่งเป็นโครงสร้างเหล็กชนิด 3 ขา จำนวน 1 ขาแท่น และชนิด 4 ขา จำนวน 7 ขาแท่น วางที่ระดับความลึกประมาณ 40 เมตร (ม.) จากระดับน้ำทะเลลงต่ำสุด เมื่อวางแล้วจะยังคงมีระดับน้ำเหนือกองวัสดุในช่วงน้ำลงต่ำสุดมากกว่า 10 ม. โดยขาแท่นขนาดใหญ่จะช่วยอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ช่วยให้ท้องทะเลสมบูรณ์ ลดผลกระทบจากการท่องเที่ยวดำน้ำต่อปะการังธรรมชาติ รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยว” นายจตุพรกล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ นายจตุพรกล่าวถึงข้อกังวลว่าขาแท่นปิโตรเลียมอาจปนเปื้อนสารเคมีอันตรายว่า ในส่วนของขาแท่นปิโตรเลียมไม่ได้สัมผัสกับปิโตรเลียม แต่บริเวณส่วนท่อขนถ่ายปิโตรเลียมหรือส่วนหัวนั้นจะสัมผัสโดยตรง ทั้งนี้ ข้อมูลสำรวจพบขาแท่นทั้งหมดมีสิ่งมีชีวิตมาเกาะติดบริเวณขาแท่นเปรียบเสมือนเป็นปะการังอยู่แล้ว ดังนั้น การนำขาแท่นมาจัดทำเป็นปะการังจึงเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรไว้ ซึ่งแนวคิดนี้เป็นแนวคิดเดียวกับอ่าวเม็กซิโกที่ดำเนินการแล้วได้ผล ประมาณ 7,000-8,000 จุด อย่างไรก็ตาม การวางขาแท่นต้องมีจุดเหมาะสมและพื้นที่กำหนด โดยส่วนนี้ทาง ทช.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯลฯ ทำการสำรวจพื้นที่แล้ว แต่ยังมีกังวลเกี่ยวข้องการเดินเรือและความมั่นคง ซึ่งในอนาคตคาดจะมีขาแท่นเพิ่มขึ้น หากไม่เดินหน้าทดสอบก็จะไม่มีข้อบ่งชี้ความสำเร็จ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image