จับตานโยบายรัฐ อนาคต ‘ลูกจ้างส่วนราชการ’

หากพิจารณาประเด็นข้อเรียกร้องของกลุ่มลูกจ้างส่วนราชการ ไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องค่าแรงที่ไม่ถึงค่าแรงขั้นต่ำในบางกลุ่ม หรือการไร้สิทธิสวัสดิการเทียบเท่าลูกจ้างเอกชน แต่กลับลุกลามทันทีเมื่อกระทรวงการคลังออกระเบียบว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ พ.ศ.2561 ที่กำหนดให้ส่วนราชการจะว่าจ้างพนักงานกระทรวงหรือลูกจ้างต้องผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง และหากหมดสัญญาให้พิจารณายุบตำแหน่ง รวมทั้งให้จ้างได้ไม่เกินอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กลายเป็นปัญหาลามถึงหมอในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ผอ.รพช. ชมรมแพทย์ชนบท หรือแม้แต่เครือข่ายผู้ป่วย เรียกร้องขึ้นป้ายคัดค้านหน้าโรงพยาบาล เตรียมบุกกระทรวงการคลัง แม้กระทรวงการคลังและกระทรวงสาธารณสุขบอกว่า ไม่เกี่ยวกับกระทรวงสาธารณสุข เพราะมีการตกลงกันและมีข้อยกเว้น เนื่องจากมีระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเงินบำรุงของหน่วยบริการในกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2561 แล้วก็ตาม

กระทั่งกระทรวงการคลังต้องยอมถอย ชะลอระเบียบดังกล่าว และเชิญทุกกระทรวงมาหารือว่าจะออกระเบียบอย่างไรให้เหมาะสม ขณะที่ระเบียบเงินบำรุงก็จะมีการปรับแก้ ส่วนจะตัดข้อ 10 ที่ถูกมองว่าเป็นปัญหา เนื่องจากกำหนดว่าการว่าจ้างต้องผ่านความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
ก็ต้องรอว่าจะออกมาในรูปแบบใด งานนี้ชมรมแพทย์ชนบทประกาศกร้าวว่า หาก 1 เดือนไม่แก้ระเบียบเงินบำรุงจะไปร้องที่ทำเนียบรัฐบาล

จริงๆ แล้วจุดเริ่มของเรื่องนี้มาจากปัญหาการจ้างงานส่วนราชการที่สะสมมานาน ไม่ใช่ปัญหาแค่ผู้จ้างหรือส่วนราชการเท่านั้น แต่เพราะกรอบอัตรากำลัง ระเบียบการจ้างงานต่างๆ ที่คุมไว้หมด เห็นได้ชัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีโรงพยาบาลอยู่ทั่วประเทศทุกระดับ ตั้งแต่โรงพยาบาลใหญ่ อย่างโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลสุขภาพระดับตำบลรวมกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ บุคลากรสาธารณสุขหลากหลายวิชาชีพต้องการกรอบอัตรากำลังแต่ก็ไม่เพียงพอ จะจ้างตามระบบระเบียบราชการก็ทำไม่ได้ เพราะกรอบไม่มี เงินจ้างก็ไม่มา ทำให้ รพ.ที่ภาระงานเยอะต้องจ้างลูกจ้าง ทั้งชั่วคราว รายวัน รายคาบมาหมด

หลายแห่งหันมาจ้างแบบเหมาบริการ หรือเหมาทำของ โดยใช้เงินวัสดุมาแปลงเป็นการจ้างบริการ ปัญหาคือ หากจ้างผ่านบริษัทเอกชนมาทำงาน เช่น พนักงานทำความสะอาด เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) คงไม่เป็นไร เพราะจะมีสิทธิสวัสดิการจากประกันสังคม ได้สิทธิกองทุนเงินทดแทนอัตโนมัติ แต่หากส่วนราชการต้องจ้างเองก็จะมีปัญหา เพราะหากไม่ทำสัญญาทีโออาร์ชัดเจน หรือกำหนดกรอบให้ชัดก็จะไม่แตกต่างกับการจ้างผิดประเภท เพราะหากเราระบุว่าเป็นการจ้างเหมาบริการ ให้ทำของสิ่งใดสิ่งหนึ่งในระยะเวลาที่กำหนด แต่ความเป็นจริงกลับให้ต้องทำงานตอกบัตร เช้าถึงเย็น รูปแบบลูกจ้างทั่วไป และมีการต่อสัญญาปีต่อปี ปีแล้วปีเล่า แต่พวกเขากลับไม่ได้สิทธิสวัสดิการใดๆ สิทธิรักษาพยาบาลก็ต้องเป็นบัตรทอง เพราะจะอยู่ในกลุ่มแรงงานนอกระบบ

Advertisement

หากต้องการเรียกร้องสิทธิก็ต้องไปร้องต่อศาลขอความเป็นธรรม แต่จะดีกว่าหรือไม่ หากมีการจ้างอย่างถูกประเภท และกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบจะตระหนักและจัดระเบียบให้เอื้อกับความเป็นจริงในบริบทของแต่ละกระทรวงมากกว่านี้ เพราะเราก็ไม่ใช่ว่าจะโทษไปที่ส่วนราชการทั้งหมด เนื่องจากผู้บริหาร รพ.หรือหน่วยราชการก็มีส่วนสำคัญ หลายแห่งจ้างเยอะ ขณะที่เงินนอกงบประมาณหรือเงินบำรุงน้อย บริหารจัดการไม่ได้ก็พบเห็นอยู่ จนกระทรวงสาธารณสุขต้องทำกรอบอัตรากำลังในแต่ละพื้นที่ ล่าสุด นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงพิจารณา และหากต้องจ้างเกินกรอบเพราะจำเป็นจริงๆ ก็ส่งเรื่องมายังส่วนกลาง การทำรูปแบบนี้ก็เพื่อให้การจ้างมีวินัยมากขึ้น ส่วนที่จ้างอยู่ก็ไม่ต้องกังวล เพราะ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ย้ำเสมอไม่มีเลิกจ้าง

แล้วควรมีทางออกอย่างไร เพราะแค่ยกเลิกระเบียบกระทรวงการคลัง หรือจัดทำกรอบอัตรากำลังการว่าจ้างอย่างเดียวคงไม่ได้ เนื่องจากแรงงานที่อยู่ในส่วนราชการมีหลายประเภท ประเภทที่ไม่ใช่ลูกจ้างราชการ ไม่ใช่พนักงานกระทรวง พวกเขาไม่มีสิทธิประกันสังคม คนกลุ่มนี้ถูกจ้างเหมา แต่ทำงานจริงเหมือนลูกจ้างทั่วไปก็ยังมี สิ่งสำคัญต้องทำให้ถูกประเภท และควบคุมไม่ให้เกิดการจ้างลักษณะนี้
อีก ส่วนหากกรอบอัตรากำลังไม่พอ ต้องหารือส่วนกลางว่าจะทำอย่างไร

ดังนั้น หากรัฐบาลประกาศนโยบายชัดๆ ไปว่า ลูกจ้างส่วนราชการต้องได้สิทธิสวัสดิการเทียบเท่าลูกจ้างเอกชน โดยเฉพาะมีโอกาสเข้ากองทุนเงินทดแทนจากการจ้างงาน ยิ่งขณะนี้กำลังมีร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทนฉบับใหม่ จะให้สิทธิต่างๆ มากขึ้น ทั้งเจ็บป่วยอุบัติเหตุจากการทำงาน เงินสงเคราะห์ต่างๆ ซึ่งหากลูกจ้างส่วนราชการได้สิทธิก็จะเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image