อย.บุกจับ “เอเชีย สลิม” อ้างลดน้ำหนักแต่ใช้ยาชุด ผสมสารอันตรายถึงชีวิต(คลิป)

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่  6 มิถุนายน   นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ พล.ต.ต.ศุภเศรษฐ์ โชคชัย ผบก. ปคบ. แถลงข่าวเกี่ยวกับการตรวจจับผลิตภัณฑ์ ” เอเชีย สลิม (Asia Slim)”

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ขณะนี้ สธ. และ อย.อยู่ระหว่างการเร่งทลายแหล่งผลิตและสถานที่เก็บสินค้าหรือโกดังของผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย อย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมักจะพบปัญหาการลอบผสมสารอันตราย โดยเฉพาะไซบูทรามีน ซึ่งคณะกรรมการวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ได้ยกระดับให้ไซบูทรามีน เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 1  เพื่อเพิ่มบทลงโทษให้หนักขึ้น คือ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000 บาท – 2,000,000 บาท ซึ่งล่าสุด อย.ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ชื่อ “เอเชีย สลิม (Asia Slim)” ที่มีการจำหน่ายและโฆษณาผ่านทางโซเชียลมีเดีย และมีผู้ใช้บางรายรับประทานแล้วเกิดอาการเบลอ  เจ้าหน้าที่ อย. จึงร่วมกับ ตํารวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กองบัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เข้าทำการตรวจสอบแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจำนวน 4 จุด  เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา

พ.ต.อ.วินัย วงษ์บุบผา รอง ผบก.ปคบ. กล่าวว่า จากการทลายแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Asia Slim 4 จุด พบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการผสมไซบูทรามีน และมีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ ยังพบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชื่อ Klean และ Extra White ที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่จึงยึดของกลางทั้งหมดเพื่อดำเนินคดี คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านบาท และส่งผลิตภัณฑ์ตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อหาสารที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคต่อไป ทั้งนี้ จะเอาผิดทั้งหมด 8 ข้อหา ดังนี้ 1.ขายยาชุด มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  2.ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท  3.ขายยาโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4.จำหน่ายอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท  5.จำหน่ายอาหารปลอม เนื่องจากแสดงฉลากเพื่อลวง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 10 ปี และปรับตั้งแต่  5,000 – 100,000 บาท  6.จำหน่ายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  7.จำหน่ายเครื่องสำอางปลอม ที่ใช้ฉลากแจ้งชื่อผู้ผลิตหรือแหล่งผลิตที่มิใช่ความจริง มีโทษจำคุก 3 เดือน หรือปรับ 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  และ 8.จำหน่ายเครื่องสำอางที่ใช้ฉลากซึ่งทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง มีโทษจำคุก 3 เดือน หรือปรับ 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

Advertisement

นพ.วันชัย กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ Asia Slim ฉลากระบุผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควบคุมน้ำหนัก แต่เมื่อแกะจากซอง พบว่า ภายในเป็นซองพลาสติกใส 2 ซอง และข้างในพบเป็นเม็ดยาลักษณะยาชุด ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยยาเม็ดสีเหลืองเป็นยาระบาย ส่วนแคปซูลภายในบรรจุไซบูทรามีน ซึ่งข้อสังเกตคือ ไซบูทรามีนจะมีลักษณะเป็นเกล็ดเล็กๆ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีทั้งไซบูทรามีน ทำให้เบื่ออาหาร และมียาระบาย ทำให้เกิดการถ่ายมากขึ้น ก็จะส่งผลให้น้ำหนักลดลงหรือผอมแน่นอน แต่มีผลเสียต่อร่างกายอย่างมาก เพราะไปเป็นพิษต่อตับและไต ที่สำคัญคือ ทำให้ร่างกายขาดน้ำ และยิ่งคนอ้วนที่มีหัวใจไม่แข็งแรง พอระบบร่างกายมีปัญหาก็ทำให้หัวใจวายตามมา ซึ่งคนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่พบว่าจะกินมาเป็นเวลานาน

นพ.วันชัย กล่าวว่า ปัญหาอย่างหนึ่งของผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายเหล่านี้คือ มีการตั้งชื่อเพื่อหลอกลวงประชาชน เช่น ใช้คำว่า Slim หรือ Extra White ซึ่งตามกฎหมายของ อย.ห้ามใช้ 2 คำนี้มาตั้งชื่อสินค้าหรือโฆษณา เพราะทำให้หลงเชื่อว่ากินแล้วผอม ทาแล้วขาวทันใจ แต่มีการแอบใส่สารอันตรายลงไป ซึ่งจะไว้ใช้หลอกขายวัยรุ่น หรือผู้หญิงที่อยากผอมอยากขาว ซึ่งปัจจุบันไม่ได้มีแค่ผลิตภัณฑ์ที่แอบทำแล้วขายตามโซเชียลมีเดีย ที่ตั้งชื่อโดยใช้คำว่า Slim หรือ Extra White เท่านั้น แต่ผลิตภัณฑ์ถูกกฎหมายหรือของบริษัทรายใหญ่ก็มีการใช้คำเหล่านี้เหมือนกัน เพราะเห็นว่าสามารถทำได้ ตั้งชื่อเช่นนี้ได้ ทั้งที่ อย.ห้าม เนื่องจากจะมีความผิดฐานโฆษณา โดยหลังจากนี้ อย.จะค้นในระบบว่ามียี่ห้อใดบ้างที่ตั้งชื่อด้วยคำต้องห้าม และจะเชิญทั้งหมดมาพูดคุยทำความเข้าใจ ซึ่งเชื่อพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะรายใหญ่ที่ไม่อยากทำอะไรที่ผิดกฎหมาย เรียกว่าถึงเวลาต้องมาขันน็อตระบบใหม่เรื่องการตั้งชื่อและโฆษณาที่ใช้คำต้องห้ามใหม่ สำหรับผลิตภัณฑ์นำเข้า ซึ่งต่างประเทศอาจอนุญาตให้ใช้คำเหล่านี้ แต่เมื่อนำเข้ามาในไทยก็ต้องเปลี่ยนชื่อตามข้อกำหนดของไทยด้วยเช่นกัน

Advertisement

เมื่อถามว่าการที่ผลิตภัณฑ์ตั้งชื่อที่มีคำต้องห้ามของ อย.ได้ จนไปโฆษณาทางโทรทัศน์และสื่อต่างๆ อย่างถูกต้อง มาจากความหละหลวมของระบบจดแจ้งหรือไม่  นพ.วันชัย กล่าวว่า ยอมรับว่าที่ผ่านมาระบบจดแจ้งทางออนไลน์หรือ E-Submission เมื่อยื่นจดแจ้งก็จะอนุมัติทันที แต่ปัจจุบันได้ปรับปรุงระบบใหม่ โดยจะใช้ 3 วันในการตรวจสอบก่อนอนุมัติ ซึ่งหากมีคำต้องห้ามเหล่านี้ก็จะไม่อนุญาต นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งยังเกิดจากการที่จดแจ้งชื่อถูกต้อง แต่เมื่อไปผลิตจริงแล้วไปผลิตอีกอย่างหนึ่ง หรือผลิตไม่ตรงตามที่จดแจ้งไว้ จึงเป็นที่มาของการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิต หรือนําเข้าเครื่องสําอา พ.ศ. 2561 ซึ่งหากพบว่าโรงงานผลิตไม่ถูกต้อง สามารถสั่งปิดโรงงานได้ทันที ก็จะทำให้โรงงานไม่กล้าทำอะไรที่ผิดกฎหมาย เพราะไม่อยากเสี่ยงถูกปิดโรงงาน

เมื่อถามถึงการลักลอบนำเข้าไซบูทรามีน  นพ.วันชัย กล่าวว่า การลักลอบมีหลายทาง ซึ่งต้องประสานกรมศุลกากรในการจับตาตามด่านต่างๆ แต่ยอมรับว่าดำเนินการได้ยาก เนื่องจากมีลักษณะเป็นผงเป็นเกล็ด แต่ก็มีการยกระดับไซบูทรามีนขึ้นเพื่อเอาโทษให้หนักมากขึ้น ส่วนความผิดของคนรีวิวผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไซบูทรามีนจะมีความผิดเพิ่มมากขึ้นด้วยหรือไม่นั้น ขอชี้แจงว่าระดับความผิดจะพิจารณาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือเป็นเจ้าของร่วมสินค้านั้นหรือไม่ ซึ่งหากเป็นคนรับจ้างรีวิวธรรมดาที่รับเงินครั้งเดียวแล้วจบโทษก็จะเบากว่า แต่หากตรวจสอบเส้นทางการเงินแล้วพบว่า เป็นเครือข่ายหรือตัวแทนจำหน่าย ที่เป็นเจ้าของร่วมคือมีรายได้จากการจำหน่ายด้วยนั้น โทษก็จะสูงขึ้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image