วท.จับมือเอกชนหนุนใช้งานวิจัยพัฒนา ‘ปุ๋ยอินทรีย์’ จากของเหลือทิ้งอุตสาหกรรมน้ำตาล (คลิป)

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 11 มิถุนายน ที่ ต.หนองโพ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) พร้อมคณะ นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ที่กลุ่มบริษัทเกษตรไทย อินเตอน์ เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS ได้เข้าร่วมในโครงการ “ใช้งานวิจัยในการพัฒนาการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากของเหลือทิ้งอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง”  รวมถึง “การวิจัยและพัฒนาการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีเพื่อใช้สำหรับการปรับปรุงดินและทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี” ที่จะสามารถลดต้นทุนการปลูกอ้อย ได้ร้อยละ 30 อีกทั้งยังช่วยปรับปรุงและสร้างความอุดมสมบูรณ์ของดินได้อย่างยั่งยืน

นายสมชาย สุวจิตตานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจอ้อยและน้ำตาล บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนลฯ กล่าวว่าภายใต้โครงการนี้ และพละกำลังการผลิตของบริษัทกลุ่ม KTIS จะสามารถทำให้เกิดการต่อยอดเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตได้อย่างครบถ้วนเต็มที่ และเปลี่ยนของเสียเหลือใช้มาเพิ่มมูลค่าให้เติบโตอย่างยั่งยืน และยังสามารถทำประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมท้องถิ่นในด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตลอดจนการใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างคุ้มค่า เพื่อดำเนินการวิจัย ส่งเสริม และสนับสนุนการทำไร่อ่อยให้ทันสมัย ซึ่งได้ลงนามข้อตกลงกับสถาบันการศึกษาชั้นนำหลายแห่งรวมถึง วว., โดยมีจุดมุ่งหมายในการต่อยอดพัฒนาการเกษตรตามนโยบายของรัฐ Thailand industry 4.0  และช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อยของชาวไร่อ้อยที่เป็นคู่สัญญากับทางบริษัทกว่า 10,000 ราย รวมถึงชาวไร่อ้อยอื่นๆ เราก็จะมีกลุ่มนักวิจัยที่จะมาช่วยให้ความรู้ต่างๆ อีกมากมาย

Advertisement

“เราขอร่วมมือเป็นหนึ่งและผลักดันแนววิจัยสิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพของภาคบุคคล และภาคอุตสาหกรรมในการแข่งขันเชิงพาณิชย์ได้ในระดับสากล ซ้ำยังได้เพิ่มมูลค่าในการเติบโตได้อย่างยั่งยืนและมั่งคั่ง ตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ซึ่งหวังว่าการมาเยือนของคณะรัฐมนตรีว่าการ วท.ในครั้งนี้ จะได้รับประโยชน์มาใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมของประเทศไทยต่อไป” นายสมชาย กล่าว

ด้านนายสุวิทย์ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งความร่วมระหว่างองค์กรมีอยู่หลายโครงการด้วยกัน โดยเฉพาะการนำของที่ไร้ประโยชน์มาทำให้มีประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการนำกากอ้อย หรือมันสำปะหลังมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ และยังเพิ่มสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ลดการใช้เวลาการหมักปุ๋ยที่ต้องใช้เวลาในการหมัก 3 เดือน จากเดิม แต่ด้วยผลการวิจัยนี้จะทำให้สามารถลดระยะเวลาการหมักเป็น 1เดือน เท่านั้น

Advertisement

“ผมคิดว่าการร่วมมือนี้เป็นตัวอย่างที่ดีในการที่เราจะสามารถขับเคลื่อนประเทศไปให้เป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมอย่างแท้จริง โดยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม” นายสุวิทย์ กล่าว

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image