ฉลามขาว จับกลุ่มทุนรุกป่าชายเลนชุมพร ทำบ่อเลี้ยงกุ้ง-สวนปาล์ม เสียหายกว่า 415 ไร่

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ตั้งแต่ช่วงเช้า นายรัชชัย พรพา ผู้อำนวยการส่วนป้องกันและปราบปราม ในฐานะหัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษฉลามขาว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 43 (ปะทิว ชุมพร) กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ ทหาร ตำรวจ กรมที่ดิน และผู้นำท้องถิ่น นำเจ้าหน้าที่กว่า 50 นาย เปิดปฎิบัติการเข้าตรวจสอบการใช้ประโยชน์ที่ดินรอบเขตอนุรักษ์ป่าชายเลน พื้นที่ ม.4 ต.หาดทรายรี อ.เมือง จ.ชุมพร หลังจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชน พบกลุ่มนายทุนอย่างน้อย 2 ราย เข้าไปยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าโดยการปลูกปาล์มน้ำมันและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และไม่อนุญาตให้ใครเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ โดยเป้าหมายพื้นที่ตรวจยึดเป็นป่าชายเลน 2 จุด จำนวน 415 ไร่ แยกเป็นพื้นที่เพิกถอนเอกสารสิทธิ นส.3 ก.จำนวน 13 ฉบับ รวมพื้นที่ 275 ไร่ และพื้นที่บุกรุกไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ จำนวน 140 ไร่ ทั้ง 2 แปลง อยู่ในท้องที่หมู่ 4 บ้านดอนพลับ ต.หาดทรายรี อ.เมือง จ.ชุมพร

จุดแรก เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจยึดพื้นที่เป้าหมาย ทางตอนใต้ของพื้นที่หมู่ 4 บ้านดอนพลับ จำนวน 140 ไร่ ซึ่งอยู่ในป่าชายเลน มีนายทุนเข้าบุกรุกยึดครองทำสวนปาล์มน้ำมันและเลี้ยงสัตว์น้ำโดยไม่มีเอกสารสิทธิ์การครองครองใดๆ พบการบุกรุกปลูกปาล์มน้ำมันอายุประมาณ 3 ปี นอกจากนี้ยังพบร่องรอยการใช้เครื่องจักรปรับสภาพพื้นที่ โดยการขุดคูยกคันดิน ปิดกั้นประตูระบายน้ำไว้สำหรับเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ระหว่างตรวจค้นไม่พบผู้กระทำความผิด เจ้าหน้าที่จึงสอบถามข้อเท็จจริงกับ นางกฤตพร แซ่ลิ้ม กำนันตำบลหาดทรายรี กล่าวว่า เดิมบริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่มีเอก สารสิทธิครอบครอง แต่กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งให้เพิกถอนไปแล้ว 13 ฉบับ ส่วนพื้นที่ปาล์มน้ำมัน ปัจจุบันไม่ทราบว่าผู้ใดเข้ามายึดถือครอบครอง ทราบแต่เพียงว่าก่อนหน้านี้ ได้มีอดีต สจ.เขตอำเภอท่าแซะ เป็นผู้เข้ามาทำประโยชน์ ส่วนพื้นที่นากุ้งปัจจุบันทราบว่ามีการซื้อขายเปลี่ยนมือไปแล้ว แต่ยังไม่ได้มาแจ้งฝ่ายปกครองในพื้นที่

Advertisement

ขณะที่จุดที่ 2 อยู่ทางทิศเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกับจุดแรก จากการตรวจสอบมีการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าและสายส่งไฟฟ้าจากถนนลาดยางไปตามถนนลูกรังเข้าไปในพื้นที่บุกรุกทำนากุ้งมีระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร พบบ้านพักคนงาน 2 หลัง มีร่องรอยการขนย้ายทรัพย์สินบางส่วนหลบหนีไปก่อนหน้านี้ได้ไม่นาน บริเวณพื้นที่มีการทำคันคูปิดกั้นน้ำไม่ให้ขึ้นลงตามธรรมชาติและทำบ่อเลี้ยงกุ้งไว้จำนวนมาก ซึ่งพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่เพิกถอนเอการสิทธิ นส.3 ก.ที่โดยมิชอบ จำนวน 275 ไร่ คดีถึงที่สุดเมื่อปี 2547 หลังจากกรมที่ดินเพิกถอนออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบแล้วแต่ปัจจุบันยังมีนายทุน ครอบครอง และใช้ประโยชน์เช่นกัน แต่เป็นไปในลักษณะเปลี่ยนมือมาเป็นนอมินี

ต่อมา เจ้าหน้าที่ทำการรังวัดและเอาค่าพิกัดมาถ่ายทอดลงในแผนที่ทหาร ที่แสดงเส้นแนวเขตป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2530 และ 22 ส.ค.2543 ปรากฏว่า มีพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรีถึง 272 ไร่ อีก 124 ไร่ อยู่นอกเขตป่าชายเลน สภาพทั่วไปมีพันธุ์ไม้ป่าชายเลนขึ้นอยู่ เช่นโกงกางใบเล็ก ไม้ถั่ว ไม้ตาตุ่ม เป็นต้น

Advertisement

นายรัชชัย กล่าวว่า จากการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลังกลับไปในปี 2518 เป็นหลักฐานที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าพื้นที่บริเวณนี้เคยมีสภาพเป็นป่าที่ มีความอุดมสมบูรณ์และไม่น่าจะมีการออกเอกสารสิทธิ์ได้ ข้อมูลนี้สอดคล้องกับหลักฐานของกรมที่ดิน ที่ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2547 เคยมีหนังสือคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ลงวันที่ 30 ส.ค.2547 แจ้งให้ดำเนินการเพิกถอนแปลง นส.3 ก จำนวน 13 ฉบับ ออกไปจากพื้นที่ดังกล่าวไป โดยอ้างอิงเหตุผลของคณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งขณะนั้นพิจารณาแล้วเห็นว่า นส.3 ก ทั้ง 13 ฉบับ เป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายตามกฏกระทรวง ฉบับที่ 2 ประกอบกับกฏกระทรวงฉบับที่ 5 ออกตามความในพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฏหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ข้อ 8 (2) เพราะออกให้ในที่ดินที่มีสภาพเป็นป่า ไม่มีร่องรอยการทำประโยชน์และไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดิน (สค.1) และออกภายหลังมติ ครม.กำหนดป่าดังกล่าวไว้เป็นป่าชายเลน ดังนั้น การบุกรุกกระทำดังกล่าวเป็นการผิดต่อ พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 ฐานก่อสร้าง แผ้วถาง หรือกรทำการใดๆเพื่อทำลายป่า เข้ายึดครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้ยังมีความผิดที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 เบื้องต้น ได้ทำบันทึกตรวจยึดพื้นที่ไว้ทั้งหมดประมาณ 415 ไร่ โดยหลังจากนี้จะรวบรวมพยานหลักฐานเข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สภ.ปากน้ำชุมพร เพื่อสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฏหมายต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image