ดีเบตแบบสับ! งัดหลักฐานลึก แต่ไม่ลับ จับสังเกต ‘โกลเด้นบอย’ คือใครกันแน่ ?

ดีเบตแบบสับ! งัดหลักฐานลึก แต่ไม่ลับ จับสังเกต ‘โกลเด้นบอย’ คือใครกันแน่ ?

เดินทางเหินฟ้ามาถึงไทยเรียบร้อยแล้วในช่วงเช้าวันนี้ สำหรับ ‘โกลเด้นบอย’ ประติมากรรมสำริดเลอค่า ที่พลัดพรากไปจากแผ่นดินอีสานเมื่อเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา

เตรียมให้ประชาชนยลโฉม 22 พฤษภาคมนี้ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ

แม้มีกระแสตั้งคำถามในโลกออนไลน์ก่อนหน้านี้ ว่านี่คือ ‘ของปลอม’ หรือไม่ ? ทว่า นักวิชาการหลายรายร่วมกันฟันธงว่า ของจริงแท้แน่นอน

ADVERTISMENT

ไม่ว่าจะเป็น รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่พยักหน้ายืนยัน ‘เห็นพ้อง’ กับมุมมองของ ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ หนึ่งในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ที่เคยให้สัมภาษณ์มติชน ว่า ของจริงชัวร์ๆ ด้วยเหตุผลด้านรูปแบบศิลปะที่ว่า ‘เป๊ะ’ รวมถึงปากคำของคนท้องถิ่นอันเป็นประจักษ์พยานในการขุดขายฝรั่งไปในสนนราคาแค่ล้านเดียวเมื่อ พ.ศ.2518

ส่วนประเด็นที่ว่าเป็นของ ‘ก๊อบเกรดเอ’ โดยเลียนแบบจากประติมากรรมที่ ‘ปราสาทสระกำแพงใหญ่’ ศรีสะเกษ หรือไม่นั้น

ADVERTISMENT

ดร.ทนงศักดิ์ยืนยันว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ เพราะโกลเด้น บอย ถูกพบตั้งแต่ พ.ศ.2518 มีการซื้อขายออกนอกประเทศก่อนการขุดพบโบราณวัตถุที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ เมื่อ พ.ศ.2532

พูดง่ายๆ คือ ของที่เจอก่อน จะมาเลียนแบบของที่เจอทีหลังได้อย่างไร ?

ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ (แฟ้มภาพ)

ในขณะที่ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ก็มีความเห็นไม่แตกต่างกัน โดยหยิบยกประวัติการรับมอบของทางพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐ

“ผมไม่คิดว่าโกลเด้น บอยเป็นของทำเทียมเลียนแบบ เพราะตามประวัติ THE MET ได้รับมอบเมื่อ พ.ศ.2531 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาก่อนที่จะขุดพบประติมากรรมสำริดจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ อีกทั้งรูปแบบศิลปกรรมมีลักษณะถูกต้องตามแบบแผนศิลปะเขมร” รศ.ดร.รุ่งโรจน์เสริมเหตุผลให้ยิ่งหนักแน่น

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ประวัติศาสตร์ท่านนี้ ‘ไม่เห็นด้วย’ กับแนวคิดที่ ดร.ทนงศักดิ์ รวมถึงภัณฑารักษ์ที่ THE MET ซึ่งเผยแพร่ข้อเขียนในเอกสารของพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวตั้งแต่ ค.ศ.1989 ว่าโกลเด้น บอย คือ พระรูป พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 กษัตริย์กัมพูชา

เตรียมเขียนบทความแจงข้อมูลขยี้ประเด็นเน้นๆ นับสิบหน้าตีพิมพ์เผยแพร่เร็วๆ นี้ ลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์นี้

ก่อนชาวโลกจะได้อ่านเนื้อหาฉบับเต็ม มาแย้บถามชิมลางถึงเหตุผลที่มั่นใจ ยืนเด่นโดยท้าทาย ว่า (ทำไม) โกลเด้น บอย จึงไม่ใช่พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 รวมถึงพระศิวะ ดังที่เคยมีผู้สันนิษฐานมาก่อนหน้า?

⦁ ทรงผมเป็นเหตุ สังเกตได้! ปัดตก ‘พระศิวะ’
ยกเทียบประติมากรรม ‘ปราสาทสระกำแพงใหญ่’

ก่อนอื่น รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ทบทวนวรรณกรรมตามธรรมเนียมทุกประการ เริ่มจากการอ้างถึงข้อเสนอของ M. Lerner นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวอเมริกัน อดีตภัณฑารักษ์ประจำ THE MET ที่เชื่อว่าโกลเด้น บอย คือ ‘รูปสนองพระองค์พระเจ้าชัยวรมันที่ 6’ หรือประติมากรรมรูปเสมือนพระราชาที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ทำนองเดียวกันกับพระบรมบูรพมหากษัตริย์ในปัจจุบัน โดยให้เหตุผลไว้ว่า เพราะประติมากรรมชิ้นนี้ไม่ได้แสดงสัญลักษณ์อะไรที่จะสามารถบ่งบอกว่าเป็นเทวะองค์ใดของศาสนาที่มาจากชมพูทวีป อีกทั้งถ้าเป็นสามัญชนจะมีประติมากรรมสำริดรูปเหมือนได้อย่างไร พิจารณาจากประติมากรรมองค์นี้มีเครื่องประดับย่อมจะต้องไม่ใช่บุคคลธรรมดา ประกอบรูปแบบของประติมากรรมจัดอยู่ศิลปะเขมรแบบบาปวน

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.รุ่งโรจน์มองว่า ข้อมูลการค้นพบตำแหน่งที่พบประติมากรรมชิ้นนี้และบริบทของหลักฐานที่พบร่วมมีข้อจำกัดมาก ทราบเพียงแต่ว่าพบที่บ้านยาง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ (อ้างอิงจากหนังสือ Khmer Gold Gift for the Gods โดย E. C. Bunker, D A.J. Latchford, 2008) จึงเกิดข้อกังขาว่าโกลเด้น บอยจะเป็นรูปสนองพระองค์พระราชาได้หรือไม่ ที่สำคัญคือศิลปกรรมของประติมากรรมชิ้นนี้จะสามารถตีความว่าเป็นพระรูปของพระองค์พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ได้จริงหรือ?

ทว่าข้อกังขาแรกตกไป ด้วยเหตุผลที่ รศ.ดร.รุ่งโรจน์เทียบเคียงเองว่า ถ้าประติมากรรมจากปราสาทสระกำแพงใหญ่เป็นพระรูปสนองพระองค์พระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 (ตามข้อสันนิษฐานของตนเองโดยมีรายละเอียดมากมาย) ดังนั้น โกลเด้น บอย ก็มีสิทธิที่จะเป็นพระรูปสนองพระองค์ได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการที่ประติมากรรมดังกล่าว ทรงศิราภรณ์ ไม่ไว้ผมทรงชฎามงกุฎอันเป็นเอกลักษณ์ของ ‘พระศิวะ’ แต่อย่างใด

ประติมากรรมพบที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ ศรีสะเกษ ถูกตั้งคำถามว่าเป็นต้นแบบ ‘ทำเทียม’ ให้โกลเด้น บอย หรือไม่

⦁ ‘รูปเสมือน’ สร้างหลัง ‘สิ้นพระชนม์’
เช็กศักราช เทียบศิลปะ ‘ชัยวรมันที่ 6’ จึงไม่เมกเซนส์!

“จากข้อเสนอของ M. Lerner ที่ว่าโกลเด้น บอยเป็นพระรูปสนองพระองค์พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ผมกลับมีความเห็นแตกต่างออกไป

ประเด็นแรก คือ ถ้าเป็นพระรูปสนองพระองค์พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 จริงก็ควรหล่อขึ้นหลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ซึ่ง ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ (นักวิชาการชาวฝรั่งเศส) เคยเสนอว่า จากข้อความในจารึกปราสาทแปรรูป กัมพูชา พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ขึ้นเสวยราชสมบัติในมหาศักราช 1002 (พ.ศ.1623) และพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1 เป็นผู้เสวยราชสมบัติสืบต่อจากพระองค์ ใน พ.ศ.1651 ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เชื่อได้ว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ก็ควรที่จะสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.1651 ซึ่ง ช่วงระยะเวลาดังกล่าวนักประวัติศาสตร์ศิลปะได้จัดให้อยู่ช่วงศิลปะแบบนครวัดตอนกลาง แต่โกลเด้น บอยจัดอยู่ในศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย” รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ยิงหมัดตรง จี้จุดไปที่ ‘รูปแบบ (ประวัติศาสตร์) ศิลปะ’

จากนั้น ยกอีกเหตุผลมาหนุนเสริม นั่นคือ ภาพจำหลักพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 บริเวณระเบียงคดชั้นนอกด้านทิศใต้ปีกตะวันตกของปราสาทนครวัด กัมพูชา จารึกที่สลักอยู่ข้างรูปมีการออกพระนาม ‘ปรมวิษณุโลก’ ซึ่งเป็นพระนามหลังสิ้นพระชนม์ของพระองค์ เช่นเดียวกับจารึกที่กล่าวถึงการสถาปนาพระรูปสนองพระองค์อื่นๆ อาทิ จารึกที่ปราสาทบริวารในปราสาทบายน และปราสาทบันทายฉมาร์ ในแดนกัมพูชา ล้วนแต่เป็นบรรพชนที่ลาลับดับสูญหรือพระญาติวงศ์ที่วางวายสิ้นชีพ รวมถึงที่ระเบียงคดด้านทิศใต้ปีกทิศตะวันตกของปราสาทนครวัดที่มีรายชื่อชนชั้นสูงที่โดยเสด็จพระปรมวิษณุโลก

“ส่วนพระรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ปรางค์พรหมทัต ปราสาทพิมาย ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานว่าแกะขึ้นในขณะยังมีพระชนม์หรือไม่ แต่ผมตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าพระองค์มีพระชนม์คงไม่บัญชาให้แกะรูปสนองพระองค์มาตั้งอยู่บนฐานรูปเคารพแล้วมาประดิษฐานเป็นแน่

อีกทั้ง ถ้าคิดว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 สร้างประติมากรรมชิ้นนี้คือพระรูปสนองพระองค์เพื่อเป็นการประกาศอาณาบารมีของพระองค์ในขณะที่ยังดำรงพระชนม์ชีพ เหตุใดจึงไม่สร้างรูปที่เกี่ยวข้องกับในศาสนา ดังพระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 สถาปนาพระชัยพุทธมหานาถ

ด้วยเหตุนี้เราจะมั่นใจได้เพียงใดว่าโกลเด้น บอย คือ ประติมากรรมสนองพระองค์พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ขณะมีพระชนม์ชีพ”

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล

⦁ สบพระเนตร จ้องผ้านุ่ง ค้นลึกเขมร-ไทย
‘อุทัยทิตยวรมันที่ 2’ คือคำตอบ

ส่วน ประเด็นที่สอง รศ.ดร.รุ่งโรจน์เผยว่า ในปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานด้านจารึกที่กล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ว่าทรงสถาปนาศาสนสถานแห่งใด อันจะนำไปสู่ข้อวินิจฉัยว่ารูปแบบศิลปกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของพระองค์เป็นเช่นใด

อย่างไรก็ตาม ข้อความในจารึกปราสาทหินพิมาย 3 ซึ่งเป็นจารึกที่กรอบประตูโคปุระด้านทิศใต้หน้าปราสาทระบุว่า มหาศักราช 1034 (ตรงกับ พ.ศ.1655) มีการอุทิศรูปเคารพให้เป็นบริวารของรูปเคารพประธาน แสดงว่าปราสาทประธานของปราสาทหินพิมายน่าจะเสร็จสิ้นก่อนหน้านั้น นั่นคือช่วงรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 นั่นเอง

“ดังนั้น ถ้าโกลเด้น บอย เป็นพระรูปสนองพระองค์พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ก็ควรมีลักษณะของการนุ่งผ้าและกรองศอที่มีลักษณะใกล้เคียงกับภาพจำหลักที่ปราสาทหินพิมาย แต่เมื่อพิจารณาภาพพระโพธิสัตว์วัชรปาณีที่เสาประดับฝาผนังด้านทิศใต้ของมณฑปด้านหน้าปราสาทประธาน จะพบว่าไม่ได้นุ่งผ้าที่มัดปมผ้าที่กึ่งกลางหน้าท้องและขอบผ้าด้านหน้าเว้าต่ำกว่าด้านหลัง อีกทั้งกรองศอของพระโพธิสัตว์ก็เป็นแถบสามเหลี่ยมขนาดใหญ่

ขณะที่โกลเด้น บอยมีรูปแบบการผ้านุ่ง กรองศอ รวมถึงการเซาะร่องที่คิ้ว ลูกตา และหนวดเหมือนกับประติมากรรมจากปราสาทสระกำแพงใหญ่ ศรีสะเกษ และประติมากรรมพระวิษณุบรรทมสินธุ์จากปราสาทแม่บุญตะวันตก ในกัมพูชา อีกทั้งที่ชายผ้าด้านหลังก็เป็นรูปผีเสื้อซึ่งเหมือนกับชายผ้าด้านหลังของประติมากรรมจากปราสาทเบง ในกัมพูชา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะเขมรแบบบาปวน

วิษณุบรรทมสินธุ์ จากปราสาทแม่บุญตะวันตก กัมพูชา คิ้ว ตา หนวด ‘เซาะร่อง’ เหมือนโกลเด้นบอย

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เชื่อได้ว่าประติมากรรมทั้ง 3 นี้มีอายุร่วมสมัยกันคือมีอายุอยู่ในต้นพุทธศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นระยะเวลานาน

ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่โกลเด้น บอย อาจเป็นพระรูปสนองพระองค์พระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 ประเด็นนี้ต้องขอตัดออกไป เพราะลักษณะพระพักตร์และขนาดความสูงมีความแตกต่างกับประติมากรรมสำริดจากปราสาทสระกำแพงใหญ่อย่างชัดเจน

ผมจึงขอเสนอว่าโกลเด้น บอย ควรที่จะเป็นพระรูปสนองพระองค์พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 พระโอรสของพระเจ้าสูรยวรมันที่ 1 ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.1609 อันเป็นช่วงระยะเวลาที่สอดคล้องกับรูปแบบงานศิลปกรรมของประติมากรรมโกลเด้น บอย” รศ.ดร.รุ่งโรจน์สรุปรวบตึง

สนใจสั่งซื้อ ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ Golden boy ราคาพร้อมส่ง 190.-

Shopee : https://s.shopee.co.th/2VVry74UXd
Lazada: https://shorturl.asia/RLm8k
LineShop. https://bit.ly/3wEnzYv
Web. https://shorturl.asia/suFvX
LineOA. https://lin.ee/4SnVmUL

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image