ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมศิลปากรได้ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามผลกระทบของสถานการณ์อุทกภัยที่มีต่อโบราณสถานสำคัญของจังหวัด พบว่า พื้นที่เวียงกุมกาม ที่เป็นเมืองโบราณสมัยพญามังรายปฐมกษัตริย์ล้านนา ที่ตั้งอยู่ในอำเภอสารภี ถูกน้ำท่วมหนักสุดและยังไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่เพื่อสำรวจความเสียหายได้ เบื้องต้นได้ตัดระบบไฟฟ้ายังศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวชั่วคราวไว้ ซึ่งภายในพื้นที่มีโบราณสถานที่เป็นวัดโบราณมากถึง 14 แห่งถูกน้ำท่วม หนักสุดคือวัดกู่เตี้ย ที่เป็นพื้นที่ต่ำถูกกระแสน้ำแรงซัดต่อเนื่อง คาดว่าน้ำจะลดระดับลงภายใน 3- 4 วัน จากนั้นเจ้าหน้าที่จะเร่งเข้าไปสำรวจความเสียหาย สำหรับวัดโบราณภายในพื้นที่เวียงกุมกามส่วนใหญ่ใช้อิฐใหม่ในการบูรณะซ่อมแซมมีการเสริมตัวฐานรากช่วยลดความเสี่ยงของการพังทลายการซ่อมแซมอาจจะนำอิฐใหม่เปลี่ยนอิฐที่เปื่อยจากการแช่น้ำ
นอกจากนี้ ยังลงพื้นที่สำรวจความเสียหายที่วัดผาลาดเชิงดอยสุเทพ ที่เป็นโบราณสถานที่มีนักท่องเที่ยวเข้าชมจำนวนมาก พบความเสียหายจากการแรงปะทะของน้ำเข้ากับตัวโบราณสถาน และสถาปัตยกรรมภายในพื้นที่ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความชื้นของพระพุทธรูป และโบราณวัตถุต่างๆ พร้อมกันนี้ยังให้วางแผนออกแบบผังเบี่ยงน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวเพื่อลดแรงปะทของน้ำหลากเข้าโบราณสถานโดยตรง พร้อมกันนี้ยังได้สำรวจวัดอุโมงค์ บริเวณเชิงดอยสุเทพ ที่พบปัญหาความชื้นสะสม ที่น่าห่วง คือ ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังรอบบริเวณ ที่จะได้รับความเสียหาย จึงมอบหมายให้สำนักศิลปากรเชียงใหม่จัดแผนเตรียมความพร้อมภายหลังน้ำลดให้เร่งเข้าสำรวจพื้นที่ จากนั้นจัดแผนการบูรณะโดยใช้งบประมาณฉุกเฉินของกรมศิลปากร ซ่อมตามความจำเป็นเน้นความเสียหายหนักบูรณะก่อน ควบคู่กับการจัดแผนรับมือพื้นที่เสี่ยงรับน้ำลุ่มเจ้าพระยา จ.พระนครศรีอยุธยาที่เบื้องต้นยังไม่ได้รับความเสียหาย แต่อย่างใดแต่ได้กำชับให้สำนักศิลปากรอยุธยา และอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยารายงานสถานการณ์และรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง