คณะโบราณฯ พิสูจน์แล้ว เปิดวิจัยล่าสุดขุดลึก ‘บรรพชนคนไทย’ สรุปมาจากไหน? – ต่อจิ๊กซอว์ DNA จากโครงกระดูกหญิง 13,000 ปี ไข ‘วัฒนธรรมโลงไม้’ เชื่อมโยงทั้งเอเชียอาคเนย์
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) เขตพระนคร กรุงเทพฯ เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดเวทีแถลงข่าว ‘ค้นความหลากหลาย ไท-ไทย’ เพื่อสร้างความเข้าใจถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ซึ่งก่อร่างมาเป็นประเทศไทย ตลอดจนลดอคติทางวัฒนธรรม อันเป็นสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งหลายประการในสังคมไทย
บรรยากาศเวลา 10.00 น. มีการเสวนา ‘ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษา และชาติพันธุ์ของผู้คนในดินแดนไทย’ ซึ่งเป็นการเปิดผลการวิจัยล่าสุด ได้แก่ การค้นพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพันธุกรรมศาสตร์ทางโบราณคดี สอดคล้องสัมพันธ์กับการศึกษาวิจัยอื่นๆ ที่ดำเนินการโดยสาขาวิชาต่างๆ ของคณะฯ
ซึ่งช่วยตอบคำถามทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาของผู้คนบนดินแดนไทย สะท้อนว่า ไทยเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และ วัฒนธรรมเป็นอย่างมาก มีการอยู่ร่วมกันของผู้คนที่แตกต่าง ซึ่งหลอมรวมทางวิถีชีวิตมาร่วมกันอย่างยาวนาน
โดยนำเสนอมุมมองทั้ง 4 ด้านดังนี้ ด้านโบราณคดีโดย ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช และอาจารย์ ดร.นฤพล หวังธงชัยเจริญ จากภาควิชาโบราณคดี, ด้านภาษาและจารึก โดย ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา ภาควิชาภาษาตะวันออก, ด้านมานุษยวิทยา โดย ผศ.ดร.ดำรงพล อินทร์จันทร์ ภาควิชามานุษยวิทยา, ด้าน ประวัติศาสตร์ศิลปะ โดย รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ดำเนินรายการโดย น.ส.วรรณศิริ ศิริวรรณ ผู้ประกาศข่าวสำนักข่าวไทย (อสมท.) อดีตศิษย์เก่า
ในช่วงแรก ศ.ดร.รัศมี จากภาควิชาโบราณคดี กล่าวถึงการคัดเลือกสถานที่ศึกษา ว่าทำไมจึงต้องเป็นที่ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน โดยเผยว่า เหตุที่ส่วนตัวสนใจเรื่องยุคก่อนประวัติศาสตร์ เพราะเป็นเหมือน ‘จุดตั้งต้น’ ความเป็นมาของ คนที่อยู่ในดินแดนประเทศไทย
“กว่าจะเป็นเชือก เราเห็นแต่ละเส้น ทางภาคเหนือ อีสาน มีใครที่อยู่มาก่อนบ้าง ถ้าเราเห็นว่า ช่วงไหน คนของเขาเป็นมาอย่างไร มีวัฒนธรรมอย่างไร เมื่อนำมารวมทอเป็นเชือก กลายเป็นคนไทย เราก็จะเข้าใจมากขึ้นถึงความเป็นมาของเรา”
ศ.ดร.รัศมีกล่าวต่อว่า ที่อำเภอปางมะผ้า เหมือนห้องปฏิบัติการทางธรรมชาติ เดินทางยาก ติดต่อลำบาก ลักษณะหลายอย่างจึงยังดำรงอยู่ ซึ่งเราพบอะไรที่ต่อเนื่องตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน
“ตอนที่เจอโครงกระดูกคนอายุ 13,000 ปี เป็นผู้หญิง แล้วเขาใช้เครื่องมือหินกะเทาะ แสดงว่าคนแรกเริ่มในพื้นที่ตรงนั้น มีวัฒนธรรมแบบนี้ ซึ่งยังสอดคล้องกับพื้นที่อื่นๆ เหมือนกัน อย่างเช่น ที่ภาคใต้ หรือกาญจนบุรี ก็มีแบบนี้ วัฒนธรรมแรกเริ่มนั้นมันเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต แล้วเราก็ค้นพบร่องรอยของวัฒนธรรม ที่เรียกว่า ‘วัฒนธรรมโลงไม้’
ในการศึกษาเรื่องโลงไม้ ในด้านความก้าวหน้าทางวิทยาการการวิเคราะห์ เราทำงานบูรณาการกันกับนักวิทยาศาสตร์ ที่ทำเรื่อง DNA จากกระดูก จากการศึกษา DNA ช่วยยืนยันได้ว่า มันมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่มาจากที่อื่น แล้วมาผสมกับคนพื้นเมืองท้องถิ่นดั้งเดิม แต่ในขณะเดียวกันคนพื้นถิ่นตรงนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนปัจจุบัน
ในหลักฐานที่เราเจอ จาก DNA 2,000 กว่าปีถึง 1,600 ที่ อ.ปางมะผ้า เราเจอ DNA ของคน
ที่เปรียบเทียบกับคนที่พูดภาษาปัจจุบัน พูดภาษาไดอิก ซึ่งคืออาจจะคือตระกูลของคนที่พูดไทย แต่ไม่รู้ว่าไทยอะไร ข้อมูลเหล่านี้เหมือนจิ๊กซอว์ที่ต่อภาพว่า ระลอกของคนที่เข้ามาในดินแดนประเทศไทยมีใครบ้าง และการที่เขาอยู่หรือไม่อยู่ ไม่เหมือนกับปัจจุบัน มันอาจจะคลี่คลายในเชิงพันธุกรรมได้” ศ.ดร.รัศมีกล่าว และว่า
สังคมซับซ้อนยิ่งมีการติดต่อกับคนมากขึ้น เราก็พบว่าผู้คนจะมีการผสมผสานกันมากขึ้น และ genetic นั้น ได้เปลี่ยนไป
“มันถูกตั้งคำถามว่าคนไทยมาจากไหน คนอาจจะมองว่าตลก เรายังคิดเรื่องแบบนี้อยู่อีกหรือ ไม่ใช่ เรากำลังตั้งโจทย์เก่าแต่คำตอบใหม่ และเป็นเรื่องที่สังคมร่วมสมัยอยากรู้
เรายืนยันว่า ‘ไม่มีเชื้อชาติบริสุทธิ์’ แต่เราพบว่าบรรพบุรุษของคนที่อยู่ในดินแดนประเทศไทย มีความหลากหลาย ซึ่งความหลากหลาย เรามองหลายประเด็นมาก ทั้งในเรื่องของศาสนา วัฒนธรรม อัตลักษณ์ของคน ที่เขาบอกว่าจะ identify ตัวของเขาเองอย่างไร หรือแม้แต่ในเรื่องความเป็นชาติพันธุ์”
ศ.ดร.รัศมีชี้ว่า อย่างกรณีของ อ.ปางมะผ้า กำลังบอกว่า มีคนที่หลากหลายทางพันธุกรรมหลายชาติพันธุ์มานานแล้ว
“เราพบอะไรใหม่ที่น่าตื่นเต้น แต่ขณะเดียวกันก็นำไปสู่คำถามใหม่ สำหรับนักวิชาการ นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ในอนาคต ที่เราจะต้องช่วยกันสืบค้นต่อไป
ส่วนตัวมันคือ งานสำคัญของงานคณะโบราณคดี ที่ตอบโจทย์อะไรบางอย่างให้สังคม เราไม่ได้ตอบเฉพาะวิชาการ แต่เรากำลังตอบคำถามเรื่องใหญ่เกี่ยวกับความเป็นมาของเรา ให้แก่สาธารณะด้วย” ศ.ดร.รัศมีกล่าว
นอกจากนี้ ศ.ดร.รัศมี ยังชี้ด้วยว่า หลักฐานโครงกระดูกของมนุษย์สมัยใหม่ (homo sapiens) ปรากฏขึ้นในดินแดนที่เป็นประเทศไทยตั้งแต่เมื่อราว 13,000-1,600 ปีมาแล้ว
นอกจากนี้ รูปแบบของวัฒนธรรมการใช้เครื่องมือหินกะเทาะ ก็ยังเป็นลักษณะที่พบร่วมกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในภาคพื้นแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะ โดยเมื่อครั้งที่ดินแดนประเทศไทยยังอยู่ในยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ช่วง 4,000 ถึง 3,600 ปีมาแล้ว พื้นที่ทางตอนบนอย่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ก่อตั้งอาณาจักรเป็นสังคมระดับรัฐ ซึ่งการทำสงครามแย่งชิงกันหลายครั้ง ผลักดันให้กลุ่มคนที่วัฒนธรรมต่ำกว่าชาวฮั่นที่ถูกเรียกว่า ชนป่าเถื่อนร้อยเผ่า (เยว่) เคลื่อนย้ายจากจีนลงมาทางตอนใต้ ซึ่งเข้ามาปะปนผสมผสานกับกลุ่มคนดั้งเดิมที่ใช้วัฒนธรรมหินกะเทาะ นำพาภูมิปัญญาต่างๆ เข้ามาด้วย เช่น การใช้โลหะหรือการทำโลงไม้ ดังที่พบจากแหล่งโบราณคดีบนพื้นที่สูงแถบ จ.แม่ฮ่องสอน