ฎีกาชาวบ้าน : โดนรถชน รักษากับหมอไสยศาสตร์ก็เรียกค่ารักษาได้!?

กรณีที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ จากการทำละเมิดของผู้อื่น เช่น อุบัติเหตุทางถนน หากผู้ที่ได้รับบาดเจ็บนั้น ไปเข้ารับการรักษากับหมอไสยศาสตร์ มีประเด็นทางกฎหมายว่า จะสามารถเรียกค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายให้หมอไสยศาสตร์ไปนั้นจากผู้ทำละเมิดได้หรือไม่

เรื่องดังกล่าว มี คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4310 – 4311/2530

จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยประมาททับขาโจทก์ที่ 3 แพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าตรวจแล้ว มีความเห็นว่าต้องตัดขาทั้งสองข้าง โจทก์ที่ 3 ไม่ยอมให้ตัด ได้ออกจากโรงพยาบาลไปรักษาหมอกระดูกทางไสยศาสตร์อยู่ประมาณ 1 เดือนไม่หาย จึงไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลยาสูบ แพทย์ได้ตัดขาโจทก์ที่ 3 ทั้งสองข้าง

Advertisement

การที่โจทก์ที่ 3 ไม่ยอมตัดขาทั้งสองข้างแล้วไปรักษากับหมอกระดูกทางไสยศาสตร์นั้น เป็นเรื่องความเชื่อของโจทก์ที่ 3 ที่จะเลือกรักษาเช่นนั้นได้ เมื่อรักษากับหมอกระดูกทางไสยศาสตร์ไม่หายจึงไปรักษาที่โรงพยาบาลยาสูบโดยแพทย์ตัดขาทั้งสองข้าง ย่อมเป็นผลจากการทำละเมิดโดยตรงของจำเลยที่ 1 มิใช่เหตุแทรกซ้อน

จำเลยต้องชดใช้ค่ารักษาที่โจทก์ที่ 3 ใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลกับหมอกระดูกทางไสยศาสตร์ รวมทั้งค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลทั้งสอง และค่าใช้จ่ายที่มารดาโจทก์ที่ 3 ไปดูแลโจทก์ที่ 3 ขณะรักษาตัวอยู่ในที่ต่างๆ และพาโจทก์ที่ 3 ไปยังสถานพยาบาลต่างๆและพากลับบ้านด้วย

ทั้งนี้ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

Advertisement

หมายเหตุ : รายการฎีกาชาวบ้าน เป็นรายการกฎหมายใกล้ตัว ออกอากาศทาง www.matichon.co.th นายโอภาส เพ็งเจริญ คอลัมนิสต์สัพเพเหระคดี หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และนางสาวเสาวลักษณ์ สวัสดิ์กว้าน เป็นผู้ดำเนินรายการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image