ฐาปน แจง เอกชนรายใหญ่ ไม่ได้กินรวบประชารัฐ (คลิป)

มติชนทีวี 13 พ.ค. 2559 มติชน สมาร์ท บิซ ข่าวธุรกิจเพื่อคนรุ่นใหม่

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ เครือมติชน เกี่ยวกับการขับเคลื่อนและขยายงาน โครงการประชารัฐ รวมถึงการจัดตั้ง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต จำกัด ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ว่า เป็นแนวคิดที่เรียกว่า วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ social enterprise ซึ่งจะมี 5 ภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ร่วมเป็นเจ้าของและดำเนินการได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน

ส่วนกรณีที่บริษัทประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต จำกัด มีชื่อนายฐาปน เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่นั้นเป็นเพราะความตั้งใจที่จะให้เกิดขึ้นโดยเร็วจึงใส่เงินทุนเข้าไปเริ่มต้นก่อน หลังจากนั้น เอกชนทั้งในภูเก็ตและรายอื่นๆ ที่สนใจจะเข้ามาร่วมลงทุน ภาคประชาสังคม ชุมชน หรือภาควิชาการโดยมหาวิทยาลัยในพื้นที่ มีความพร้อมในการลงทุนก็จะทะยอยใส่เงินเข้ามา สัดส่วนทุนก็จะกระจายออกไป และลดสัดส่วนของตนลงไปเรื่อยๆ

นายฐาปนกล่าวด้วยว่าหลังจากเริ่มจัดตั้ง บริษัทประชารัฐรักสามัคคี ในจังหวัดนำร่อง เช่น ภูเก็ต เพชรบุรี เชียงใหม่ อุดรธานีแล้ว เชื่อว่าจะจัดตั้งได้ครบ 76 จังหวัดภายในเดือน ธ.ค. 2559 นี้ ซึ่งในแต่ละจังหวัดแต่ละพื้นที่ ก็จะมีทั้งภาคเอกชนรายใหญ่จากส่วนกลางที่ให้ความสนใจเข้าไปร่วมลงทุนจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมแบบนี้ ร่วมกับ ภาคเอกชนในพื้นที่และภาคส่วนต่างๆ

Advertisement

“บางจังหวัดสถาบันการศึกษาเขาก็สนใจจะเข้ามาร่วมเป็นผู้ถือหุ้น กลุ่มประชาสังคม หรือชุมชนที่เขามีรายได้มีกำลังก็สนใจจะมาร่วมถือหุ้นด้วย ซึ่งจะทำให้บริษัทมีผู้เกี่ยวข้อง หรือร่วมเป็นกรรมการจากหลายๆ ฝ่าย ยกเว้นภาครัฐที่คงเข้ามาถือหุ้นไม่ได้ หลายธุรกิจเขาก็สนใจในหลายพื้นที่เช่น เอสซีจี ก็สนใจจะร่วมผลักดันที่สระบุรี กลุ่มทรู สนใจจังหวัดเชียงราย กลุ่ม ปตท.ก็สนใจในพื้นี่จังหวัดระยอง เป็นต้น แต่ก็จะต้องมีทั้งภาคประชาสังคม ประชาชน เข้ามาร่วมกัน”

ทั้งนี้การสร้างเครือข่ายประชารัฐในรูปแบบบริษัทกระจายออกไปในจังหวัดต่างๆ จะมีเป้าหมายที่ไม่แสวงผลกำไร แต่จะเน้นช่วยสร้างรายได้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการเกษตร การแปรรูปสินค้า รวมถึงการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยง บูรณาการ อันจะเป็นประโยชน์ร่วมกันของทุกๆ ฝ่าย อย่างไรก็ตามอยู่ในระหว่างการพิจารณาว่า ภาคเอกชนที่เข้ามาลงทุนหรือสนับสนุนก็อาจจะได้ลดหย่อนภาษี รวมถึงในอนาคตรัฐบาลกำลังพิจารณาจะออกเป็น พ.ร.บ.วิสาหกิจเพื่อสังคมต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image