‘ทหารเกณฑ์มีไว้ทำไม’ ! ถ้าไม่มีแล้วจะทำอย่างไร? : ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

สุรชาติ

คำถามถึงความจำเป็นในการคัดเลือกทหารกองเกิน หรือทหารเกณฑ์ มีให้เห็นอยู่ทุกปี ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการตอบสนองนโยบายด้านความมั่นคงของไทยในการรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ที่ไม่ใช่การทำสงครามแบบเก่าที่ต้องใช้กองทัพขนาดใหญ่

 

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถ้าถามถึงความจำเป็นโจทย์ไม่ใช่ทหารเกณฑ์เพียงอย่างเดียว แต่คือเรื่องของกำลังพลสำรองที่ทุกประเทศต้องพิจารณา เพราะกองทัพมีทั้งทหารประจำการและกำลังสำรอง

Advertisement

การสร้างกำลังพลสำรองแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.การบังคับเต็มรูปแบบ (บางประเทศเลือกได้ว่าจะเป็นทหารหรือเข้าทำงานอื่นในกองทัพ) 2.การเกณฑ์แบบจับสลากแบบไทย คนส่วนหนึ่งถูกจับเป็นกำลังพลสำรอง 3.แบบกองกำลังอาสาสมัคร

ไทยใช้ระบบจับสลากมานาน ในความนานสังคมเปลี่ยนแปลงมาก ในอดีตปัญหาการเกณฑ์ทหาร มีการมองเรื่องการรับสินบนหรือคอร์รัปชั่น ซึ่งถูกแก้ไขไปพอสมควร ส่วนในข้อถกเถียงทางยุทธศาสตร์ใหม่ในสังคมไทย ในอนาคตระบบกำลังพลสำรองจะยึดการจับสลาก หรือกองกำลังอาสาสมัคร (เอวีเอฟ) ที่เป็นตัวแบบบนเวทีโลก

ความแตกต่าง คือ การจับลากหรือคัดเลือกจะอยู่ประจำการสั้น นานสุด 2 ปี แต่ระบบกองกำลังอาสาสมัครจะอยู่นานกว่านั้นไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี แต่จะได้กำลังพลที่เป็นมาตรฐานมากขึ้น

Advertisement

 

โจทย์ความมั่นคงในอนาคตไม่ใช่โจทย์สงครามขนาดใหญ่ ไม่มีความจำเป็นต้องสร้างกองทัพขนาดใหญ่ เกณฑ์คนเข้ามาสู่การเป็นทหาร เป็นกองทัพแบบมวลชน เพื่อรับโจทย์สงครามแบบเก่า ที่ต้องรับการจู่โจมข้าศึกขนาดใหญ่ แต่โจทย์แบบใหม่ข้าศึกขนาดใหญ่ คือ ภัยธรรมชาติ ภัยแล้ง การเข้ามาของผู้อพยพ ดังนั้นโจทย์ความมั่นคงเปลี่ยนไป

“รัฐบาลไทยต้องการการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการทหาร ประเทศต้องการกำลังพลอยู่เท่าไหร่ ในยุคที่เรารบกับคอมมิวนิสต์ไม่เคยเปลี่ยนไปจากปัจจุบัน ไม่ว่ารูปสถานการณ์ความมั่นคง สงคราม โครงสร้างกำลังพลในทัพไทยไม่เคยเปลี่ยน หลังสิ้นสุดสงครามคอมมิวนิสต์ต้องมีการจัดกำลังรับมิติความมั่นคงป้องกันประเทศใหม่ อีกทั้งระบบกำลังสำรองถูกโยงกับโครงสร้างกำลังพลทั้งหมด ถ้าระบบโครงสร้างหลักไม่ปฏิรูปรองรับความต้องการแท้จริง ระบบโครงสร้างกำลังสำรองก็แก้ไขไม่ได้ ในหลายพื้นที่คนหลายส่วนอยากเป็นทหาร ร้องไห้อยากเป็นทหาร หลายคนก็มองว่ากองทัพก็เป็นโอกาสของลูกในชนชั้นล่าง เชื่อว่าลูกเข้ากองทัพได้เรียนรู้อาชีพ ปลูกฝังวินัย ผ่านทหารเกณฑ์ทหารที่สร้างโอกาสสร้างชีวิตในวันหน้า จึงมองการเกณฑ์ทหารมิติลบอย่างเดียวไม่ได้ ทำอย่างไรให้มิติบวกตอบสนองความต้องการได้ มีหลายครอบครัวในชนบทอยากให้เป็นทหาร ในเมืองลูกจับใบแดงได้กลับเสียใจ มิติแบบนี้ต้องการการคิดต่อ คนส่วนหนึ่งอยากเป็นทหารอาสาสมัคร จะเรียกทหารเกณฑ์อาสาก็แล้วแต่ ถือเป็นการพัฒนากองกำลังอาสาเบื้องต้น ที่ผ่านมาแม้มีความพยายามทำเอวีเอฟก็ไม่ได้เกิดจริงจัง และกลับไปจบแบบเก่าคือการจับสลากตามเดิม” ศ.ดร.สุรชาติกล่าว

 

ขณะที่ พ.ร.บ.กำลังพลสำรองที่เรียกคนจำนวนมากเข้าไปฝึกทหาร มีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจเยอะ ต้องมองว่าประเทศไม่ได้อยู่ได้เพียงแค่การมีกองทัพอย่างเดียว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image