กระตุ้น เขต ศก.พิเศษ ต่างชาติซื้อที่ดิน13จว.ได้ไม่อั้น (คลิป)

มติชน สมาร์ทบิซ วันที่ 25 ก.ค.2559

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะเร่งผลักดันการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในพื้นที่ 10 จังหวัด รวมทั้งระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก 3 จังหวัด รวมทั้งหมด 13 จังหวัด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ด้วยการให้สิทธิพิเศษในการส่งเสริมการลงทุน นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างปรับแก้ระเบียบกฎหมาย เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติให้เข้าไปลงทุนตามเป้าหมายที่วางไว้

ล่าสุด การยกร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพดำเนินการคืบหน้าไปมาก น่าจะเสร็จสมบูรณ์เร็ววันนี้
โดยร่างกฎหมายนี้จะให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ อาทิ การอนุญาตให้นำคนต่างด้าวอยู่อาศัยในราชอาณาจักร สิทธิยกเว้น ลดหย่อนค่าธรรมเนียม ภาษีอากร รวมทั้งสิทธิประโยชน์อื่นๆ แล้ว ในส่วนของที่ดินก็จะกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขการบริหารจัดการ และให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนเพิ่มเติมด้วย

โดยเฉพาะการผ่อนปรนกฎระเบียบและข้อกฎหมาย ด้วยการให้สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์กับคนต่างด้าว โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตหรือดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดิน รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถซื้อที่ดินและถือครองกรรมสิทธิ์ได้ จากเดิมหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่บัญญัติไว้กำหนดว่าหากต่างด้าวนำเงินเข้ามาลงทุนตั้งแต่ 40 ล้านบาทขึ้นไปในประเทศไทย จะถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นที่อยู่อาศัยได้ 1 ไร่

Advertisement

ซึ่งปัจจุบันต่างด้าวส่วนใหญ่ใช้ช่องทางพิเศษของกฎหมายส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และกฎหมายการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมที่กำหนดให้เช่าที่ดินได้ 50 ปี และต่ออายุสัญญาเช่าได้อีก 50 ปี รวมเป็น 100 ปี

กฎหมายใหม่ยังกำหนดแนวทางการบริหารจัดการที่ดินเพื่อให้สามารถนำที่ดินรัฐประเภทต่างๆ มาใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ เช่น ที่ดินซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ก็ให้สามารถนำมาใช้ได้ ในกรณีที่พลเมืองเลิกใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นแล้ว หรือที่ดินได้เปลี่ยนสภาพไปแล้ว นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีผลเป็นการเพิกถอนเขตที่ดินของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ถ้ายังไม่ได้นำที่ดินที่ไปจัดสรรกระจายให้กับชาวบ้านมาพัฒนา เป็นพื้นที่รองรับการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษได้อีกทางหนึ่ง เช่นเดียวกับที่ดินในเขตป่าไม้ถาวร หรือเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่กำหนดให้เขตเศรษฐกิจพิเศษสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

ส่วนกรณีเป็นที่ธรณีสงฆ์ หากได้รับความยินยอมจากวัด และมหาเถรสมาคม ให้นำมาใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน แต่กำหนดให้จ่ายค่าผาติกรรมให้แก่วัด หรือจ่ายค่าชดเชยให้แก่วัดตามที่กำหนด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image