ฎีกาชาวบ้าน : หนี้ท่วมหัว ฆ่าตัวตายแล้วยังต้องจ่าย

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๙๙ เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท….

และมาตรา ๑๖๐๐ ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้
มาตรา ๑๖๐๑ ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน

นั่นหมายความว่า นอกจากทรัพย์สินของผู้ตายแล้ว ทายาทจะต้องรับผิดในหนี้ที่ผู้ตายก่อไว้อีกด้วย โดยรับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่รับมา ตาม มาตรา ๑๖๐๑

Advertisement

ทายาทนั้น มี ๒ แบบ คือ ทายาทโดยธรรม และทายาทโดยพินัยกรรม หรือผู้รับพินัยกรรม

ทั้งนี้ ทายาทโดยธรรมมีใครบ้าง?

การกำหนดตัวทายาทโดยธรรม

มาตรา ๑๖๒๙ ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๖๓๐ วรรค ๒ แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(๑) ผู้สืบสันดาน
(๒) บิดามารดา
(๓) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(๔) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(๕) ปู่ ย่า ตา ยาย
(๖) ลุง ป้า น้า อา
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา ๑๖๓๕

ตัวอย่างคำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๐๖/๒๕๕๔

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้รับผิดในฐานะทายาทโดยธรรมของ ม. ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ร่วมกันรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ โดยไม่ได้กำหนดให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ต้องรับผิดไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๐๑ จึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๓๙/๒๕๓๕

ป.กู้เงินไปจากโจทก์ เมื่อ ป.ตาย โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของ ป. ให้ชำระหนี้เงินกู้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๓๗

หมายเหตุ : รายการฎีกาชาวบ้าน เป็นรายการกฎหมายใกล้ตัว ออกอากาศ ทาง www.matichon.co.th โดยมีนายโอภาส เพ็งเจริญ คอลัมนิสต์สัพเพเหระคดี หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และ น.ส.เสาวลักษณ์ สวัสดิ์กว้าน เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image