ฎีกาชาวบ้าน: พ.ร.บ.รักษาความสะอาดปี 35 เป็นหมัน มีมา 20 ปีแต่ไม่ได้ใช้

พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕

๒๐ กว่าปีที่มีกฎหมาย แต่ไม่ค่อยได้ใช้บังคับอย่างจริงจัง

กฎหมายฉบับนี้ มี ๖๒ มาตรา แม้ออกมาบังคับใช้นานกว่า ๒๐ ปีแล้ว แต่ดูเหมือนไม่ค่อยได้มีการใช้อย่างจริงจังนัก ทั้งในส่วนของประชาชนโดยทั่วไปและในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งๆที่กฎหมายฉบับนี้ออกแบบเป็นพิเศษ ชนิดที่แทบจะหาไม่ได้จากกฎหมายฉบับอื่นๆ อันเป็นการเอื้ออำนวยให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามามีส่วนร่วมใช้บังคับได้อย่างดียิ่ง เพื่อเป้าหมายคือความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง

Advertisement

โดยที่กล่าวว่ากฎหมายออกแบบไว้เป็นพิเศษนั้น ดังจะเห็นได้จาก
๑. กำหนดให้แบ่งค่าปรับจากการแจ้งจับการกระทำความผิดให้แก่ประชาชนผู้พบเห็นการกระทำความผิด ตามที่กฎหมายบัญญัติ ถึงครึ่งหนึ่งของค่าปรับ
๒. กำหนดให้ประชาชนผู้แจ้งความผิดเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
๓. กำหนดเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่รับแจ้งแล้วไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนผู้พบเห็นการกระทำความผิดมีแรงจูงใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง

กล่าวได้ว่า กฎหมายฉบับนี้มีขอบเขตบังคับใช้ทั่วประเทศเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะในพื้นที่เทศบาล ๒,๔๔๑ แห่ง อันประกอบด้วยเทศบาลนคร ๓๐ แห่ง เทศบาลเมือง ๑๗๘ แห่ง และเทศบาลตำบลอีก ๒,๒๓๓ แห่ง รวมทั้ง กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยาด้วย

Advertisement

นอกจากนั้นยังได้ประกาศใช้ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลอีก เกือบ ๒๐ แห่ง

อย่างไรก็ตาม ความรับรู้ว่ามี พ.ร.บ. ฉบับนี้ใช้บังคับอยู่ สำหรับประชาชนทั่วไปดูจะไม่กว้างขวางนัก ทั้งๆที่ในพ.ร.บ.ดังกล่าวได้มีบัญญัติ ความผิดต่างๆไว้ครอบคลุม เพื่อยังให้เกิดความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองหลากหลาย นอกเหนือจากการห้ามจอด หรือขับรถบนทางเท้า โดยมีบทบัญญัติห้ามอื่นๆอีกมาก เช่นเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารไม่ดูแลรักษาความสะอาดทางเท้าที่อยู่ติดกับอาคารหรือบริเวณอาคาร อาบน้ำหรือซักล้างสิ่งใดๆบนถนน หรือในสถานสาธารณะ โฆษณาด้วยการปิด ทิ้ง หรือโปรยแผ่นประกาศหรือใบปลิวในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับหนังสืออนุญาต

ปล่อยสัตว์ถ่ายมูลบนถนนและมิได้ขจัดมูลนั้นให้หมดไป บ้างรถยนต์ รถจักรยายนต์ หรือล้อเลื่อนบนถนนหรือสถานที่สาธารณะ และทำให้สกปกรกเปรอะเปื้อน ตั้งวาง หรือกองวัสดุใดๆบนถนน ปรุงอาหาร ขายหรือ จำหน่ายสินค้าบนถนนหรือในสถานสาธารณะ ขายหรือจำหน่ายสินค้าซึ่งบรรทุกบนรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อนบนถนน หรือในสถานสาธารณะ ฯลฯ

เหล่านี้เป็นข้อห้าม และมีบทบัญญัติโทษปรับไว้อย่างชัดเจน แต่อาจเนื่องจากความรับรู้ที่ค่อนข้างจำกัด จึงทำให้ประชาชนทั่วไปไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนให้มีการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างจริงจังนัก

 

หมายเหตุ : รายการฎีกาชาวบ้าน เป็นรายการกฎหมายใกล้ตัว ออกอากาศ ทาง www.matichon.co.th โดยมี นายโอภาส เพ็งเจริญ คอลัมนิสต์สัพเพเหระคดี หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และนางสาวเสาวลักษณ์ สวัสดิ์กว้าน เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image