ฎีกาชาวบ้าน : กู้กันเอง “ดอกเบี้ย” ต่างจากกู้แบงก์อย่างไร?

การกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลธรรมดาทั่วไปกับการกู้เงินจากสถาบันการเงิน มีอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน ดังจะได้พิจารณาจากข้อกฎหมายดังต่อไปนี้

สำหรับ อัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น มีบัญญัติอยู่ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี

การกู้ยืมเงินกันเองนั้นอยู่ภายใต้บังคับ พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 ที่ว่า

Advertisement

มาตรา 3 บุคคลใด

(ก) ให้บุคคลอื่นยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้
ท่านว่า บุคคลนั้น มีความผิดญานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

—————————-
มาตรา 654 นั้นเป็นเรื่องของการยืม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติเรื่อง ดอกเบี้ยของการยืมใช้สิ้นเปลืองไว้ว่า ห้ามคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี เป็นหลักทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการยืมทรัพย์ที่ใช้สิ้นเปลืองชนิดใด หากกำหนดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อไปให้ลดลงมาเป็นร้อยละ 15 ต่อปี

Advertisement

แต่เมื่อเป็นกรณีการกู้ยืมเงินกัน มีพ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ กำหนดเป็นการเฉพาะลงไปว่า ห้ามเรียกเกินตามที่กฎหมายกำหนด ถ้าเรียกเกินจะมีโทษทางอาญา นับได้ว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย

ดังนั้น การใดที่ขัดมีวัตถุประสงค์ต่อกฎหมายโดยชัดแจ้ง การนั้นเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150
ดังนั้น กรณีของดอกเบี้ยที่ เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจึงตกเป็นโมฆะ

อย่างไรก็ตาม การกู้ยืมเงินกัน ที่เรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ส่วนที่เป็นดอกเบี้ยเป็นโมฆะ ทว่าหากมีการชำระดอกเบี้ยกันไปแล้ว ก็จะเรียกคืน หรือนำมาหักกับต้นเงินไม่ได้ เนื่องจากเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ ทั้งนี้ ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ดังนี้

มาตรา 407 บุคคลใดได้กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ท่านว่าบุคคลผู้นั้นหามีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ไม่

มาตรา 411 บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่

ดังคำพิพากษาศาลฎีกา ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2167/2545

จำเลยกู้เงินจากโจทก์จำนวน 200,000 บาท โดยตกลงคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน จำเลยได้ชำระ ดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวให้โจทก์ไปแล้ว 80,000 บาท แม้การกระทำของโจทก์ที่คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจะเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ประกอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 654 อันมีผลให้ดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ แต่เมื่อจำเลยชำระดอกเบี้ยดังกล่าวด้วยความสมัครใจตามที่ตกลงกับโจทก์ไว้ จึงเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ

เป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 407, 411 จำเลยจะเรียกเงินดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวคืน หรือนำมาหักชำระต้นเงิน 200,000 บาท หาได้ไม่

+++++++++++++++
ส่วนการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินนั้น สถาบันการเงินสามารถเรียกดอกเบี้ยได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปีได้ เพราะว่า มีกฎหมายพิเศษให้อำนาจไว้ คือ พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 มาตรา 4 และมาตรา 6 และพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551(เดิมเป็น พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505)

หมายเหตุ : รายการฎีกาชาวบ้าน เป็นรายการกฎหมายใกล้ตัว ออกอากาศ ทาง www.matichon.co.th โดยมี นายโอภาส เพ็งเจริญ คอลัมนิสต์สัพเพเหระคดี หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และนางสาวเสาวลักษณ์ สวัสดิ์กว้าน เป็นผู้ดำเนินรายการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image