คุยกับ “คนทำหนังกัมพูชารุ่นใหม่” ว่าด้วยเขมรแดง, ชนชั้น, ทุนนิยม, ความฝัน และอภิชาติพงศ์

คุยกับ “คนทำหนังกัมพูชารุ่นใหม่” ว่าด้วยเขมรแดง, ชนชั้น, ทุนนิยม, ความฝัน และอภิชาติพงศ์

ติดตามชมรายการมติชน วีกเอ็นด์ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 21.00-22.00 น. ทางวอยซ์ทีวี ช่อง 21

เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว ผู้สื่อข่าวมติชนทีวีมีโอกาสสนทนากับ “เดวี่ ชู” ผู้กำกับภาพยนตร์เชื้อสายกัมพูชา ซึ่งผลงานหนังเรื่องล่าสุดของเขา “Diamond Island” ได้รับรางวัลจากงานสัปดาห์นักวิจารณ์นานาชาติ ซึ่งเป็นกิจกรรมคู่ขนานของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2016 ก่อนที่หนังเรื่องนี้จะเดินทางไปตระเวนฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศต่างๆ

หนังเล่าเรื่องราวของกลุ่มวัยรุ่นชนชั้นล่างและชนชั้นกลางใหม่ ที่ใช้ชีวิตเวียนวนอยู่ในย่าน “เกาะเพชร” แหล่งพัฒนาสุดทันสมัยชานกรุงพนมเปญ

Advertisement

ที่ผ่านมา จุดเด่นของ “หนังอาร์ตกัมพูชา” มักอยู่ที่การพยายามเชื่อมโยงปัจจุบันเข้ากับ “อดีตบาดแผล” ที่ถูกสร้างไว้โดย “ระบอบเขมรแดง” แต่ Diamond Island ของเดวี่ ชู กลับมีท่าทีอันผิดแผกออกไป

เราจึงชวนเดวี่พูดคุยในประเด็นสำคัญข้างต้น เรื่อยไปจนถึงเรื่องราวความฝันของคนรุ่นใหม่, ความทันสมัย, ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม, ปัญหาชนชั้น ตลอดจน “หนังไทย” ที่เขาชื่นชอบ

เชิญติดตามอ่านโดยพลัน

Advertisement

-เริ่มแรกเลย อยากให้คุณช่วยแนะนำตัวเองหน่อยได้ไหม

สวัสดีครับ ผมชื่อ “เดวี่ ชู” เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งมีพื้นเพเป็นคนกัมพูชา หนังยาวเรื่องแรกของผมเมื่อปี 2011 คือ ภาพยนตร์สารคดีชื่อ “Golden Slumbers” ซึ่งเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ “วงการภาพยนตร์กัมพูชา” ในช่วงทศวรรษ 1960-70 ที่หายสาบสูญไป หลังการขึ้นครองอำนาจของ “เขมรแดง”

หลังจากนั้น ผมก็มาทำหนังสั้นเรื่อง “Cambodia 2099” ซึ่งถ่ายทำที่เกาะเพชรนี่แหละ ในปี 2014 และหนังเรื่องล่าสุดของผม ก็คือ หนังยาวชื่อ “Diamond Island” หนังถ่ายทำที่กัมพูชาและใช้นักแสดงท้องถิ่นทั้งหมด และได้ฉายรอบปฐมทัศน์ในสัปดาห์นักวิจารณ์นานาชาติ ของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2016

-หนังเรื่องล่าสุดของคุณ Diamond Island เพิ่งเข้าฉายที่กัมพูชา กระแสตอบรับจากคนดูที่นั่นเป็นอย่างไรบ้าง

มันน่ามหัศจรรย์ทีเดียว ถึงแม้ว่าหลังเปิดตัวที่คานส์ หนังจะได้ตระเวนไปฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศต่างๆ ทั้งยุโรป เอเชีย แคนาดา แต่สำหรับผม การที่มันได้กลับมาฉายที่กัมพูชา ก็นับเป็นความตื่นเต้นในระดับมหาศาล และบางทีอาจเป็นความหวาดกลัวในระดับมหาศาลด้วยเช่นกัน

เพราะมีความเด่นชัดว่าหนังเรื่องนี้พูดถึงประเด็นเกี่ยวกับ “คนรุ่นใหม่” ในประเทศกัมพูชายุคปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อบรรดาคนรุ่นใหม่ชาวกัมพูชาได้เข้ามาดูหนัง ผมก็อยากรู้เหมือนกันว่าพวกเขาจะมีความเห็นอย่างไรกับมัน

เราเพิ่งจัดฉายหนังรอบปฐมทัศน์ที่กัมพูชาไปเมื่อสัปดาห์ก่อน (สัมภาษณ์ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน) ซึ่งมีบรรยากาศน่ามหัศจรรย์มาก เพราะมีผู้คนมากมายจากหลากหลายวงการเดินทางมาร่วมชมหนัง ตั้งแต่กลุ่มคนทำหนังรุ่นใหม่ของกัมพูชา ดารานักแสดง นางงาม ไปจนถึงรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม และรัฐมนตรีกระทรวงสื่อสาร

ขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่บางรายก็ได้มาดูหนังเรื่องนี้ แม้จะไม่ใช่ทุกราย เพราะต้องยอมรับว่า Diamond Island ยังมีสถานะเป็น “หนังอาร์ตเฮาส์” หรือ “หนังอินดี้” มันจึงอาจไม่เป็นที่คุ้นเคยหรือต้องตรงกับรสนิยมของคนดูหนังทั่วๆ ไปนัก และไม่ใช่หนังยอดฮิตแบบถล่มทลาย

แต่ผมก็ได้อ่านความเห็นทางเฟซบุ๊กของนักดูหนังและคนทำหนังรุ่นใหม่ที่รู้สึกประทับใจในหนังเรื่องนี้ เพราะมันตอบสนองกับความคาดหวังของพวกเขา ว่าด้วยการมีตำแหน่งแห่งที่ของภาพยนตร์กัมพูชาในประชาคมนานาชาติ

แค่นี้ ผมก็รู้สึกประทับใจมากๆ แล้ว เพราะกระแสตอบรับเหล่านี้มีความหมายอย่างยิ่งต่อสิ่งที่พวกเราพยายามทำกันมา

-ผมรู้สึกว่า จุดหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ ของ Diamond Island คือความพยายามที่จะก้าวให้พ้นจากประเด็นเกี่ยวกับ “บาดแผลแห่งชาติ” ที่ก่อไว้โดยระบอบเขมรแดง นี่คือเจตนาของคุณหรือเปล่า

มันน่าสนใจมาก ที่คุณวิเคราะห์เช่นนั้น เพราะทางเลือกสำคัญตอนเริ่มสร้างหนังเรื่องนี้ ก็คือ คำถามที่ว่าเราสามารถทำหนังเกี่ยวกับกัมพูชายุคปัจจุบัน โดยไม่พูดถึง “เขมรแดง” ได้ไหม?

เพราะเวลาเราทำหนังเกี่ยวกับสังคมกัมพูชาร่วมสมัย มันมักต้องมีจุดหนึ่งในเรื่องราว ที่พยายามอธิบายว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นผลของเหตุการณ์ยุคเขมรแดง แล้วก็มีตัวละครบางคนที่นึกย้อนไปถึงอดีตช่วงนั้น นั่นคือสายสัมพันธ์ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน

แต่บางครั้ง ผมรู้สึกว่าเมื่อเราอาศัยอยู่ในสังคมกัมพูชาร่วมสมัย คุณจะรู้สึกช็อกกับภาวะ “สูญเสียความทรงจำ” ในปัจจุบัน ยิ่งพอคุณไปพบปะพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ คุณก็จะยิ่งช็อกเมื่อพบว่าประเด็น “เขมรแดง” ไม่เคยหลุดออกมาในวงสนทนาของพวกเขา

ไม่ใช่พวกเขาไม่รู้เรื่องนี้ พวกเขารู้ แม้ไม่รู้ทุกเรื่อง แต่ก็รู้บ้างเล็กน้อย แต่พวกเขากลับไม่พูดถึงมัน นี่จึงเป็น “ภาวะหลงลืม” หรือการมี “เจตจำนงที่จะลืม”

มันจึงน่าสนใจสำหรับผม ที่จะเลือกนำเสนอเรื่องราวในหนังเรื่องนี้โดยไม่พูดถึง “เขมรแดง” เลย แล้วพูดถึงปัจจุบันอย่างเดียว

แต่การไม่พูดถึงอะไรบางอย่างหรือผลักมันออกนอกจอ ก็กลับกลายเป็นการหายสาบสูญของ “สิ่งที่ดำรงอยู่แล้วอย่างเด่นชัด” นี่อาจเป็นที่มาของคำถามซึ่งคุณเพิ่งตั้งขึ้น

ดังนั้น ผมเลยเลือกจะนำเสนอความรู้สึกที่ตัวเองมี (เกี่ยวกับอดีต) ลงบน “พื้นที่ว่างเปล่า” ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่สังคมกัมพูชาต้องการเป็น เพราะ “พื้นที่ว่างเปล่า” จะก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา

“เกาะเพชร” ก็เป็นสถานที่แห่งหนึ่ง โดยมันเป็นเรื่องยากมากที่เราจะมองเห็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมกัมพูชาใน “เกาะเพชร”

แต่สถานที่แห่งนี้กลับคล้ายคลึงกับดูไบ สิงคโปร์ ฝรั่งเศส หรือกรีซ ที่แห่งนี้จึงเป็นส่วนผสมของ “วัฒนธรรมโลก” ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่คนกัมพูชาต้องการเข้าไปมีส่วนร่วม

ถ้าถามว่าประวัติศาสตร์จะอยู่ตรงไหนในกระบวนการเช่นนี้? คำตอบคงมีอยู่หลายตัวเลือก

ตอนทำหนังสารคดี “Golden Slumbers” ผมเลือกนำเสนอประวัติศาสตร์บาดแผลผ่าน “จดหมายเหตุภาพยนตร์”

แต่ในกรณีของหนังเรื่องนี้ บางที ประวัติศาสตร์บาดแผลอาจดำรงอยู่ในจิตใจหรือความรู้สึกของเรา

-ผมคิดว่าตัวละครนำในหนังเรื่องนี้ ก็มีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะผลักดันชีวิตให้เคลื่อนไปข้างหน้า โดยไม่ได้จำกัดตนเองอยู่ในอดีต นี่คือภาพที่สะท้อนถึงสังคมกัมพูชาในระดับมหภาคด้วยไหม

ผมไม่กล้าที่จะตอบคำถามใหญ่ขนาดนี้

แต่เท่าที่ผมรู้สึกและสังเกตการณ์เห็นจากเพื่อนฝูงรอบข้าง สิ่งที่ผมรู้สึกก็คือ ด้านหนึ่ง ประเทศนี้ก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แต่อีกด้าน กลับมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ถูกทอดทิ้งเอาไว้ ณ เบื้องหลัง

เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่ประชาชนทุกคนจะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนได้อย่างรวดเร็ว เทียบเท่ากับการก้าวกระโดดของประเทศ

แต่สิ่งที่ผมสามารถรู้สึกได้ ซึ่งบางทีอาจเป็นความเห็นที่ผิดก็ได้ นั่นคือ เมื่อผมไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆ ในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของวัยรุ่น เช่น ย่านเกาะเพชร ผมสามารถมองเห็นถึงสิ่งที่ปรากฏใน “ดวงตา” ของบรรดาผู้ใช้แรงงาน ซึ่งพอตกดึกก็มานั่งพักผ่อนสังสรรค์กัน ตลอดจนกลุ่มคนรุ่นใหม่ในเมืองที่พากันมาขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวเล่นรอบๆ บริเวณดังกล่าว

สำหรับผม สิ่งที่ปรากฏในดวงตาของพวกเขา คือ ความรู้สึกสงสัยใคร่รู้, ความปรารถนา, การฉายภาพความหวัง โดยรวมมันคือความทะเยอทะยานที่จะไขว่คว้าให้ได้มาซึ่งอนาคตที่ดีกว่าเดิม

นี่คือประเด็นสากลของคนรุ่นใหม่ และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้ ที่ต้องการจะทำความเข้าใจว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้เติบโตขึ้นมาจากจุดไหน อาจจะมาจากบริบททางสังคม ประวัติศาสตร์ สถานการณ์ของประเทศ และแน่นอน ต้องรวมถึงความหลงใหลใน “สภาวะสมัยใหม่” ตั้งแต่โทรศัพท์ไอโฟน อินเตอร์เน็ต หรือเฟซบุ๊ก ซึ่งก่อให้เกิดความปรารถนาอย่างมหาศาลขึ้นภายในจิตใจของพวกเขา

-ทำไมคุณจึงเลือกเล่าเรื่องราวว่าด้วยคน “สองกลุ่ม” กลุ่มแรกคือ หนุ่มสาวชนบทที่อยพยพเข้ามาใช้แรงงานในเมือง กลุ่มที่สองคือ กลุ่มคนชั้นกลางรุ่นใหม่ในเมืองใหญ่

ใช่ๆ พวกเขาคือ “วัยรุ่นคนชั้นกลาง” ยังไม่ใช่ “วัยรุ่นจากครอบครัวร่ำรวย” ถ้าเป็นวัยรุ่นรวยๆ จะต้องขับรถยนต์คันใหญ่ๆ แต่ตัวละครกลุ่มที่สองในหนัง คือ วัยรุ่นคนชั้นกลาง ที่พอจะมีกำลังทรัพย์ในการซื้อมอเตอร์ไซค์เพื่อใช้ขี่ไปมหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม สำหรับผม แม้ตัวละครสองกลุ่มในหนังจะมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน แต่สุดท้าย สิ่งที่พวกเขามีเหมือนกัน ก็คือ ความปรารถนา

นอกจากนี้ “โบรา” ตัวละครนำของเรื่อง ก็ยังสามารถเลื่อนสถานะทางชนชั้นของตนเองได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเรื่องราวในหนัง จะสะท้อนถึงภาพความจริงในสังคมกัมพูชาหรือไม่? แต่ผมเชื่อว่ามันคือสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แม้อาจไม่บ่อยครั้งนัก

ดังนั้น ผมจึงไม่ได้ต้องการจะมุ่งหวังให้เรื่องราวในหนังของตัวเอง กลายเป็น “แบบแผน” ว่าด้วยระบบชนชั้นในสังคมกัมพูชา แต่มันคือ “ตัวอย่างหนึ่ง” ที่นำเสนอถึงความแตกต่างระหว่างกลุ่มคนในสังคมมากกว่า

-ถ้าอย่างนั้น หนึ่งในจุดหมายสำคัญของหนังเรื่องนี้ คือ การวิพากษ์ประเด็นชนชั้นในสังคมกัมพูชาใช่หรือไม่

หนังของผมไม่ได้มุ่งวิพากษ์ประเด็นชนชั้น เพราะน่าสนใจว่าชนชั้นทางสังคมที่แตกต่างกันสองกลุ่มภายในหนัง ไม่ได้ปะทะกันจริงๆ

แน่นอนว่าตัวละครชนชั้นแรงงานในหนังนั้นมีความรู้สึกริษยาต่อตัวละครคนชั้นกลาง แต่ขณะเดียวกัน คุณอาจรู้สึกอย่างที่ผมรู้สึกว่า แม้จะมีความริษยาระหว่างกันในประเทศของเรา ซึ่งนำไปสู่ความตึงเครียดและความเกลียดชังในบางครั้ง แต่มันน่าแปลกว่า แม้จะมีความริษยากันโดยปกติ ทว่า คุณยังรู้สึกได้ถึง “ความปรารถนา” (ที่คนทุกกลุ่มมีร่วมกัน) นี่คือสิ่งที่ผมอยากเล่า

คนรุ่นใหม่ทุกคนในกัมพูชาต่างปรารถนาจะมีไอโฟน 6 ผมมีเพื่อนหลายคนในกัมพูชาที่ไม่มีเงิน บางครั้งก็ไม่มีเงินเดือน แต่เมื่อพวกเขามีงานทำ ได้ค่าจ้างราว 800 เหรียญสหรัฐ ซึ่งจะทำให้ใช้ชีวิตไปได้สบายๆ อีก 4 เดือน พวกเขากลับนำเงินก้อนดังกล่าวไปซื้อไอโฟน 6

ตอนแรก ผมสงสัยว่าทำไมพวกเขาตัดสินใจอย่างนั้น? ต่อมาผมจึงเข้าใจว่ามันมีฐานคิดที่ต่างกัน เพราะสำหรับพวกเขา การได้ครอบครองไอโฟน 6 นั้นสำคัญกว่าการยังชีพไปได้อีก 4 เดือน

นี่ทำให้คุณเข้าใจอะไรหลายอย่าง ว่าทำไมเทคโนโลยี มอเตอร์ไซค์ การมีแฟน ถึงเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดเรื่องความสุข ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คน แล้วทุกคนก็เชื่อตามๆ กันไป

ดังนั้น มากกว่าการพูดเรื่องชนชั้น ผมจึงคิดว่าหนังเรื่องนี้อาจพยายามพูดถึงระบบทุนนิยม ไม่ใช่เฉพาะในสังคมกัมพูชา แต่ในที่อื่นๆ ด้วย

ความฝันในระบบทุนนิยมเป็นฝันอันเย้ายวนใจ ซึ่งท้ายสุด มันก็ดึงดูดทุกคนเข้าไปอยู่ในโลกใบนั้น โดยคุณอาจสูญเสียตัวตนในระหว่างทาง

หรือคุณอาจเริ่มต้นมีความฝันเหมือนเรื่องราวในหนัง ที่ตัวละคร “น้องชาย” เดินทางเข้ามาในเมืองหลวง ก่อนจะได้พบกับ “พี่ชาย” และถูกบ่มเพาะให้มีแนวคิดเรื่องความทะเยอทะยาน, การเปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคม และการมีความฝัน

มันอาจเป็นดีเอ็นเอของระบบทุนนิยม ที่เมื่อคุณเริ่มเดินทางเข้าไปในโลกใบนั้น คุณจะหยุดตัวเองไม่ได้ เพราะความอยากในใจคุณไม่อาจหยุดยั้งลงได้ ตรงกันข้าม คุณกลับต้องการสิ่งต่างๆ มากขึ้นๆ นี่คือนิยามขั้นพื้นฐานของทุนนิยม

เราสามารถเห็นชะตากรรมเช่นนั้นได้จากหนังเรื่องนี้ เมื่อพี่ชายขายฝันเรื่องชีวิตชนชั้นกลางในจินตนาการให้น้องชาย แต่ตัวพี่ชายเองกลับไม่พอใจอยู่แค่นั้น เขาฝันไกลอีกระดับ ถึงการเดินทางไปอเมริกา น้องชายจึงรู้สึกช็อก เพราะในขณะที่ตนเองเริ่มเชื่อใน “ความฝันแบบหนึ่ง” ลำดับชั้นของ “ความฝัน” กลับขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ในหนังเรื่องนี้ ผมจึงต้องการนำเสนอถึงเรื่องความอยากที่ไม่เคยพอ และไม่มีทางจะพอ

-จากเครดิตภาพยนตร์ ผมเห็นว่าคุณได้ร่วมทำงานกับเพื่อนๆ คนไทยด้วย รูปแบบความร่วมมือดังกล่าวเป็นอย่างไรบ้าง

ความร่วมมือนี้ช่วยพวกเราอย่างมากในด้าน “โปรดักชั่น” ผมได้พูดคุยกับโปรดิวเซอร์ชาวไทย “โสฬส สุขุม” แห่งบริษัท 185 Film ว่าเราจะร่วมงานกันอย่างไรได้บ้าง? เพราะอย่างที่รู้กันว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยนั้นพัฒนาไปไกลกว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์กัมพูชา

ขณะเดียวกัน แวดวงหนังอิสระไทย หลังจากความสำเร็จของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” หรือ “อาทิตย์ อัสสรัตน์” และคนอื่นๆ ก็ก้าวหน้าไปไกลมาก จนก่อให้เกิดคนทำหนังรุ่นใหม่ที่น่าติดตามผลงานขึ้นมากมาย ส่วนวงการหนังอิสระกัมพูชากำลังเริ่มต้นตั้งไข่ และผมหวังว่ามันจะพัฒนาไปได้ไกลในอนาคตข้างหน้า

ดังนั้น ผมกับโสฬสจึงคุยกันว่าเราจะสามารถร่วมมือกันตรงจุดไหนได้บ้าง? และได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า เราน่าจะลองพยายามทำอะไรบางอย่างร่วมกัน หลายเดือนต่อมา โสฬสและผมจึงติดต่อกันอีกหน จนนำมาสู่โครงการทำหนัง Diamond Island

นอกจากนั้น เรายังร่วมมือกับ “วีเอส เซอร์วิส” บริษัทให้เช่าอุปกรณ์ถ่ายทำภาพยนตร์ของไทย จนเราสามารถนำเอาเครื่องมือชั้นเยี่ยมของไทยมาถ่ายทำหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ไฟ อุปกรณ์กริป เพราะการคมนาคมขนส่งระหว่างกรุงเทพฯ กับพนมเปญ นั้นสะดวกและไม่ห่างไกลกันมาก

ยิ่งกว่านั้น เรายังได้บุคลากรชาวไทยบางส่วนมาช่วยงานระหว่างการถ่ายทำด้วย อาทิ ผู้ทำหน้าที่เป็น “คีย์กริป” ซึ่งมีประสบการณ์มากมายจากการได้ร่วมงานกับกองถ่ายหนังอเมริกัน

การได้ร่วมมือกับเพื่อนๆ คนไทย ส่งผลให้งานด้านโปรดักชั่นของ Diamond Island มีผลลัพธ์ออกมาน่าพอใจมาก

ที่สำคัญ หนังของเราจะเข้าฉายรอบปฐมทัศน์ที่ไทยในเทศกาลภาพยนตร์เวิลด์ ฟิล์ม เฟสติวัล ออฟ แบงค็อก ช่วงต้นปีหน้า ต่อจากนั้น หนังน่าจะได้เข้าฉายในเชิงพาณิชย์ที่เมืองไทยด้วย โดยเรากำลังติดต่อประสานงานกับบริษัทจัดจำหน่ายเจ้าหนึ่งอยู่

นี่ทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะผมเป็นแฟนหนังไทย เลยอยากรู้ว่าคนดูชาวไทยจะรู้สึกอย่างไรกับหนังของผม

-แล้วหนังไทยเรื่องโปรดของคุณคือเรื่องอะไร

สำหรับผม “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” คือ คนทำหนังระดับนานาชาติที่มีความสำคัญมากที่สุด ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา

ผมยังจำได้ชัดเจนถึงช่วงเวลาที่ตนเองได้ดูหนังเรื่องล่าสุดของอภิชาติพงศ์ คือ “รักที่ขอนแก่น”

ตอนหนังเรื่องนี้ฉายที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ผมชวดโอกาสเข้าชม เพราะผมกลับมาทำงานที่กัมพูชาพอดี

หลังจากนั้น เมื่อผมกลับไปที่ฝรั่งเศสเพื่อพบปะกับทีมงานบางส่วนที่นั่น ผมก็ได้ทราบข่าวว่าจะมีการฉายหนังเรื่อง “รักที่ขอนแก่น” ในรอบสื่อมวลชนพอดี ผมจึงขอให้เพื่อนที่ทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ช่วยติดต่อหาที่นั่งให้ จนในที่สุด ผมก็ได้เข้าไปชมหนังเรื่องนี้

ผมดู “รักที่ขอนแก่น” เมื่อเดือนสิงหาคม 2015 ประมาณห้าเดือนก่อนจะกลับมาถ่ายหนังที่กัมพูชาในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน

หลังได้ชมหนังเรื่องล่าสุดของอภิชาติพงศ์ ผมรู้สึกว่าจิตใจของตนเองได้รับการชำระล้างและรู้สึกอบอุ่น หนังเรื่องนี้ติดค้างอยู่ในความคิดของผมนานมาก

“รักที่ขอนแก่น” จึงเป็นหนังที่ยอดเยี่ยมมากเรื่องหนึ่งในใจผม

นวน โสภณ

รู้จัก “นวน โสพน” นักแสดงนำ Diamond Island

เด็กหนุ่มชื่อ “นวน โสพน” รับบทเป็น “โบรา” ตัวละครหลักของหนังเรื่อง Diamond Island

ภูมิหลัง-ความฝันของนวน มีความสอดคล้องกับภูมิหลัง-ความฝันของตัวละครที่เขารับบทบาทอยูไม่น้อย

นวนมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดกัมปงชนัง ซึ่งเดวี่ ชู ก็เลือกไปถ่ายทำฉากชนบทในหนังที่จังหวัดแห่งนี้พอดี

นวนต้องจากลา “แม่” เพื่อเดินทางเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ ไม่ต่างอะไรกับชีวิตของ “โบรา” ในภาพยนตร์

ในตอนท้ายของหนัง “โบรา” ได้ขยับขับเคลื่อนสถานะขึ้นไปเป็น “ผู้จัดการร้านกาแฟ” ซึ่งนั่นคือ “อาชีพในฝัน” ของนวนเช่นกัน

ปัจจุบัน นวนประกอบอาชีพเป็น “คนขับรถแท็กซี่” และใช้เวลาว่างไปเรียน “ภาษาจีน” ซึ่งเขาเชื่อว่าจะเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญ ที่ช่วยนำพาตนเองทะยานขึ้นไปสัมผัสกับ “โอกาสในชีวิต” ที่ดีกว่าเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image