ฎีกาชาวบ้าน : ดัดหลังเมียน้อย เมียหลวงฟ้องเรียกสินสมรสที่สามียกให้คืนได้

สามีภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกัน หรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ในเรื่องที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย ดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๗๖ บัญญัติไว้ ดังนี้

มาตรา ๑๔๗๖ สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
(๒) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
(๓) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(๔) ให้กู้ยืมเงิน
(๕) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่ การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
(๖) ประนีประนอมยอมความ
(๗) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
(๘) นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล

Advertisement

การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้ โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง

นั่นหมายความว่า หากเป็นการนำเอาสินสมรสไปมอบให้ใครโดยเสน่หาตาม มาตรา๑๔๗๖(๕) ย่อมจะต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง

ดังนี้ ถ้าสามีหรือภริยา จัดการสินสมรสไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย เช่น นำสินสมรสไปยกให้ใครโดยที่อีกฝ่ายไม่ได้รับรู้ อีกฝ่ายฟ้องศาลขอให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ทั้งหมด

ดังที่ระบุไว้ใน มาตรา ๑๔๘๐

มาตรา ๑๔๘๐ “การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา ๑๔๗๖ ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน

การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมตามวรรคหนึ่งห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น”

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๕๑๓/๒๕๕๗

การที่ อ. ภริยา ทำสัญญาขายฝากที่พิพาทให้แก่จำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรส นิติกรรมการขายฝากที่พิพาทไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา มาตรา ๑๔๗๖ (๑)โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากดังกล่าวได้ตามมาตรา ๑๔๘๐ วรรคหนึ่ง

แม้คำขอบังคับของโจทก์เพียงขอให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่พิพาท โดยมิได้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝาก ก็เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์คืน เท่ากับมีผลเป็นการเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากด้วยเช่นกัน และการเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากดังกล่าวต้องเพิกถอนนิติกรรมทั้งหมด จะเพิกถอนเฉพาะส่วนของโจทก์หาได้ไม่ แต่เมื่อโจทก์ขอมาเพียงเฉพาะส่วนของโจทก์เท่านั้น ศาลก็มิอาจเพิกถอนทั้งหมดได้เพราะจะเป็นการพิพากษาให้เกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

++++++++++++++++++++++++
อนึ่งในการจะพิจารณาว่า ทรัพย์สินใด้เป็นสินส่วนตัว ทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสนั้น กฎหมายได้บัญญัติแยกไว้ดังนี้

สินส่วนตัว คืออะไร

มาตรา ๑๔๗๑ “สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน
(๑) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส
(๒) ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
(๓) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา
(๔) ที่เป็นของหมั้น”

มาตรา ๑๔๗๒ “สินส่วนตัวนั้น ถ้าได้แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นก็ดี ซื้อทรัพย์สินอื่นมาก็ดี หรือขายได้เป็นเงินมาก็ดี ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว

สินส่วนตัวที่ถูกทำลายไปทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แต่ได้ทรัพย์สินอื่นหรือเงินมาทดแทน ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว “

มาตรา ๑๔๗๓ “สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ”

++++++++++++++++++++++++

สินสมรส คืออะไร ?

มาตรา ๑๔๗๐ “ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา นอกจากที่ได้แยกไว้เป็นสินส่วนตัวย่อมเป็นสินสมรส”
มาตรา ๑๔๗๔ “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(๑) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
(๒) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
(๓) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส”
++++++++++++++++++++++++

อย่างไรก็ตาม หากสามี ภริยา ต้องการจัดการให้แตกต่างไปจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็ได้ แต่ต้องทำสัญญาก่อนสมมรสไว้ ตามที่มีบทบัญญัติว่าไว้ ดังนี้

มาตรา ๑๔๗๖/๑ “สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๗๖ ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทำสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติในมาตรา ๑๔๖๕ และมาตรา ๑๔๖๖ ในกรณีดังกล่าวนี้ การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส

ในกรณีที่สัญญาก่อนสมรสระบุการจัดการสินสมรสไว้แต่เพียงบางส่วนของมาตรา ๑๔๗๖ การจัดการสินสมรสนอกจากที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรสให้เป็นไปตามมาตรา ๑๔๗๖”

++++++++++++++++++++++++
หมายเหตุ : รายการฎีกาชาวบ้าน เป็นรายการกฎหมายใกล้ตัว ออกอากาศ ทาง www.matichon.co.th โดยมี นายโอภาส เพ็งเจริญ คอลัมนิสต์สัพเพเหระคดี หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และนางสาวเสาวลักษณ์ สวัสดิ์กว้าน เป็นผู้ดำเนินรายการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image