“ขรรค์ชัย บุนปาน-สุจิตต์ วงษ์เทศ ทัวร์ทอดน่องท่องเที่ยว” คลองด่าน : เส้นทางคลองสายประวัติศาสตร์

ริมคลองด่าน บางขุนเทียน (ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตจอมทอง) ขณะอากาศร้อนระอุ น้ำสีดำส่งกลิ่นเหม็น มีขยะลอยเกลื่อน ไม่ยั่วยวนใจให้กระโจนเล่นน้ำดับร้อนเลยแม้แต่ต้อย “ขรรค์ชัย บุนปาน” และ “สุจิตต์ วงษ์เทศ” กลับมาเยือนคลองด่านอีกครั้ง ชี้ชวนผู้คนให้เห็นถึงความสำคัญของแม่น้ำลำคลอง

สุจิตต์ พูดถึงคลองเส้นนี้ไว้ว่า เป็นเส้นทางคลองประวัติศาสตร์ ที่เคยใช้เป็นเส้นทางคมนาคมในอดีต ไม่ว่าจะเป็นคลองด่าน คลองสนามไชย คลองมหาชัย เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง เลียบอ่าวไทยไปปักษ์ใต้ ขึ้นบกที่เพชรบุรี ผ่านเขาสามร้อยยอด ช่องสิงขร ประจวบคีรีขันธ์ ออกไปเมืองมะริด ตะนาวศรี และทะเลอันดามันได้

คลองด่าน เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณคลองบางกอกใหญ่ ไหลไปเชื่อมกับคลองมหาชัย ออกแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นเส้นทางที่คลื่นลมสงบกว่าการเดินทางผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหญ่ ที่มีคลื่นลมแรง จึงใช้เป็นเส้นทางคมนาคมมาตั้งแต่ยุคทวารวดี อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ จนถึงปัจจุบัน

Advertisement

นักโบราณคดี ขุดค้นพบหลักฐานเรือจมที่ชายทะเลบางขุนเทียน แถบคลองแสมดำ ใกล้ศาลพันท้ายนรสิงห์

เส้นทางนี้เคยใช้เป็นเส้นทางเสด็จของพระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์ เช่น พระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จไปศึกบางกุ้ง , พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จไปรับศึกพม่าที่กาญจนบุรี อีกทั้งยังมีนิทานที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางนี้ อาทิ นิทานเรื่องพระนเรศวรเสด็จไปทรงเบ็ดที่หาดเจ้าสำราญ เขาสามร้อยยอด , นิทานเรื่องพระเจ้าเสือไปทรงเบ็ดตกปลา , นิทานเรื่องพันท้ายนรสิงห์ ฯลฯ

สุจิตต์ ย้ำหนักแน่น “ทั้งหมดเป็นนิทาน ไม่มีหลักฐานในแง่ความเป็นจริง”

Advertisement

นอกจากนี้ ยังเป็นเส้นทางกวี อาทิ กำสรวลสมุทร ยุคต้นอยุธยา , นิราศหม่อมพิมเสน , นิราศรบพม่าท่าดินแดง , นิราศพระยาตรัง , นิราศนรินทร์ , นิราศเมืองเพชร

บริเวณนี้น่าจะเป็นแลนด์มาร์คสำคัญมาไม่ต่ำกว่า 500 ปีแล้ว เพราะมีโครงกำสรวลสมุทร เขียนไว้ว่า

“มาดลบรรลุนอง ชลเนตร
ชลเนตรชู้ช้อยไห้ ร่วงแรง โรยแรง ฯ”

หมายความว่า เมื่อมาถึงบริเวณที่นองน้ำตา ซึ่งเป็นคำคร่ำครวญของกวี แต่ตีความได้ว่าบริเวณนี้ เป็นบริเวณที่น้ำท่วมเวลาน้ำหลาก น่าจะเป็นศูนย์กลางเส้นทางคลองเล็กคลองน้อยสายต่าง ๆ ปัจจุบันหาไม่พบเพราะถูกถมไปหมด แต่จะพบร่องรอยคลองบางหว้า ที่กั้นระหว่างวัดหนังกับวัดราชโอรส และพบคลองบางขุนเทียน เชื่อมกับคลองดาวคะนอง ออกแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกบริเวณนี้ว่าน้ำนอง และต่อมาจึงเรียกว่าบางนางนอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image