ฎีกาชาวบ้าน : ขับมอเตอร์ไซค์ บนทางเท้า แจ้งจับได้ค่าปรับครึ่งหนึ่ง รู้ยัง ….บังคับใช้ทั่วประเทศแล้ว

“มาตรา ๔๘ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นแต่งตั้ง และพนักงานสอบสวน มีอำนาจเปรียบเทียบได้ เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบภายในสิบห้าวันแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบหรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ดำเนินคดีเพื่อฟ้องร้องต่อไป

ค่าปรับที่ได้จากการเปรียบเทียบตามวรรคหนึ่ง ให้แบ่งแก่ผู้แจ้งตามมาตรา ๕๑ กึ่งหนึ่ง และพนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานจราจร หรือตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการจราจร ผู้จับกุมอีกกึ่งหนึ่ง

Advertisement

มาตรา ๕๑ ในกรณีที่มีผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ประชาชนผู้พบเห็นอาจแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน เจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้พนักงานสอบสวน เจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยไม่ชักช้า และให้ถือว่าประชาชนผู้พบเห็นการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”

นี่เป็นบทบัญญัติ ๒ มาตรา ในพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 อันเป็นที่มาของข่าวที่ว่า กทม. เริ่มเปิดรับให้ประชาชนทั่วไปแจ้งความจับกุมการขับขี่หรือจอดรถจักรยานยนต์ หรือรถยนต์บนทางเท้า อันเป็นการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.นี้ แล้วจะมีการแบ่งค่าปรับให้ผู้แจ้งครึ่งหนึ่ง

อันที่จริงแล้ว พระราชบัญญัตินี้หาได้ให้แจ้งความจับแล้วแบ่งค่าปรับ เฉพาะกรณีขับขี่ หรือจอด รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์บนทางเท้าเท่านั้น ยังมีกรณีอื่นๆอีกหลายกรณีที่เป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ ที่ประชาชนผู้พบเห็นสามารถแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้ (คลิกดูพ.ร.บ.)

Advertisement

นอกจากนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้หาได้ใช้บังคับเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้นไม่ หากบังคับใช้ในขอบเขตทั่วประเทศ คือ เขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด เขตเทศบาลทุกระดับ องค์การบริหารส่วนตำบลด้วย

เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบสามารถรับการร้องทุกข์ประกอบด้วย

๑. พนักงานสอบสวน
โดยที่ มาตรา ๕๑ ของพ.ร.บ.นี้ให้ ผู้พบเห็นการกระทำความผิดเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๔ บัญญัติว่า “ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่รอง หรือเหนือพนักงานสอบสวน และเป็นผู้ซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายก็ได้”

ดังนั้น ผู้พบเห็นจึงสามารถร้องทุกข์ต่อตำรวจได้ทุกนาย รวมทั้งต่อเจ้าหน้าที่เทศกิจที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายในการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่นั้นๆได้ด้วย

๒. เจ้าพนักงานท้องถิ่น ได้แก่
(๑) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด
(๒) นายกเทศมนตรี สำหรับในเขตเทศบาล
(๓) นายกองค์การบริหารส่วนตำบล สำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล
(๔) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร
(๕) นายกเมืองพัทยา สำหรับในเขตเมืองพัทยา

๓. “พนักงานเจ้าหน้าที่” ได้แก่
(๑) ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดและรองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด สำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด
(๒) ปลัดเทศบาลและรองปลัดเทศบาล สำหรับในเขตเทศบาล
(๓) ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลและรองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล สำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล
(๔) ปลัดกรุงเทพมหานคร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขตและผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร
(๕) ปลัดเมืองพัทยาและรองปลัดเมืองพัทยา สำหรับในเขตเมืองพัทยา
(๖) ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นและรองปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น สำหรับในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น

หมายเหตุ : รายการฎีกาชาวบ้าน เป็นรายการกฎหมายใกล้ตัว ออกอากาศ ทาง www.matichon.co.th โดยมี นายโอภาส เพ็งเจริญ คอลัมนิสต์สัพเพเหระคดี หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และนางสาวเสาวลักษณ์ สวัสดิ์กว้าน เป็นผู้ดำเนินรายการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image