ฎีกาชาวบ้าน: ฆ่าคนตาย ไม่ผิดกฎหมาย กรณีนี้มีหรือไม่?

การกระทำลักษณะเดียวกัน บางกรณีผู้กระทำ กระทำแล้วเป็นการผิดกฎหมาย และต้องถูกลงโทษตามที่กฎหมายบัญญัติ

แต่อาจมีในบางกรณีที่ผู้กระทำกระทำในลักษณะเดียวกัน เกิดผลเช่นเดียวกัน แต่การกระทำนั้นอาจไม่ผิดกฎหมาย หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

แม้กระทั่ง การฆ่าคนตาย!

Advertisement

การฆ่าคนตายนั้น ย่อมเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า ผิดกฎหมาย และต้องมีโทษตามกฎหมาย ส่วนว่าศาลจะพิพากษาลงโทษเช่นไรก็แล้วแต่ข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆไป เช่นว่า อาจมีโทษ จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ ๑๕ ปีถึง ๒๐ ปี ถ้าเป็นกรณีกระทำความผิดฆ่าผู้อื่นตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ แต่ถ้าเป็นกรณีฆ่าผู้บุพการี หรือฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามมาตรา ๒๘๙ ระวางโทษมีสถานเดียว คือ ประหารชีวิต ส่วนจะมีการลดหย่อนโทษหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง (หากมีเหตุบรรเทาโทษตามที่กฎหมายบัญญัติ)

อย่างไรก็ตาม การฆ่าคนตายในบางกรณี ผู้กระทำอาจไม่มีความผิดเลยก็ได้

หากเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย หากว่าข้อเท็จจริงในกรณีนั้น สอดคล้องหรือเป็นไปตามที่หลักกฎหมายอาญาบัญญัติไว้

Advertisement

ตามที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๘ ว่า

“ ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

บทบัญญัติมาตรานี้ เรียกขานกันสั้นๆว่า เป็นเรื่อง “การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย”

แม้ผู้กระทำได้กระทำการต่างๆตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิดแล้ว
เช่น กรณีการฆ่า

ผู้กระทำมีเจตนาฆ่าผู้อื่น หรือกรณีทำให้เสียทรัพย์ของผู้อื่นที่ผู้กระทำมีเจตนากระทำให้เสียทรัพย์แล้ว มีเจตนากระทำความผิดฐานบุกรุกแล้ว ฯลฯ ก็ตาม

แต่หากเป็นกรณีตามมาตรา ๖๘ การกระทำนั้น ไม่ก็เป็นความผิด หากมีการยื่นฟ้องศาล เมื่อปรากฏว่า ข้อเท็จจริง เป็นไปตามที่มาตรา ๖๘ บัญญัติ ศาลย่อมพิพากษา ว่าการกระทำนั้นชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่ได้กระทำความผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด และยกฟ้องไป
ดังกรณีที่เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๐๔๙๗/๒๕๕๓

ผู้ตายเมาสุราก่อเหตุขึ้นก่อน โดยพูดจาทำนองหาเรื่องจำเลย เมื่อจำเลยเดินหนีไม่ตอบโต้ ผู้ตายยังเดินตามและใช้ไม้ตีจำเลยที่หลัง ๑ ครั้ง แล้วผู้ตายจะใช้ไม่ตีจำเลยอีก นับเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ การที่จำเลยหันกลับมาชกผู้ตายซึ่งอยู่ในระยะประชิดเพื่อป้องกันตัวแม้จะเป็นการชกโดยแรงแต่ก็เป็นการชกเพียงครั้งเดียว และเมื่อจำเลยชกผู้ตายล้มลงจำเลยก็ไม่ได้ชกผู้ตายซ้ำอีก การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุและไม่เกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๖๘

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๒๗๖/๒๕๕๕

ตายเป็นผู้ก่อเหตุและวิ่งไล่ทำร้าย ร. จากโรงลิเกจนไปถึงที่เกิดเหตุ แล้วใช้มีดฟันแขน ร. ได้รับบาดเจ็บและเตะถีบ ร. จนล้มลงแล้วใช้อาวุธปืนจ่อ ร. พร้อมจะยิงและพูดว่ามึงตายอันเป็นการหมายเอาชีวิต ร. นับว่าเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายใกล้จะถึงจำเลยได้ห้ามปรามแล้ว แต่ผู้ตายไม่เชื่อฟัง ในสถานการณ์เช่นนั้นการที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายในทันทีทันใดจึงเป็นการยับยั้งการกระทำของผู้ตาย และป้องกันชีวิต ร. ทั้งจำเลยยิงปืนเพียงนัดเดียว ถือได้ว่าจำเลยกระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา ๖๘ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น

หมายเหตุ : รายการฎีกาชาวบ้าน เป็นรายการกฎหมายใกล้ตัว ออกอากาศทาง www.matichon.co.th โดยมี นายโอภาส เพ็งเจริญ คอลัมนิสต์สัพเพเหระคดี หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และนางสาวเสาวลักษณ์ สวัสดิ์กว้าน เป็นผู้ดำเนินรายการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image