ขรรค์ชัย-สุจิตต์ เขียนกลอนอำนวยพร ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช 20 เมษายน 2514

20 เมษายน ตรงกับวันเกิด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ปราชญ์คนสำคัญของเมืองไทย ศูนย์ข้อมูลมติชน ขอนำบรรยากาศก่อนแซยิดและวันแซยิด จากข้อเขียนของ คริส สารคาม (นามปากกาของ ณรงค์ จันทร์เรือง) อยู่ในหนังสือ คึกฤทธิ์ ปราโมช สิบเศียรยี่สิบกร พิมพ์โดย สนพ.มติชน เมื่อปี 2537 ดังนี้

“สักวา ฟ้าส่ง ลงมาเกิด
ในพระวงศ์ อันประเสริฐ ยิ่งใหญ่
พร้อมปากกา กายสิทธิ์ ฤทธิไกร
สำหรับใช้ ต่อสู้ หมู่มาร

ชิวหาท่าน นั้นคือ จักรแก้ว
ยามมีคุณ เพริศแพร้ว มหาศาล
ยามมีเดช ประดุจ ดังเพลิงกาฬ
เป็นที่พึ่ง ของชาวบ้าน มานานเอย”

อาจารย์สมภพ จันทรประภา เขียนสักวาอวยพรพระอาจารย์ใหญ่คึกฤทธิ์ ปราโมชเนื่องในโอกาสครบรอบวันเกิด 60 ปี เมื่อวันที่ 20 เมษายน2514  ลงพิมพ์ในหนังสือ “คึกฤทธิ์ 60”

Advertisement

คุณวิลาศ มณีวัต กับเหล่าลูกศิษย์ลูกหาพระอาจารย์ช่วยกันจัดทำปล่อยฝีมือกันสุด ๆ ไปเลย…ฉลองพระคุณครู

คิด ๆ ดูแล้ว ผมคงจะไม่ต้องไปเขียนเรื่องอะไรหากินให้เหนื่อยยากหรอกครับ เล่าเรื่องเกร็ดฝอยของ “จอมปราชญ์” หนึ่งเดียวในเมืองไทยอย่าง คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็คงจะเขียนได้ไปจนชั่วชีวิตสลาย

หยิบหนังสือเล่มไหนของคุณชายขึ้นมาอ่าน ก็จะเขียนได้สนุกสนานเพลิดเพลินเจริญใจเป็นอย่างยิ่ง ไม่ต้องไปเสียเวลานึกพล็อตหาข้อมูล หรือสรรหากลวิธีการเขียนอะไรให้เหนื่อยแรง เหมือนเขียนเรื่องสั้นเรื่องยาว สารคดีหรือสาระไม่ค่อยจะดี

Advertisement

สำบัดสำนวนนั้นก็ลอก คึกฤทธิ์ ปราโมช มาอย่างหน้าตาเฉยเป็นที่สุด !

เขียนถึง คึกฤทธิ์ ปราโมช จะให้ใช้สำนวน “อรวรรณ” หรือ มนัส จรรยงค์ กระไรได้

ตอนนี้เอา “แซยิดคุณชาย” แล้วกันนะครับ แต่ตั้งชื่อตอนว่า”แซยิด” เฉย ๆ จะได้ไม่รุงรังรกเรื้อไปซะเปล่า ๆ

เอาบรรยากาศก่อนแซยิดก็แล้วกัน ตอนนั้นผมเพิ่งจะกลับจากการออกไปเที่ยวนอกประเทศไทยเป็นครั้งแรกในชีวิต นอนพักจนหายหนาวได้ 2-3วันก็ไปกราบคุณชายที่ “สยามรัฐ” ถือโอกาสเยี่ยมเยียนเพื่อนฝูงด้วย เสถียร จันทิมาธร, สุจิตต์ วงษ์เทศ, ขรรค์ชัย บุนปาน สะพรั่งไปทั้งโรงพิมพ์ เหมือนที่ “มติชน” ในตอนนี้ทั้ง ๆ ที่ผ่านมา 23 ปีแล้ว

บรรยากาศในโรงพิมพ์คึกคักแต่เคร่งเครียดยังไงชอบกล

คุณชายอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดเล่นพูดหัว ท่าทางกระฉับกระเฉงคล่องแคล่วปราดเปรียวเหมือนหนุ่มอายุ 50 คำแรกที่ท่านทักทายยังจำได้ติดหูมาจนถึงทุกวันนี้

“เป็นยังไงมั่งล่ะ ไอ้หนุ่มกรุงโรม ท่าทางเหมือนกับเนโร”

“หนาวครับคุณชาย ผมไปตอนหิมะตกพอดี”

“คนมีบุญก็ยังงั้นแหละ ไปที่ไหนดินฟ้าอากาศมันก็เกิดอาเพศที่นั่น”

แล้วคุณชายก็หัวเราะร่วน ควัก “กีตาน” จากซองสีฟ้ามาจุดสูบพ่นควันโขมง แหม พระอาจารย์เล่นคำอรรถคำแปลลึกซึ้งไรก็ไม่ทราบ ผู้น้อยมิบังอาจมิเข้าใจ เลยเร่ไปที่โต๊ะเพื่อนฝูง สุจิตต์ วงษ์เทศ เงยหน้าขึ้นมองยิ้มนิดเดียว

“มาเมื่อไหร่วะ ?” ผมยังไม่ทันจะตอบ เพื่อนก็ก้มหน้าก้มตากับกองหนังสือท่วมหัว เกลื่อนกลาดเต็มโต๊ะ ต้นฉบับอะไรต่อมิอะไรนักหนาก็ไม่ทราบ เดี๋ยวหยิบเรื่องนั้นมาดูหยิบเรื่องนี้มาอ่าน เปิด “ดัมมี่” สำหรับการจัดหน้าหนังสือ หน้านิ่วขมวดยังกะเพิ่งทะเลาะกับคุณปรานีมาหยกๆ

ขรรค์ชัย บุนปาน ก็เฉลยให้ฟังว่า…มันกำลังทำหนังสือฉบับพิเศษฉลองวันเกิดให้คุณชาย

ผมรีบหันขวับไปหาสุจิตต์….กูเขียนด้วยคนฮี่

“สายชะแล้ว” เสถียร จันทิมาธร พยักพเยิดกับ “สาหร่าย” และ”จันทน์ผา” ทำเสียง “อรวรรณ” ตอนออกจากโรงพยาบาลใหม่ ๆ  เสียงแหบแห้งซะไม่มี…ผมเป็นคนเลียนเสียง “พี่เลียว”ให้เพื่อนฝูงฟังเวลาเมาได้ที่…หอกเจ็กกลับมาแทงเจ๊กจนได้

“เค้าปิดรับต้นฉบับตั้งแต่เมื่อวานแล้วโว้ย กำลังจะส่งเรียงทั้งหมดอยู่แล้ว วันก่อนก็ไม่เสือกมา” สุจิตต์ วงษ์เทศ ตอบโดยไม่เงยหน้า

เออน่า ไม่ได้เขียนตอนนั้นมาเขียนตอนนี้ก็ได้ (วะ) เอาให้มันยาวเหยียดถึงอกถึงใจพระเดชพระคุณ จะบอกว่าถึงใจคุณนายผู้ว่าฯตามสมัยนิยมก็จะน่าเกลียดซะเปล่า ฯ

กระทั่งหนังสือเสร็จ สะเด็ดสะเด่าเข้าไส้นักหนา เพราะคนทำเค้ามือฉมังทางนี้อยู่แล้ว แถมทุ่มหัวใจ “บูชาครู” เข้าไปอีก ถ้าไม่สวยก็บ้า

พระอาจารย์ใหญ่เห็นเข้าถึงกับชมเปาะ

“คุณสุจิตต์นี่ทำหนังสือเก่งจริงๆ เออแน่ะ หนังสือสวยดีๆ ยังงี้ต้องพิมพ์เยอะๆ ไม่งั้นก็จะแจกจ่ายกันไม่ทั่วถึง”

รักใคร่กันป่านนั้น จะเอาเรื่องท้าเตะท้าต่อยมาเล่าเดี๋ยวจะเสียบรรยากาศงานมงคล “แซยิดพระอาจารย์ใหญ่” ซะเปล่าๆ

คืนวันที่ 20 เมษายน 2514 ซอยสวนพลูรถติดวินาศสันตะโรเหมือนบนทางด่วนทุกวันนี้แหละครับ ผู้คนหลั่งไหลกันมามืดฟ้ามัวดินเพื่ออวยพรวันเกิดปรมาจารย์ (ความจริงมาขอพรน่ะ) ขนาดรอบเช้า รอบเที่ยงรอบบ่ายก็ฉาย เอ๊ย ! ก็มากันหลายรอบแล้วนะครับ

พวกที่มาตั้งแต่รอบแรก  แต่ว่าปักหลัก หรือรากงอกอยู่จนค่ำมืดดึกดื่นก็ใช่ว่าจะหาไม่ได้ บรรยากาศครึกครื้นเหมือนปีใหม่ที่ท้องสนามหลวง คึกคักคล้ายวันติดตลาดนัดเสาร์-อาทิตย์ที่ทุ่งพระเมรุอีกเหมือนกัน ร้านอาหารที่ลูกศิษย์ลูกหาสรรมาช่วยเหลือออกงานก็หลายสิบเจ้า  ระดับเชลล์ชวนชิมทั้งนั้นแหละครับ ประเภทชิมไปด่าไปน่ะเค้าไม่เอาเข้ามาให้รกบ้านสวนพลูหร็อก

เหล้าเบียร์ไม่มีอั้น การละเล่นก็หลากหลาย ทั้งเพลงฉ่อย ลำตัด เพลงไทยหนังใหญ่ หนังตะลุง โขน ละคร เพียบไปหมด ใครชอบอะไรก็เลือกไปดูไอ้นั่น หลายๆ คนแวะไปดูโดยทั่วถึงอย่างละนิดละหน่อยจนกระทั่งไปปักหลักอยู่หน้ามหรสพที่ตัวชอบเป็นพิเศษ

อีกหลาย ๆ คนไม่ค่อยสนใจกับการแสดงนัก แต่ไปคอยห้อมล้อมพระอาจารย์ใหญ่เสียมากกว่าถ่ายรูปถ่ายวิดีโอ เอ๊ย! ถ่ายภาพยนตร์กันเป็นการเอิกเกริกไป

คุณนพพร บุณยฤทธิ์ เพิ่งจะย้ายตำแหน่งจาก บก.ชาวกรุง มาเป็น บ.ก.สยามรัฐรายวันเมื่อปีกลาย (2513) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดทำ “สยามรัฐฉบับแทรกซ้อน” เป็นพิเศษในวันเกิดท่านผู้อำนวยการ ทุกวันนี้นิยมเรียกขานกันง่าย ๆ ว่า  “ฉบับแทรก” หรือ“ฉบับพิเศษ”

ระดมนักเขียนในค่ายสยามรัฐและบรรดาญาติมิตร ลูกศิษย์ลูกหาทั้งในและนอกสยามรัฐมาเขียนกันให้สะพรั่ง ปีนั้นมีทั้ง “สยามรัฐฉบับพิเศษ” และ “คึกฤทธิ์ 60” กับ”โครงกระดูกในตู้” ฉลอง “แซยิด” คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึง 3 เล่ม ด้วยกัน

ขายดิบขายดี จนต้องพิมพ์ซ้ำ

พ.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร (ยศขณะนั้น) เขียนใน “คึกฤทธิ์ 60” ท่อนท้ายๆ เอาไว้ว่า

“พวกผมรู้ดีมานานแล้วว่า วันที่อาจารย์คึกฤทธิ์อายุครบ 60 ปีจะต้องมาถึงแน่นอน แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครวิตกว่าวันนั้น จะนำเอาความแก่มาสู่อาจารย์คึกฤทธิ์ ตรงกันข้าม พวกเราดูจะคิดว่าวันที่ 20 เมษายนของทุกปีนั้น ต่อความหนุ่มของอาจารย์

คึกฤทธิ์ให้ยื่นยาวออกไปอีก

“และจำนวนลูกศิษย์รุ่นต่าง ๆ ของอาจารย์คึกฤทธิ์ที่นับแต่จะมากขึ้น ๆ และหนุ่มลง ๆ นั้น ก็เป็นเครื่องยืนยันอย่างแน่นแฟันว่า “คึกฤทธิ์” จะไม่มีวันแก่เป็นอันขาด”

จริงของ “พี่หนู” ซะด้วยชีครับ

“คุณคึกฤทธิ์มีฝีปากฝีมือเป็นเยี่ยมในทางศิลปวิทยาการนานาซึ่งผู้ใดชอบด้านใดก็เลือกนิยมคุณคึกฤทธิ์ทางด้านนั้นได้ด้วยเหตุนี้ “แฟน” ของคุณคึกฤทธิ์จึงมีเป็นแสนเป็นล้านอย่างไม่มีปัญหา เพราะคุณคึกฤทธิ์เพียงคนเดียวได้กลายเป็นที่รวมของดาราหลายประเภทไปแล้ว”

คุณประสัตถ์ ปันยารชุน ได้เขียนถึงในหัวเรื่องที่ว่าด้วย “คึกฤทธิ์กับคนไทยจำนวนล้าน” และได้ขยายความว่า

“ยิ่งกว่านั้น คุณคึกฤทธิ์ยังไม่ยอมหยุดตนเองเพียงแต่เป็นดารายอดนิยมเท่านั้น แต่คุณคึกฤทธิ์ยังปฏิบัติตนจน “แฟน” ทุกประเภทรู้สึกว่าเป็นมิตรส่วนตัวที่มีความนึกคิดและจิตใจตรงกัน ชนิดที่มีอะไรก็ปรับทุกข์กันได้ เดือดร้อนอะไรก็เดือดร้อนเหมือนกัน และคุณคึกฤทธิ์ก็เต็มใจเป็นปากเป็นเสียงให้อย่างองอาจ

คุณคึกฤทธิ์กับคนไทยจำนวนแสนจำนวนล้านจึงเสมือนญาติสนิทกัน เช่น เมื่อคุณคีกฤทธิ์ถูกฟ้อง คนไทยจำนวนแสนจำนวนล้านก็ห่วงใยและสาปแช่งคนที่หาเรื่องคุณคึกฤทธิ์ เมื่อคุณคึกฤทธิ์ป่วยไข้ คนไทยจำนวนแสนจำนวนล้านก็ขอให้หายวันหายคืน แม้จนกระทั่งเมื่อสุนัขของคุณคึกฤทธิ์หายก็พลอยกระวนกระวายกันไปด้วย”

ก่อนจะลงเอยว่า “เป็นที่มั่นใจได้ว่า คุณคึกฤทธิ์จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอีกมากนัก และคนไทยจำนวนแสนจำนวนล้านยังต้องการคุณคึกฤทธิ์ตลอดไป

ด้วยเหตุนี้ คุณคึกฤทธิ์ครับ คุณตายไม่ได้”

“เกิดมาฤทธิ์กล้ากว่าใครอื่น
เป็นผู้ใหญ่ที่ตื่นสม่ำเสมอ
ซึ่งคนวัยเดียวกันฝันละเมอ
พกเพ้อไม่ยอมรับความจริง
วัยหกสิบใช่เจว็ดประจำศาล
หรือนั่งเป็นพระประธานประดับทิ้ง
หรือทำตนเป็นฤษีที่เลี้ยงลิง
วิ่งได้ก็ต้องวิ่งให้เด็กดู

จะกล่าวชมหรืออวยพรก็ข้อนขัด
อึดอัดภายในหัวใจอยู่
ตาสบตาครั้งใดก็ได้รู้
เราต่างหากคือผู้รับเมตตา
เผลอทะลึ่งตึงตังบ่อยพลั้งผิด
ก็ไม่คิดโมโหด้วยโทสา
วัยก็ห่างดังบุตรกับธิดา
จึงจนคำนักหนาประหม่าอาย

แม้อวยพรให้ท่านได้ในวันนี้
ขอให้มีฤทธิ์กล้าอย่าหดหาย
เป็นฤทธิ์แห่งคุณกรรมก่องกำจาย
และอย่าเพิ่งด่วนตายในสิบปี
ให้แข็งแกร่งทนทานสู้งานหนัก
ให้เป็นหลักผูกคนผู้ถอยหนี
เฒ่าสู้งานในเมืองไทยมองไม่มี
ขอพระเพียงเท่านี้นะพระเอย”

ขรรค์ชัย บุนปาน – สุจิตต์ วงษ์เทศ ใน “สยามรัฐฉบับแทรก” 20 เมษายน 2514

ภาพประกอบ การ์ตูน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช โดย อรุณ วัชระสวัสดิ์

โปรดอย่าลืมกดติดตามเพจของ MIC ได้ที่ : Facebook : Facebook Matichon MIC

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image