พ.ศ. 2525 ปีแห่งการลอบสังหาร บุคคลสำคัญของไทย

พุทธศักราช 2525 เมื่อ 40 ปีที่แล้ว เป็นปีที่มีการวางแผนลอบสังหารบุคคลสำคัญของประเทศไทยหลายครั้ง

ก่อนหน้านี้ ในปี พ.ศ. 2524 เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ นั่นคือความพยายามก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระหว่างวันที่ 1-3 เมษายน 2524

ผู้ก่อการนำโดยพลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ มีกำลังทหารเข้าร่วมถึง 42 กองพัน ภายใต้การบังคับบัญชาของนายทหารที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 7 (จรป.7) หรือรุ่น “ยังเติร์ก” อาทิ พันเอก มนูญ รูปขจร, พันเอก ประจักษ์ สว่าง-จิตร, พันโท พัลลภ ปิ่นมณี, พันเอก ชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล, พันเอก สาคร กิจวิริยะ เป็นต้น

แต่การยึดอำนาจล้มเหลว และถูกขนานนามว่า “กบฏเมษาฮาวาย” หรือ “กบฎยังเติร์ก”

Advertisement

เหตุการณ์ผ่านพ้นมาถึงปี 2525 ก็มีเหตุการณ์ลอบสังหารบุคคลสำคัญ โดยมีหลายครั้งไม่ปรากฎเป็นข่าวต่อสาธารณะ เนื่องจากไม่มีการลงมือ จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตามแต่ 

ทั้งนี้ หลังจากปี พ.ศ.2525 ผ่านพ้นไปแล้ว จึงปรากฎรายงานข่าวว่า มีการวางแผนและพยายามจะลอบสังหาร แต่ไม่มีการลงมือ 7 ครั้ง ดังนี้

-ครั้งที่ 1 วันที่ 6-7 มีนาคม 2525 พบแผนลอบสังหารพล.ท.อาทิตย์ กำลังเอก แม่ทัพภาคที่ 1 (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ในงานยกช่อฟ้าที่วัดจิระ อ.เมืองลพบุรี

Advertisement

-ครั้งที่ 2 วันที่ 8-25 มีนาคม 2525 พบความพยายามลอบสังหารพล.ท.อาทิตย์ ขณะเดินทางไปเยี่ยมภริยาที่ป่วยรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ 

-ครั้งที่ 3 วันที่ 3 มิถุนายน 2525 พบแผนลอบสังหารพล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก(ยศและตำแหน่งใหม่) ขณะไปทอดกฐิน ที่วัดแก้วนิมิตร อ.เมืองลพบุรี 

-ครั้งที่ 4 วันที่ 1 ตุลาคม 2525 พบการตระเตรียมลอบปลงพระชนม์พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์หนึ่ง ในพิธีเปิดการแข่งขันฟุตบอลควีนส์คัพ ที่สนามกีฬาแห่งชาติ

-ครั้งที่ 5 วันที่ 17 ตุลาคม 2525 พบแผนลอบสังหารพล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบก(ตำแหน่งใหม่) ขณะไปทอดกฐิน ที่วัดหน้าพระเมรุ จ.พระนครศรีอยุธยา

-ครั้งที่ 6 วันที่ 20 ตุลาคม 2525 พบการตระเตรียมลอบปลงพระชนม์พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์หนึ่ง รวมทั้งพล.อ.เปรม ละพล.อ.อาทิตย์ พร้อมกันในพิธีปิดการแข่งขันฟุตบอลควีนส์คัพ ที่สนามกีฬาแห่งชาติ

-ครั้งที่ 7 วันที่ 31 ตุลาคม 2525 พบแผนลอบสังหารพล.อ.อาทิตย์ ขณะไปทอดกฐิน ที่วัดศรีสุทธาวาส อ.เมืองเลย

แต่ที่มีการลงมือจริง เป็นข่าวใหญ่เกรียวกราว มี 4 ครั้ง

ครั้งที่ 1 

เย็นวันที่ 5 พฤษภาคม 2525 เกิดเหตุระเบิดรถยนต์คันหนึ่งซึ่งจอดอยู่หน้าโรงเรียนพาณิชยการสันติราษฎร์ เยื้องกับบ้านพักของ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

เช้าวันรุ่งขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจากแผนกวัตถุระเบิด กองพลาธิการ กรมตำรวจ เข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุพบลานนาฬิกา กระสุนปืนใหญ่ชนิด 105 มิลลิเมตร 3 ลูก ชนวนระเบิด และระเบิด ที.เอ็น.ที.หนัก 10 ปอนด์ที่ยังไม่ระเบิด

ระเบิดดังกล่าวเป็นชนิดแสวงเครื่องผูกติดนาฬิกาตั้งเวลา น้ำหนักทั้งหมด 20 ปอนด์ซุกอยู่ในรถคันดังกล่าว แต่ระเบิดไปเพียงครึ่งเดียว เนื่องจากคนร้ายต่อชนวนไม่ดี

จุดวางระเบิดเป็นเส้นทางที่พล.อ.อาทิตย์ จะเดินทางผ่านไปกลับที่ทำงาน แต่เกิดระเบิดขึ้นเสียก่อนที่จะผ่านมา

ครั้งที่ 2 

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2525 มีการลอบสังหารพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขณะไปเป็นประธานเปิดอนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายพหลโยธิน หมู่ที่ 7 ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี

ภายหลังเสร็จสิ้นพิธี คณะพลเอกเปรมจึงเดินทางกลับ แต่ขณะที่ขบวนรถยังแล่นอยู่ภายในศูนย์การทหารปืนใหญ่ คนร้ายไม่ทราบจำนวนใช้เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม. 72 ยิงใส่ แต่กระสุนพลาดเป้าหมายเฉียดหลังคารถของพลเอกเปรมไปเล็กน้อย โดยกระสุนพุ่งไปตัดกิ่งไม้ของต้นไม้ต้นหนึ่งข้างทางร่วงกราว แล้วไปชนภูเขาระเบิดเสียงดังสนั่น

แต่บุคคลร่วมคณะพลเอกเปรม ทั้งหมดไม่มีใครเอะใจ เนื่องจากการได้ยินเสียงระเบิดในค่ายทหารถือเป็นเรื่องธรรมดา

และเหตุการณ์นี้ก็ไม่ปรากฎเป็นข่าวต่อสาธารณะแต่อย่างใด จนกระทั่งนิตยสาร “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับวันที่ 25-29 กรกฏาคม 2525 ขึ้นหน้าปกข่าวใหญ่

“ลอบสังหารเปรมที่ลพบุรี แผนของใคร?”

โดยรายงานข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2525 ดังกล่าว

กระนั้น คนในคณะรัฐบาล รวมถึงพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ก็ออกมาปฏิเสธข่าวว่า 

“ผมไม่ทราบ ไม่เห็นมีอะไร ไม่มีข่าว ไม่มีรายงาน”

หนึ่งเดือนต่อมา หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน ฉบับวันที่ 25 สิงหาคม 2525 รายงานข่าวใหญ่หน้า 1

“จับ 5 ทหารลพบุรี มือสังหารเปรม”

โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม และวันที่ 7 สิงหาคม 2525 มีการจับกุมนายทหารชั้นประทวน 5 นายที่ตกเป็นผู้ต้องหามีส่วนร่วมลอบสังหารพลเอกเปรม ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ลพบุรี

ทำให้ทุกฝ่ายจำยอมรับว่า การลอบสังหารได้เกิดขึ้นจริง

แต่การสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์นี้ ก็ยืดเยื้อข้ามมาถึงปี พ.ศ. 2526

กระทั่งคณะกรรมการสอบสวนได้สรุปและแถลงว่า ผู้ที่ลอบสังหารคือ พันตรีไพรัช โพธิพฤกษาวงษ์ สังกัดศูนย์การทหารปืนใหญ่ จ่าสิบเอกอมรศักดิ์ อินดีโชติ สังกัดกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ และสิบเอก สุพัฒน์ ทองสุกผ่อง สังกัดกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 31 รักษาพระองค์ 

แต่พันตรีไพรัชและสิบเอกสุพัฒน์ หลบหนีไปได้

ต่อมาวันที่ 26 เมษายน 2526 เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบทราบว่า พันตรี ไพรัช หลบซ่อนตัวอยู่ในบ้านหลังหนึ่งที่หมู่บ้านอุดมทรัพย์ แขวงบางนา เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร

พันตำรวจเอกบุญชู วังกานนท์ ได้นำกำลังตำรวจหลายสิบนายเข้าล้อมจับเมื่อเวลา 12.00 น. 

แต่พันตรีไพรัช ใช้ปืนพก 9 มม.บราวนิ่ง ไฮพาวเวอร์ ชิงยิงตัวตายเสียก่อนจะถูกจับ

ครั้งที่ 3 

วันที่ 15 สิงหาคม 2525 เวลา 22.15 น. คนร้ายใช้ระเบิดแบบ เอ็ม. 26 ลูกเกลี้ยงใส่ไว้ในแก้วน้ำแล้วขว้างข้ามกำแพงด้านสโมสรกองทัพบกเข้าไปยังบ้านสี่เสาเทเวศร์ ซึ่งเป็นบ้านพักของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ 

ระเบิดตกที่โคนต้นปาล์มในสนามหญ้าด้านข้างกลุ่มอาคาร ต้นปาล์มล้มลง สะเก็ดระเบิดกระจายโดนกระจกหน้าต่างและฝ้าเพดานของห้องนายทหารคนสนิทเสียหายเล็กน้อย ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ

ส่วนพลเอกเปรม อยู่ภายในบ้าน ยังไม่ได้นอนหลับ

เหตุระเบิดครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังจากพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการกองกำลังรักษาพระนครได้จัดตั้งกองกำลังเฉพาะกองผสมระหว่างทหารราบ ทหารม้าและทหารช่าง โดยใช้ชื่อหน่วยว่า “นรสิงห์” ก่อนหน้านี้เพียง 4 วัน

หน่วยนรสิงห์ เป็นกองกำลังเคลื่อนที่เร็วเพื่อจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ทันท่วงที โดยมีเซ็นเตอร์อยู่ที่ “กองกำลังรักษาพระนคร(กกล.รพน.)” ถนนราชดำเนินนอก

โดยพลันเมื่อสิ้นเสียงตูมของระเบิด หน่วยนรสิงห์ก็รุดไปถึงบ้านสี่เสาฯ ภายใน 3 นาที

พลเอกอาทิตย์ กล่าวหลังเหตุการณ์ว่า การปาระเบิดบ้านนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นการท้าทายและทดสอบฝีมือตนและหน่วยนรสิงห์

และครั้งที่ 4 

หลังเกิดเหตุปาระเบิดใส่บ้านสี่เสาเทเวศร์ไม่ถึงเดือน

วันที่ 9 กันยายน 2525 เวลา 20.14 น. ขณะที่ทหารรักษาการณ์กระทรวงกลาโหมเดินตรวจการณ์อยู่บริเวณทางเท้ารอบๆ กระทรวงในยามค่ำคืนตามปกติ 

พลทหารนายหนึ่งพบกระติกน้ำแข็งลายสก๊อตสีแดงใบหนึ่งที่มุมอาคารด้านปีกซ้ายของกระทรวงซึ่งติดกับถนนกัลยาณไมตรี โดยมีกระทรวงการต่างประเทศอยู่ฝั่งตรงข้าม

ทหารยามเปิดฝากระติกดู พบห่อกระดาษปิดอยู่ภายใน มีสายไฟเส้นเล็กๆ โยงออกมา 4 เส้น

ทหารยามผู้นั้นจึงรีบกลับไปยังป้อมยาม โทรศัพท์แจ้งนายทหารเวร จากนั้นแจ้งไปยังศูนย์วิทยุ 191 ตำรวจนครบาล

แต่ยังไม่ทันที่เจ้าหน้าที่กู้ระเบิดจะมาถึง กระติกลูกนั้นก็ระเบิด เสียงบึ้มกัมปนาทกึกก้อง

ทหารยามที่จับตาดูอยู่ห่างๆ บาดเจ็บ 4 นาย ประชาชนที่ผ่านไปมาบริเวณนั้นบาดเจ็บ 2 คน หน้าต่างกระทรวงกลาโหมเสียหาย 14 บาน 

และอานุภาพของระเบิด ยังทำให้กระจกหน้าต่างอาคารสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และอาคารยานยนต์กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งอยู่นอกบริเวณรั้วของกระทรวงกลาโหมเสียหายอีกหลายบาน

จุดที่ตั้งของกระติกมรณะลูกนั้น อยู่ใกล้บริเวณอาคารของกระทรวงกลาโหมที่ชั้นล่างเป็นห้องเก็บพัสดุ

แต่ชั้นสองนั่นคือ ห้องทำงานของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 

โดยที่ในวันเดียวกันนี้เอง ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้บัญชาการทหารบก

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2525 เป็นต้นไป

ทั้งหมดนี้เป็นเหตุการณ์ระทึกขวัญที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งปี พ.ศ.2525 โดยแกนนำกลุ่มนายทหาร จปร.7 ตกเป็นเป้าถูกจับตาว่า มีส่วนร่วมในการลอบสังหาร หรือไม่

ต่อมา หลังจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. เข้ายึดอำนาจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 แล้ว มีการดำเนินคดีกับพันเอกมนูญ รูปขจร 

แต่แล้วในวันที่ 30 ธันวาคม 2536 ศาลอาญาได้ยกฟ้อง

รับชมสรุปข่าวผ่านรายการ Explainer: https://youtu.be/xUK2XckkqYI

#เปรม #ลอบสังหาร #การเมือง #ศูนย์ข้อมูลมติชน #MatichonInformationCenter 

โปรดอย่าลืมกดติดตามเพจของ MIC ได้ที่ :

Facebook : www.facebook.com/MatichonMIC

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image