ดาราศาสตร์ไทย สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

30 เมษายน 2231 เกิดเหตุการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์ เมื่อสมเด็จพระนารายณ์เสด็จทอดพระเนตรการเกิดสุริยุปราคา

ที่เมืองลพบุรี และเป็นปีสุดท้ายในรัชกาลของพระองค์ กล่าวได้ว่าในรัชสมัยของพระองค์ มีการค้นคว้าทางด้านวิทยาการจากโลกตะวันตกเข้ามา โดยเฉพาะเรื่องราวทางด้านดาราศาสตร์ ทางศูนย์ข้อมูลมติชนจึงนำเรื่องราวความสนใจดาราศาสตร์ไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแบบสังเขป จากศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กรกฏาคม 2561 ดังนี้ 

บาทหลวงฝรั่งเศสที่เข้ามาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ให้ความสนใจเรื่องดาราศาสตร์ในสยามเป็นอย่างมาก เนื่องจากบาทหลวงเหล่านี้มีภารกิจในการตรวจสอบเส้นเทหวัตถุบนท้องฟ้า ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์และที่ตั้งของเมืองต่างๆ เพราะหลังจากที่หอดูดาวกรุงปารีสก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1667 แล้วเสร็จใน ค.ศ. 1671

ผู้อำนวยการหอดูดาวฝรั่งเศสคนแรกคือ ฌอง โดมินิค แคสสินี (Jean-Dominique Cassini) ก็ส่งเสริมให้มีการออกเดินทางไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกเพื่อเก็บข้อมูลและส่งข้อมูลเหล่านั้นกลับมายังกรุงปารีส บรรดาบาทหลวงฝรั่งเศสจึงรับมอบหมายภารกิจสำคัญนี้

Advertisement

ในสยาม เมื่อราชทูตฝรั่งเศส เชอวาลิเยร์ เดอ โชมองต์ (Chevalier de Chaumont) รับหน้าที่เป็นราชทูตเดินทางเข้ามาในพุทธศักราช 2228 เพื่อโน้มน้าวพระราชหฤทัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้ทรงเข้ารีตเป็นคริสต์ศาสนิกชนและเพื่อสนธิสัญญาทางการค้านั้น

มีคณะบาทหลวงกลุ่มหนึ่งเดินทางมาด้วย กล่าวคือ บาทหลวงฟงเตอเนย์ (Père Fontenay) เป็นหัวหน้าคณะ บาทหลวงแฌร์บิยง (Père Gerbillon) บาทหลวงเลอกงต์ (Père Le Comte) บาทหลวงวิสเดอลู (Père Visdelou) บาทหลวงบูเวต์ (Père Bouvet) และบาทหลวงตาชารด์ (Père Tachard)

บาทหลวงทั้ง 6 รูปนี้เป็นบาทหลวงในนิกายเยซูอิต (Jésuites) ที่มีความรู้ความสามารถด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และดาราศาสตร์ ออกเดินทางจากเมืองแบรสต์ (Brest) ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 3 มีนาคม 2227 (ตามการนับปีแบบเดิมที่จะเปลี่ยนปีในเดือนเมษายน) และเดินทางถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ในวันที่ 10 กันยายน 2228

Advertisement

บาทหลวง เดอ ชัวซี (De Choisy) ซึ่งเป็นผู้ช่วยทูตมาในคณะดังกล่าวบันทึกในหนังสือจดหมายเหตุรายวันของตนว่าระหว่างเดินทางบนเรือมาอยุธยา “ตอนค่ำศึกษาวิชาดาราศาสตร์ เพราะเราไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับดวงอาทิตย์ได้ ต้องการชมแต่ดวงจันทร์กับดวงดาวทั้งหลายเท่านั้น เราเริ่มรู้จักกับเส้นทางของแซงต์ฌัคส์ และราชรถของกษัตริย์เดวิดแล้ว และเราจะได้เห็นดวงดาวที่เราไม่เคยเห็นมาแต่ก่อนเลยทางฟากฟ้าเส้นศูนย์สูตรด้านโน้นอีกด้วย แผนที่ดาราศาสตร์ของหลวงพ่อปาร์ดีส์ (Père Pardies) ซึ่งหลวงพ่อ เดอ ฟองเตอเนย์ (Père de Fontenei) มีส่วนช่วยทำอยู่ด้วยนั้น เป็นที่พอใจของเรามาก” (น. 104) ระหว่างการเดินทางบนเรือมีการบันทึกเหตุการณ์การดูดาวหลายครั้ง กระทั่งถึงกรุงศรีอยุธยา 

และเมื่อราชทูต เดอ โชมองต์ได้เฝ้าฯ ถวายพระราชสาส์นแล้ว ได้เดินทางตามเสด็จสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไปประพาสเมืองลพบุรี ครั้นวันที่ 5 ธันวาคม ปีเดียวกันนั้น บาทหลวง เดอ ชัวซี บันทึกความตอนหนึ่งว่า “พระโหราจารย์ของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามได้มาชมดวงดาวจากกล้องดูดาวอันใหญ่ของพวกบาทหลวงเยซูอิต กล่าวถึงพวกเยซูอิตนั้น หลวงพ่อตาชาร์ดจะกลับไปประเทศฝรั่งเศส ข้าพเจ้ายินดี ว่ากันว่าเขาจะไปหานักคำนวณที่มีความรู้ดีๆ มาสักสิบสองคน ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินจะทรงรับไว้ใช้ในราชการ จะสร้างหอดูดาวขึ้นแห่งหนึ่งที่เมืองละโว้ และอีกแห่งหนึ่งที่สยาม” (เดอ ชัวซี, น. 501)

วันที่ 11 ธันวาคม 2228 เป็นวันสำคัญที่เกิดเหตุการณ์จันทรุปราคาที่ลพบุรี สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จทอดพระเนตรพร้อมด้วยบาทหลวงฝรั่งเศสที่ตั้งกล้องดูดาวถวาย บาทหลวง เดอ ชัวซี บันทึกว่า

“เมื่อคืนนี้มีจันทรุปราคา เริ่มจับเวลาสามนาฬิกากับสิบห้านาทีของตอนเช้าวันใหม่ หลวงพ่อ เดอ ฟองเตอเนย์กับเพื่อนร่วมงานของท่านได้ตั้งกล้องส่องดาวในห้องๆ หนึ่งใกล้ที่ประทับ และพระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จมาทรงสังเกตร่วมกับพวกท่านด้วย ในโอกาสนี้พระองค์ลืมพระอิสริยยศหมดสิ้น พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้บาทหลวงลุกขึ้นยืนสูงเสมอด้วยพระองค์ และทรงแสดงความพอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก นี่เป็นข้อพิสูจน์ที่ดีประการหนึ่ง พระองค์ทรงมีรับสั่งกับพวกบาทหลวงว่าจะได้ให้สร้างโบสถ์ เรือนพักพระราชทานกับจะได้ให้สร้างหอดูดาวแห่งหนึ่งที่เมืองละโว้ และอีกแห่งหนึ่งที่สยามขึ้น และทรงมีพระราชประสงค์ให้พวกบาทหลวงและนักบวชอื่นๆ ได้ค้นคว้าพบสิ่งใหม่ๆ แปลกๆ ต่อไป แล้วก็ติดตามด้วยการพระราชทานเสื้อชายยาวตัดด้วยแพรต่วนแก่พระบาทหลวงทุกรูปให้นำกลับไปยังเรือนที่พักของตน” (เดอ ชัวซี, น. 514-515)

ในจดหมายของบาทหลวงแฌร์บิยง (Père Gerbillon) เขียนที่เมืองลพบุรี ในวันที่ 5 มิถุนายน 2229  (จดหมายของบาทหลวงแฌร์บิยงมี 5 ฉบับที่เกี่ยวกับสยาม ยังไม่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย) เล่าเรื่องเมื่อครั้งได้รับพระมหากรุณาจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้เข้าเฝ้าเรื่องดาราศาสตร์นี้ไว้ว่า “พระเจ้าแผ่นดินทรงพระมหากรุณาพระราชทานอาหารอันวิเศษแก่เรา 7-8 อย่างที่นำมาในภาชนะของพระองค์และเชิญมาโดยขุนนางของพระองค์ นอกจากการเกิดจันทรุปราคาที่พวกเราได้ร่วมสังเกตหน้าพระที่นั่งเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วมานั้น  พระองค์ยังพระราชทานโอกาสให้พวกเราเข้าเฝ้าเป็นการเฉพาะอีกหลายคราวเมื่อตอนปลายเดือนเมษายน พร้อมกับท่านสังฆราชเมเตลโลโปลิส ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโปรดปรานเราเป็นพิเศษ บรรดาขุนนางผู้ใหญ่ของอาณาจักร และขุนนางในราชสำนัก รวมทั้งเมอซิเออร์กองสต๊องซ์ได้เข้าเฝ้าอยู่ที่ข้างหลังพวกเรา โดยหมอบกราบจนกระทั่งใบหน้าจะจรดพื้นดิน และอยู่ในท่านั้นนานตลอดเวลาที่พวกเราเฝ้าฯ ประมาณ 2 ชั่วโมง พวกเรานั่งบนพรมตรงพระพักตร์พระเจ้าอยู่หัว บริเวณเดียวกับท่านสังฆราชเมเตลโลโปลิส และเมื่อวันก่อน พระองค์มีรับสั่งมายังพวกเราว่าทรงปรารถนาจะทอดพระเนตรพวกเราในการดูจันทรุปราคาที่จะเกิดขึ้นที่นี่ในวันรุ่งขึ้นเวลาเย็น  และเป็นที่นั่นด้วยเช่นกันที่พวกเราจะได้กราบบังคมทูลลากลับ…” (Henri, pp. 439-442)

.

ส่วนบาทหลวงตาชาร์ด ซึ่งรับหน้าที่เดินทางกลับไปฝรั่งเศสเพื่อหานักบวชที่มีความรู้ด้านดาราศาสตร์เข้ามายังสยามนั้น ครั้นเดินทางกลับจากประเทศฝรั่งเศสพร้อมคณะราชทูตออกพระวิสุทธสุนทร (ปาน) เมื่อพุทธศักราช 2229 ก็บันทึกว่า 

“บรรดาเครื่องไม้เครื่องมือนั้นได้รับพระมหากรุณาพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสิ้น อาทิ เครื่องวัดเสี้ยววงกลมสองสำรับ นาฬิกามีลูกตุ้มสำหรับใช้จับเวลาในการสำรวจดวงดาวสองเรือน วงแหวนสำหรับใช้ในการดาราศาสตร์หนึ่งชุด เครื่องมือสำหรับวัดความเหลื่อมหนึ่งชุด บรรทัดกึ่งวงกลมขนาดต่างๆ กับเครื่องมือเล็กๆ น้อยๆ อีกเป็นอันมากซึ่งข้าพเจ้าจำรายละเอียดไม่ได้เสียแล้ว” (ตาชารด์, น. 150)  

อย่างไรก็ดี บาทหลวงตาชารด์ได้เล่าถึงภารกิจด้านดาราศาสตร์ แต่ครั้งที่เดินทางมาถึงสยามไว้ว่า

“เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว หลังจากที่เรากลับไปถึงกรุงศรีอยุธยาได้ไม่นานนัก เราได้สร้างหอดูดาวขนาดย่อมขึ้นที่บ้านพักของพระบาทหลวงชาวปอร์ตุเกสที่ตั้งอยู่ในค่ายหรือหมู่บ้านของชาวชาตินั้น” (ตาชารด์, น. 285) 

และเมื่อบาทหลวงตาชารด์เดินทางไปยังเมืองลพบุรีด้วย ภารกิจสำคัญด้านดาราศาสตร์ก็ยังคงปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง บันทึกของบาทหลวงตาชารด์เองทำให้เราทราบว่าบ้านพักของราชทูตเปอร์เซียตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์นัก ดังนี้

“ในขณะเดียวกันนั้น คณะทูตแห่งประเทศเปอร์เซียออกเดินทางกลับไปยังประเทศของตน ม.ก็องสตังซ์เขียนหนังสือบอกข้าพเจ้ามาว่า ให้นำพระบาทหลวงของเราเข้าพำนักในบ้านของพวกทูตที่เมืองละโว้ซึ่งว่างอยู่นั้น หลวงพ่อบูเวต์กับข้าพเจ้าล่วงหน้าไปก่อน เราไปถึงในตอนกลางคืนวันคริสต์สมภพ ซึ่งเขาเข้าไปมิสซาตอนเที่ยงคืนอยู่ในโรงสวดของเขา ส่วนพระบาทหลวงรูปอื่นๆ นั้นตามหลังเรามาอีกแปดวันต่อมา เขานำเราไปยังเรือนพักของพวกเราและสั่งให้อำนวยความสะดวกให้ทุกอย่างตามแต่เราจะต้องการ เรือนหลังนี้มีหอนั่งอันงดงามและชั้นบนมีห้องถึงสี่ห้อง ตรงหน้าหอนั่งนั้นมีอุทยาน และด้านหนึ่งของอุทยานนั้นเป็นอาคารสำหรับประกอบอาหาร อีกด้านหนึ่งเป็นอาคารที่เราอาจแบ่งออกได้เป็นหลายห้อง ห้องหนึ่งเราใช้ทำเป็นโรงสวด อีกห้องหนึ่งเป็นหอดูดาว” (ตาชารด์, น. 287)

ข้อมูลของบาทหลวงฝรั่งเศสทั้ง 2  รูปที่บันทึกเกี่ยวกับการดาราศาสตร์ในสยามสรุปได้ว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้ความสนพระราชหฤทัยเรื่องการดูดาวเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องที่ต่างไปจากการรับรู้ในสยามมาก่อน มีการทดลองเรื่องเวลา เรื่องการเกิดคราส และการหาตำแหน่งที่ตั้งของดวงดาวที่ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น 

และการสร้างหอดูดาวนั้นปรากฏทั้งข้อมูลที่อยุธยาและที่ลพบุรี ที่อยุธยานั้นแสดงว่ากลุ่มบาทหลวงเคยใช้พื้นที่บริเวณค่ายโปรตุเกส ซึ่งเป็นที่ตั้งของโบสถ์เยซูอิต เป็นที่ดูดาวด้วย และคงได้ใช้พื้นที่บริเวณบ้านพักเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ในบริเวณเกาะเมืองด้านใต้ เป็นที่พักและดูดาวหรือทดลองดาราศาสตร์

ส่วนที่เมืองลพบุรีนั้น การที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดปรานบาทหลวงที่ถวายความรู้เรื่องดาราศาสตร์นี้ ทำให้พระราชทานที่ดินสำหรับก่อสร้างวัดและหอดูดาวขึ้น คือหอดูดาวสันเปาโล ซึ่งสอดคล้องกับแผนผังเมืองลพบุรีใหม่ที่วิศวกรฝรั่งเศส เดอ ลา มาร์ (De la Mare) รับหน้าที่ออกแบบได้เขียนบรรยายบริเวณที่เป็นวัดสันเปาโลและหอดูดาว ว่า “วัดคณะเยซูอิต มีหอคอยแปดเหลี่ยมตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางด้านหน้าของที่พัก สำหรับใช้เป็นที่สังเกตปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ และวิชาคำนวณ” ส่วนบริเวณใกล้กับพระราชวังเมืองละโว้ บาทหลวงฝรั่งเศสได้พำนักในบริเวณอาคารเดียวกับที่ราชทูตเปอร์เซียพักมาก่อน เชื่อว่าคือบริเวณตึกปิจู ตึกโครส่าน ที่อยู่บริเวณเดียวกับวัดเสาธงทอง ไม่ไกลนักจากบ้านเจ้าพระยาวิชาเยนทร์

อย่างไรก็ดี การสร้างวัดสันเปาโลและหอดูดาว อาจจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้น เพราะสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคต ทำให้การก่อสร้างถูกทิ้งร้างต่อ กระนั้นรายงานการสังเกตดาราศาสตร์ ทั้งการเกิดคราส และดวงดาวบนท้องฟ้าจำนวนมากที่บาทหลวงผู้รับผิดชอบก็จะถูกส่งต่อกลับไปยังประเทศฝรั่งเศส เพื่อประมวลเป็นองค์ความรู้ใหม่ด้านดาราศาสตร์สากล

ในพุทธศักราช 2231 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น พระองค์ยังได้เสด็จทอดพระเนตรเหตุการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์อีกครั้งหนึ่งที่เมืองลพบุรี คือการเกิดสุริยุปราคาในวันที่ 30 เมษายน 2231 ซึ่งปรากฏภาพเขียนสีน้ำมันขณะที่พระองค์ทอดพระเนตรเหตุการณ์นี้ร่วมกับบาทหลวงเยซูอิตที่คอยถวายคำอธิบาย และมีเจ้าพระยาวิชาเยนทร์เฝ้าฯ พร้อมด้วย

หนังสือที่ผู้เขียนบทความเรื่องนี้ใช้อ้างอิง

เดอ ชัวซี. 2550. จดหมายเหตุรายวันการเดินทางไปสู่ประเทศสยาม ในปี ค.ศ. 1685 และ 1686. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา.

ตาชาร์ด. 2551. จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทศสยาม. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา.

Cordier, Henri. 1906. “Cinq lettres inédites du, Père Gerbillon, S. J.,” in T’oung Pao. Second Series, Vol. 7, No. 4, pp. 437-468.

(คัดบางส่วนจากบทความเรื่อง อารยธรรมดาราศาสตร์ไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช : เอกสารดาราศาสตร์ไทยที่ประเทศฝรั่งเศส เขียนโดย รศ. ดร. ปรีดี  พิศภูมิวิถี ศิลปวัฒนธรรม เมษายน 2561)

ซื้อ E-Magazine : bit.ly/SILAPAWATTANATHAM

ราคาฉบับละ120 บาท

สมาชิก E-Magazine 6  เดือน รับส่วนลด 10%

สมาชิก E-Magazine 1  ปี รับส่วนลด 15%

สามารถอ่านได้ทั้งระบบ iOS และ Android ผ่าน Application

Ookbee, MEB, SE-ED, NAIIN, Hytexts, Google Play Books

#พระนารายณ์ #ลพบุรี #ดาราศาสตร์ #ศิลปวัฒนธรรม #MatichonMIC

โปรดอย่าลืมกดติดตามเพจของ MIC ได้ที่ :

Facebook : www.facebook.com/MatichonMIC

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image