จิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อถูกปล่อยตัวจากคุกลาดยาว

5 พฤษภาคม 2509 วันเสียชีวิตของ จิตร ภูมิศักดิ์  นักคิด นักประวัติศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ ที่ฝากผลงานไว้กับสังคมไทยเป็นจำนวนมาก ผลงานเขียนของจิตรเป็นงานอมตะที่ใครศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์และภาษา ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง 

เพื่อเป็นการรำลึกถึงนักคิดนักเขียนคนสำคัญท่านนี้ ทางศูนย์ข้อมูลมติชน จึงคัดส่วนหนึ่งจากบท “เมื่อถูกปล่อยตัว” ในหนังสือ “ทัณฑะกาล” ของจิตร ภูมิศักดิ์ และผู้ต้องขังการเมือง  เขียนโดย วิลลา วิลัยทอง จัดพิมพ์โดย สนพ.มติชน เมื่อพ.ศ.2556 

หนังสือ “ทัณฑะกาล” ของจิตร ภูมิศักดิ์ และผู้ต้องขังการเมือง

จิตร ภูมิศักดิ์ ได้รับการปล่อยตัวหลังอิศรา อมันตกุลและอุดม ศรีสุวรรณ กล่าวคือ วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2506 อัยการศาลทหารกรุงเทพฯ ยื่นฟ้องจิตรตามพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 โดยยกเรื่องการทำหนังสือมหาวิทยาลัย 23 ตุลา ฉบับปี 2496 มราจิตรทำหน้าที่สาราณียกรมาเป็นคดีฟ้อง พล.ต.พิบูลย์ จันทโรจน์วงศ์ เป็นผู้พิพากษาคดีนี้

จิตร ภูมิศักดิ์ (คนที่ 3จากซ้าย) ส่วนคนที่อุ้มเด็ก คือ อิศรา อมันตกุล ขณะถูกคุมขังที่คุกลาดยาว

ต่อมาภายหลัง พล.ต. พิบูลย์ได้ให้สัมภาษณ์ กับทวีป วรดิลก ว่าการฟ้องเรื่องเมื่อปี พ.ศ. 2496 นั้นรัฐบาลได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมในโอกาสครบรอบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ.2499 มาตรา 3 ไปแล้ว เมื่อนำการกระทำนั้นมาฟ้องอีก จึงเป็นการฟ้องซ้ำ ขัดต่อหลักการพื้นฐานของกฎหมาย 

Advertisement

ศาลทหารยกฟ้องและมีคำสั่งปล่อยตัวจิตรเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2507 เขาเดินทางออกจากลาดยาวพร้อมกับต้นฉบับเขียนด้วยลายมือ เรื่อง ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอมฯ ความยาวกว่า 600 หน้า

จิตรกลับไปอยู่บ้านที่ซอยศิวาลัย ถนนงามวงศ์วาน กับแสงเงินและภิรมย์ 1 วันหลังจากจิตรออกจากลาดยาว เขาและแสงเงินยังกลับไปเยี่ยมเพื่อนในลาดยาวและร่วมฉลองปีใหม่ พ.ศ.2508ด้วยกัน จากนั้นจิตรอ่านและเขียนหนังสืออยู่ที่บ้าน 

ขณะเดียวกันก็เริ่มหางานทำ แต่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบากในระยะแรกเนื่องจาก “ถูกทางการปฏิกิริยาปิดล้อมไว้อย่างทั่วทุกด้าน” ในที่สุด จิตรได้งานตำแหน่งครู และขณะเดียวกันพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ผ่านองค์กรแนวร่วมเพื่อเอกราชแห่งชาติ ซึ่งมี มงคล ณ นคร เป็นประธาน ได้ส่งคนมาติดต่อจิตรเพื่อขอให้เข้าป่าผ่านทาง จังหวัดสกลนคร จิตรตอบตกลงทันที และเดินทางเข้าป่าเพื่อเข้าร่วมในขบวนการสงครามประชาชนปลายปี พ.ศ.2508 

Advertisement

สิริอุษา พลจันต์ (นามแฝง) เล่าว่า กลางปี พ.ศ.2508 ตนเองได้พบกับจิตรที่ร้านเนี้ยวหน้าพระลาน จิตรกล่าวว่า “ผมมีข่าวดี ข่าวดีมากจริงๆ คุณรู้ไหมเวลานี้มีสองขบวนการเกิดขึ้นแล้ว แนวร่วมรักชาติแห่งประเทศไทยกับขบวนการเอกราชแห่งประเทศไทย คุณสนใจไหม…ขบวนการและแนวร่วมนี้มีลักษณะปฏิวัติจริงๆ ครั้งนี้จะรู้สึกจะเป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะพบกันนะ” สมาชิกชาวศิลปากรมีโอกาสไปเลี้ยงส่งจิตรที่ร้าน

อาหารชื่อประตูชัยก่อนจิตรเดินทางสู่ป่า

จิตรตั้งใจว่าจะเข้าไปทำงานในส่วนงานด้านวัฒนธรรมและทางพรรคเองต้องการส่งจิตรไปยังต่างประเทศ ให้จิตรเป็น “คนผ่านทาง” แต่จิตรขอเรียนรู้การปฏิวัติในชนบทไทยเสียก่อน สุดท้ายจิตรจึงได้ “ทำงามวลชน” 

ธง แจ่มศรี อดีตผู้นำสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้เคยพูดคุยกับจิตรถึงเหตุผลที่จิตรเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เนื่องจากตัวจิตรเองตื่นตัวเรื่องก้าวหน้าจากการได้อ่านหนังสือต่างประเทศและได้อ่าน “มติของกรมการเมือง พ.ศ.2506” ซึ่งถือว่าเป็นเอกสารลับสุดยอด มีเนื้อหาเกี่ยวกับปัญหาเรื่องการเตรียมการต่อสู้ด้วยอาวุธ ที่วิเคราะห์ถึงสภาพความ เป็นจริงของพรรค จึงเกิดความศรัทธา

ขณะที่จิตรทำงานมวลชนนั้น พื้นที่หน่วยของจิตรมีฐานพักพิงชั่วคราวที่ภูผาผึ้งและเคลื่อนไหวอยู่ทางตะวันออกของหมู่บ้านคำบิดและหมู่บ้านคำบ่อ มีผู้สันนิษฐานว่าอาจจะอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตัวอำเภอวาริชภูมิจังหวัดสกลนคร ในแต่ละวัน จิตรและ “นักรบบุกเบิก” มักจะตีนราวตี 5 ออกกำลังกาย ล้างหน้าแปรงฟัน อาหาร เน้นการหุงข้าวเหนียว จิตรได้รับข้าวเหนียวสำหรับหุง 1.5 กระป๋องต่อ 1 มื้อ วันหนึ่งกิน 3 มื้อ ขณะที่คนอื่นได้รับ 1 กระป๋องต่อมื้อ และวันหนึ่งกินได้ 2 มื้อ เป็นนโยบายพิเศษจากทางจัดตั้ง เนื่องจากจิตรเป็นโรค “กระเพาะครากเรื้อรัง”

จิตรยังเขียนจดหมายติดต่อกับแสงเงิน ทำให้เรารู้ว่าอาการโรคทางกระเพาะของเขาดีขึ้นมาก ทานข้าวเป็นเวลา ได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และปลูกกล้วยไม้ กิจวัตรที่เขายังคงทำสม่ำเสมอคือการเขียนหนังสือ ระหว่างรอไปพบมวลชนจิตรจะนั่งบันทึกเรื่องราวต่างๆ ลงในสมุดเล่มละสลึง เขาสนใจศึกษาภาษาถิ่นและวัฒนธรรมพื้นบ้านเป็นอย่างมาก มีโอกาสได้สัมผัสชีวิตชาวบ้านชาวผู้ไทแห่งหมู่บ้านคำบิดและหมู่บ้านคำบ่อ จึงให้ความสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ

จิตรถูกเจ้าหน้าที่ล้อมจับและถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2509 ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งบริเวณเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร ถือว่าเป็นการเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ อุดม สีสุวรรณ บันทึกไว้ว่า จิตรและพวกอีก 5 คนถูกกองกำลังเจ้าหน้าที่จูโจม จึงได้แยกย้ายกันหลบหนีเป็นคู่ คู่ของจิตรแตกไปทางตอนเหนือซึ่งเป็นทุ่งกว้าง “พอไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งสวรรค์ (คู่ของจิตร] ไม่รู้จัก คุณจิตรสั่งให้สวรรค์คอยอยู่ข้างนอก ส่วนตัวคุณจิตรเข้าไปในบ้านเพื่อขอข้าว ไปได้สักพักหนึ่ง สวรรค์ก็ได้ยินเสียงปืนหลายนัด สวรรค์

คาดว่าจิตรคงถูกยิง แต่ตัวเองไม่สามารถเข้าไปช่วย เพราะห่างไกลกับที่เกิดเหตุ”

อ่านเพิ่มเติมได้ที่

“ทัณฑะกาล” ของจิตร ภูมิศักดิ์ และผู้ต้องขังการเมือง
ผู้เขียน วิลลา วิลัยทอง
ราคา E-Book ราคา 119 บาท
ดาวน์โหลด E-Book (คลิก)
สามารถอ่านได้ทั้งระบบ iOS และ Android ผ่าน Application
Ookbee, MEB, SE-ED, NAIIN, Hytexts, Google PlayBooks, Storylog, Bookcaze

โปรดอย่าลืมกดติดตามเพจของ MIC ได้ที่ : Facebook Matichon MIC

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image