“ม็อบมือถือ” พลังแห่งชนชั้นกลาง ในเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ 2535”

การชุมนุมทางการเมืองคัดค้านการที่พลเอกสุจินดา คราประยูร เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนต่อเนื่องถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2535 มีปรากฎการณ์น่าสนใจที่เรียกกันว่า “ม็อบมือถือ”

โดย หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 10-วันพุธที่ 13 พฤษภาคม 2535 พาดหัวข่าวใหญ่หน้า 1 ว่า ล้มรัฐบาล “สุ”? ประกาศิตจาก ‘ม็อบมือถือ’

หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 10-วันพุธที่ 13 พฤษภาคม 2535

พร้อมกับโปรยข่าวส่วนหนึ่งว่า

Advertisement

“ชนชั้นกลางประกาศพลังเป็นเฟืองหลักขับเคลื่อนประชาชนเรือนแสนจากรัฐสภาสู่ท้องสนามหลวง หยัดยืนเรียกร้องประชาธิปไตย ไล่ “สุจินดา” พ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรี นักธุรกิจรุ่นใหม่ “ไวต์คอล่า” ตบเท้าถอดสูททิ้ง รถเก๋งนับพันคัน หิ้วมือถือร่วมชุมนุม แอ๊กติวิสต์เก่า เจ้าของบริษัทเอกชนทนดูไม่ไหว สั่งปิดโรงงานขนลูกน้องมาช่วยหนุนไม่ขาด…” 

และรายงานข่าวละเอียด ดังนี้

ปฏิบัติการ “ม็อบมือถือ”

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานสถานการณ์วิกฤตทางการเมืองโดยการชุมนุมของประชาชนนับแสนนั้น ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2535 จนกระทั่งถึงการชุมนุมหน้าสภาเมื่อวันที่ 6,7 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยภายใต้การประสานงานร่วมระหว่างพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 4 พรรค, สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยและองค์กรกิจกรรมนักศึกษาทั่วประเทศ, องค์กรพัฒนาเอกชน, คณาจารย์ นักวิชาการสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศทั้งในนามส่วนตัวและในนามคณะสภามหาวิทยาลัยทั่วประเทศ 

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไม่เพียงประชาชนที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สนใจทางการเมืองและเดินทางมาร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ต้องการนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งที่มาร่วมสนับสนุนให้กำลังใจ พลตรีจำลอง ศรีเมือง และเรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร ที่อดข้าวประท้วงพลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแล้ว 

ปรากฎว่า แกนหลักที่สำคัญในการชุมนุมดังกล่าวจะเป็นกลุ่มคนในระดับฐานะปานกลาง นักธุรกิจรุ่นใหม่วัยกลางคน เจ้าของกิจการส่วนตัว รวมถึงพนักงานออฟฟิศที่มีฐานะดีพอสมควร และส่วนหนึ่งคือแอ๊กติวิสต์หรือนักกิจกรรมเก่า กลุ่มอดีตผู้นำนักศึกษาที่เคยผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 หรือเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 มาแล้ว

ภาพแปลกใหม่ที่ปรากฎอย่างเห็นได้ชัดทั้งในวันที่มีการชุมนุมหน้าสภา 6 พฤษภาคม จนถึงวันที่ 7 พฤษภาคม ซึ่งมีการเคลื่อนกลุ่มผู้ชุมนุมไปตามถนนราชดำเนินสู่ท้องสนามหลวงนั้น มีขบวนรถยนต์ของผู้ร่วมชุมนุมประท้วงเป็นแถวยาวเหยียดพากันเคลื่อนออกจากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อมาชุมนุมที่ท้องสนามหลวงต้องใช้พื้นที่จอดรถยนต์เป็นบริเวณกว้างมาก 

นอกจากนี้ ยังมีระบบการสื่อสารที่ดีมากโดยกลุ่มคนที่มาร่วมชุมนุมมีวิทยุติดตามตัวและโทรศัพท์มือถือใช้เป็นส่วนใหญ่ สามารถติดต่อข่าวสารจากหลายๆ ทางได้ตลอดเวลา รวมถึงใช้ประสานงานกันในเวทีปราศรัยด้วย

กลุ่มผู้ที่มาร่วมชุมนุมบางส่วนมาจากบริษัทเอกชนหลายแห่งที่อนุญาตให้พนักงานลูกจ้างมาร่วมชุมนุมได้ บางรายเป็นเจ้าของกิจการขนาดกลางหรือเจ้าของโรงงาน และส่วนใหญ่เคยมีประสบการณ์การต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองในสมัยที่ยังเป็นนักศึกษา

และนั่นคือครั้งแรกที่มีการเอ่ยเรียกขานการชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้ว่า “ม็อบมือถือ”

โดยในช่วงนั้นมีการตั้งฉายาการชุมุนุมว่า “ม็อบรถเก๋ง” กับ “ม็อบมือถือ” 

แต่ที่ฮิตติดปากที่สุดจนถึงทุกวันนี้ก็คือ  “ม็อบมือถือ”

และ ประชาชาติธุรกิจ ฉบับถัดมา วันพฤหัสบดีที่ 14-วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม 2535 รายงานข่าวความเคลื่อนไหวในส่วนนี้อย่างต่อเนื่องตอนหนึ่งว่า

“โทรศัพท์มือถือและวิทยุติดตามตัว เป็นอุปกรณ์สื่อสารที่ผู้ร่วมชุมนุมนำติดตัวไปด้วยตลอด อาจเป็นเพราะจะได้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวติดตามเหตุการณ์จากที่อื่นด้วย

แหล่งข่าวเจ้าของโทรศัพท์เคลื่อนที่รายหนึ่งเปิดเผยว่า ตนพร้อมจะนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปสนับสนุนการชุมนุมครั้งต่อไปในวันที่ 17 พฤษภาคม เครื่องที่เราจะเอาไปให้บริการเป็นเครื่องกระเป๋าหิ้วไม่ต่ำกว่า 10 เครื่อง โดยจะปักป้ายว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อประชาธิปไตย ที่สำคัญยังเป็นการสะท้อนกลุ่มคนที่มาว่า เป็นชนชั้นกลางและเป็นม็อบมือถือจริงๆ”

ทั้งนี้ โทรศัพท์มือถือ(mobile phone) ในช่วงแรกจะเรียกกันว่า “โทรศัพท์เคลื่อนที่” โดยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เป็นรายแรกที่เริ่มให้บริการในปี 2529 ในระบบ NMT470 ซึ่งเครื่องลูกข่ายของผู้ใช้ในระบบนี้จะมีลักษณะเป็นกระเป๋าหิ้ว มีน้ำหนักประมาณ 1-5 กิโลกรัม บางครั้งผู้ใช้ก็เรียกกันเล่นๆ ว่า “โทรศัพท์กระเป๋าหิ้ว” 

ปีถัดมา 2530 การสื่อสารแห่งประเทศไทยเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ AMPS800 ที่เครื่องลูกข่ายของผู้ใช้มีขนาดเล็ก สามารถถือไปมาได้โดยสะดวก และได้รับความนิยม

และนั่นน่าจะเป็นที่มาของการเปลี่ยนไปเรียกว่า “โทรศัพท์มือถือ” จากนั้นเรียกกันสั้นๆ ว่า “มือถือ” ในเวลาต่อมา

แต่ในยุคแรกผู้ที่จะเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือได้ ต้องมีรายได้ มีฐานะทางการเงินสูง เพราะราคาเครื่องละหลายหมื่นบาทไปจนถึงหลักแสนบาท 

สำหรับ “กลุ่มคนในระดับฐานะปานกลาง” หรือชนชั้นกลางที่เข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้แบ่งออกได้ 2 กลุ่มใหญ่ คือ

กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อสู้กับเผด็จการมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ นักศึกษา นักวิชาการ อาจารย์ ผู้ปฏิบัติงานในองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ 

กลุ่มที่สอง เป็นผู้ที่ทำงานในภาคธุรกิจเอกชนทั้งในระดับปฏิบัติการและระดับผู้บริหารองค์กร เจ้าของกิจการธุรกิจทุกภาคส่วน รวมทั้งกลุ่มวิชาชีพสาขาต่างๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชน เช่น แพทย์พยาบาล วิศวกร สถาปนิก ทนายความ เป็นต้น กลุ่มคนเหล่านี้เข้าร่วมเพราะต้องการให้ระบบการเมืองมีประสิทธิภาพ มีนักการเมืองที่เป็นมืออาชีพในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ขณะที่ทางด้านสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยออกสำรวจผู้เข้าร่วมชุมนุมพบว่า เป็นผู้มีอายุ 20-29 ปีจำนวนร้อยละ 49.5 และมีอายุระหว่าง 30-39 ปีร้อยละ 36.5 

เป็นเจ้าของกิจการธุรกิจ ร้อยละ 13.7 เป็นลูกจ้างพนักงานธุรกิจเอกชน ร้อยละ 45.7 เป็นข้าราชการ ร้อยละ 14.8 และเป็กนักศึกษา ร้อยละ 8.4

ผู้ร่วมชุมนุม

โดยผู้ร่วมชุมนุมร้อยละ 45.4 มีรายได้ 10,000-49,000 บาทต่อเดือน

และนอกเหนือจากชนชั้นกลางจะเข้าไปร่วมชุมนุมในม็อบอย่างมากมายแล้ว ในช่วงระหว่างการชุมนุมครั้งนี้ รัฐบาลพยายามปิดกั้นข่าวสารในเรื่องการชุมนุมเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับรู้ความเป็นจริง สถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ถูกสั่งให้ออกข่าวสารที่เป็นแต่ด้านดีของรัฐบาล ทำการสัมภาษณ์ผู้ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม และกล่าวโจมตีกลุ่มผู้ชุมนุม

แต่พลังชนชั้นกลางที่มีโทรศัพท์มือถือ มีวิทยุติดตามตัวหรือเพจเจอร์อย่างแพ็คลิ้งค์-โฟนลิ้งค์ รวมทั้งเครื่องถ่ายเอกสารและเครื่องโทรสารที่สำนักงานซึ่งเป็นอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น ได้จัดตั้งเครือข่ายติดต่อสื่อสารกันและใช้อุปกรณ์เหล่านี้เผยแพร่ข่าวสารทางฟากผู้ชุมนุมต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ นัดแนะชักชวนให้มาเข้าร่วมชุมนุม รวมทั้งทำใบปลิวตอบโต้ข่าวสารที่บิดเบือนจากสื่อที่เป็นฝ่ายรัฐบาลส่งผ่านเครื่องโทรสารไปยังพรรคพวกเพื่อนฝูง

อันเป็นการทลายการผูกขาดเครื่องมือสื่อสารที่แต่เดิมภาครัฐถืออยู่ในกำมือของตนแต่ผู้เดียวลงไปได้

และนี่ก็คือ ปรากฎการณ์พลังแห่ง “ชนชั้นกลาง” ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ในครั้งนั้น

โปรดอย่าลืมกดติดตามเพจของ MIC ได้ที่ : Facebook Matichon MIC

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image