Natural Science : แกะรอยประวัติศาสตร์จีโนม โดย ดร.ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

มนุษย์น่าจะเป็นสัตว์ชนิดเดียวบนโลกที่ตั้งคำถามว่าเราเป็นใคร? มาจากไหน? และจะไปทางไหนต่อ?ประวัติศาสตร์ ตำนาน เรื่องเล่าคือแผนที่บอกตำแหน่งและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์และสรรพสิ่งรอบข้างบนสายธารเวลาจากบรรพกาลสู่อนาคตไกลโพ้น 

เราศึกษาประวัติศาสตร์จากร่องรอยอดีตที่คงเหลือ เราอ่านจดหมายเหตุพงศาวดาร ฟังคำบอกเล่า ขุดคุ้ยเศษซากวัตถุและสถาปัตยกรรม เพื่อปะติดปะต่อเรื่องราวที่อาจจะผ่านมาแล้วเป็นร้อยเป็นพันปี และด้วยพลังของวิทยาศาสตร์เราสามารถมองประวัติศาสตร์ผ่าน “จีโนม” สมุดบันทึกเล่มใหญ่ที่เราทุกคนพกติดตัวไว้ในทุกเซลล์…

ข้อมูลพันธุกรรมของทุกชีวิตบนโลกถูกเก็บรักษาและส่งต่อผ่านโมเลกุล “ดีเอ็นเอ” ในจีโนม ดีเอ็นเอเป็นโพลิเมอร์สายยาวที่ประกอบด้วยหน่วยย่อยคือเบส A, T, G, C เรียงสลับสับเปลี่ยนกันเหมือนตัวอักษรในสมุด ลำดับเบสแต่ละส่วนในจีโนมอาจประกอบกันเป็น “ยีน” ที่กำหนดลักษณะหน้าตา/พฤติกรรม/ความสามารถต่างๆของสิ่งมีชีวิตนั้นๆเหมือนกับ “ประโยค” ที่สื่อความหมายต่างๆกัน ลำดับเบสส่วนอื่นๆอาจะทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายสัญลักษณ์ว่าต้องอ่านหรือข้ามประโยคไหนในสภาวะแวดล้อมหรือสถานการณ์ใด

จีโนมที่เปรียบดังสมุดบันทึกพันธุกรรมถูกคัดลอกและส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น การคัดลอกนี้ไม่ได้สมบูรณ์ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ “ข้อผิดพลาด” (หรือที่นักชีววิทยาเรียกว่า “การกลาย” – mutation) พวกนี้มีตั้งแต่การสะกดผิดเล็กๆน้อยๆที่เปลี่ยนตัวอักษร(เบส)เดี่ยวๆตัวหนึ่งเป็นอีกตัวไปจนถึงการลอกข้ามลอกซ้ำจนข้อมูลขาดหรือเกินไปทั้งประโยคหรือครึ่งค่อนหน้า ถ้าไปโดนประโยคสำคัญก็อาจทำให้สิ่งมีชีวิตตัวนั้นพิกลพิการ ตาย หรือสิ้นโอกาสสืบทอดเผ่าพันธุ์ แต่ข้อผิดพลาดอีกไม่น้อยก็แทบไม่ส่งผลกระทบอะไรและถูกลอกต่อไปรุ่นหน้าเรื่อยๆ

Advertisement

หนึ่งในคำถามสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่จีโนมตอบเราได้ก็คือคำถามที่ว่า “คนกลุ่มไหนเกี่ยวดองกับคนกลุ่มไหน?” บนสมมติฐานที่ว่ามนุษย์ทั้งโลกเริ่มต้นมาจากกลุ่มบรรพบุรุษร่วมเดียวกัน สมุดจีโนมเล่มเริ่มต้นก็ต้องเป็นต้นฉบับเดียวกันจากนั้นก็ถูกคัดลอกส่งต่อแยกแตกแขนงเป็นสมุดจีโนมของเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ต่างๆ ระหว่างคัดลอกต่อๆกันไปก็มี mutation ใหม่ๆสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  สองเผ่าพันธุ์ไหนที่มีจีโนมคล้ายคลึงมีตำแหน่งการกลายแทบทุกตำแหน่งตรงกันก็แปลว่าสองเผ่านี้เพิ่งได้รับส่งทอดสมุดจีโนมจากบรรพบุรุษร่วมเดียวกันไม่นานมานี้ ส่วนสองเผ่าไหนที่จีโนมต่างกันมากกว่าก็แปลว่าแยกจากกันมานานมากแล้วต่างเผ่าก็ต่างสะสม mutation ใหม่ๆในแบบของตัวเองไว้เยอะแยะ ดังนั้นการเปรียบเทียบจีโนมของมนุษย์เผ่าพันธุ์ต่างๆทำให้เราสามารถสร้างแผนภาพต้นไม้  (genealogy) แสดงความเชื่อมโยงระหว่างแต่ละเผ่าพันธุ์ได้

หลายตำแหน่งบนจีโนมมีอัตราการเกิดและสะสม mutation ที่ค่อนข้างคงที่ ดังนั้นเราสามารถนับจำนวนการสะสม mutation ที่แตกต่างกันระหว่างสองเผ่าพันธุ์เพื่อใช้เป็น “นาฬิกาโมเลกุล (molecular clock)” บ่งบอกว่าสองเผ่าพันธุ์นี้เริ่มแยกจากกันตั้งแต่เมื่อไหร่ วิธีนี้ทำให้เราระบุช่วงเวลาประวัติศาสตร์การกำเนิดของเผ่าพันธุ์ใหม่ๆในอดีตย้อนไปเป็นแสนเป็นล้านปี

ร่องรอยประวัติศาสตร์บนจีโนมยังบอกเราเกี่ยวกับการอพยพโยกย้าย ตั้งรกรากและวิกฤติประชากร เผ่าพันธุ์ที่อยู่ที่เดิมมายาวนานจะสะสมคลังความหลากหลายของ mutation กระจายกันอยู่บนจีโนมของสมาชิกแต่ละคน เมื่อประชากรกลุ่มเล็กๆแยกวงออกไปตั้งรกรากที่ดินแดนใหม่ก็จะแบ่งความหลากหลายเพียงส่วนน้อยติดไปเป็นต้นฉบับของประชากรใหม่ ดังนั้นความหลากหลายของ mutation ในประชากรตั้งรกรากใหม่จึงน้อยกว่า ด้วยหลักการเดียวกันเมื่อเกิดภัยพิบัติบางอย่างที่ทำลายประชากรส่วนใหญ่ไปความหลากหลายประชากรก็จะสูญเสียไปด้วย ปรากฏการณ์นี้นักชีววิทยาเรียกว่าการเกิดคอขวดประชากร (genetic bottleneck) เป็นอีกหนึ่งหลักฐานสำคัญสำหรับการส่องมองย้อนอดีตของเผ่าพันธุ์ต่างๆ 

Advertisement

ในทางปฏิบัติ การแกะรอยประวัติศาสตร์จากจีโนมมีความซับซ้อนกว่าที่เล่ามาข้างต้น ข้อมูลพันธุกรรมในจีโนมในแต่ละเซลล์ของมนุษย์แบ่งออกเป็นสองส่วนคือจีโนมหลักในนิวเคลียสของเซลล์ (nuclear genome) และจีโนมย่อยในไมโตคอนเดรีย (mitochondrial genome) ขณะที่ nuclear genome ของเราได้จากพ่อและแม่อย่างละครึ่ง mitochondrial genome ของเราได้มาจากทางแม่เท่านั้น* การแกะรอยประวัติศาสตร์จากจีโนมในปัจจุบันใช้ข้อมูลจากทั้งสองส่วนนี้ประกอบกัน 

Mitochondrial genome ของมนุษย์มีขนาดเพียงหมื่นกว่าตัวอักษร เทียบได้ประมาณสิบหน้ากระดาษเท่านั้น ส่วน nuclear genome มีขนาดกว่า 6 พันล้านตัวอักษร เทียบเท่ากับ 4 ล้านหน้ากระดาษ …มากพอจะบรรจุในห้องสมุดขนาดย่อมด้วยหนังสือหนาๆหลายพันเล่ม 

การแกะรอยประวัติศาสตร์จาก mitochondrial genome ทำได้ง่ายกว่ามากเนื่องจากข้อมูลมีขนาดเล็ก และซับซ้อนน้อยกว่าทั้งในแง่ของลำดับเบสภายใน (ลำดับเบสที่ซ้ำซ้อนถอดรหัสยากๆมีน้อย) และในแง่ของการสืบทอดพันธุกรรม (ผ่านมาแต่ทางแม่อย่างเดียว) นอกจากนี้ในเซลล์หนึ่งๆของเรามี mitochondrial genome อยู่หลายพันชุดเทียบกับ nuclear genome ที่มีอยู่ชุดเดียว ดังนั้นการสกัดแยก mitochondrial genome ออกมาศึกษาจึงทำได้ง่ายกว่าโดยเฉพาะจากตัวอย่างฟอสซิลที่ดีเอ็นเอเหลือคงสภาพอยู่ไม่มากแล้ว

ปลายยุค 1980s ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กเลย์  (UC Berkeley) รายงานผลการศึกษาเปรียบเทียบ mitochondrial genome ของอาสาสมัครชาวพื้นเมืองรวม 147 คนจากแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย ยุโรป และนิวกินี ผลวิเคราะห์ชี้เป้าไปที่บรรพบุรุษร่วมที่น่าจะมีชีวิตอยู่เมื่อราวๆ 2 แสนปีที่แล้วในแอฟริกา บรรพบุรุษร่วมนี้ถูกตั้งชื่อเล่นภายหลังว่า “Mitochondrial Eve” ล้อตามชื่อ “อีฟ (Eve)” แม่คนแรกของโลกตามคัมภีร์ไบเบิล อีฟคงไม่ใช่มนุษย์ผู้หญิงคนเดียวบนโลกในช่วงเวลานั้นแต่เป็นอาจจะเป็นคนเดียวที่ mitochondrial genome ถูกส่งทอดมาถึงปัจจุบัน เนื่องจาก mitochondrial genome ถูกส่งผ่านจากแม่สู่ลูกเท่านั้น แม่คนไหนที่ไม่มีลูกสาวสายการสืบทอดจีโนมนี้ก็จะสิ้นสุดลง

ความหลากหลายของ mutation บน mitochondrial genome ถูกใช้ในการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์การการอพยพและตั้งรกรากของเผ่าพันธุ์มนุษย์ตามหลักคอขวดประชากรที่กล่าวมาข้างต้น เผ่าพันธุ์ในแอฟริกาที่อยู่มาช้านานตั้งแต่กำเนิดมนุษย์มีความหลากหลายของสูงสุด ส่วนเผ่าพันธุ์อื่นๆยิ่งอยู่ไกลออกไปจากแอฟริกาความหลากหลายก็ยิ่งต่ำลง การเปรียบเทียบจีโนมร่วมกับการใช้ molecular clock และหลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆบอกเราว่ามนุษย์อพยพแยกย้ายไปตั้งรกรากนอกแอฟริกาตั้งแต่แสนกว่าปีก่อน เข้าเอเชียใต้และตะวันออก 70,000 ปีก่อน สู่ยุโรป 40,000 ปีก่อน ร่อนเร่ข้ามช่องแคบที่อลาสกาไปจนถึงอเมริกาเหนือและใต้ 10,000 กว่าปีก่อน แม้แต่หมู่เกาะน้อยใหญ่กลางมหาสมุทรก็มีมนุษย์เข้าไปตั้งรกรากตั้งแต่พันกว่าปีมาแล้ว

Nuclear genome มีขนาดและรูปแบบการถ่ายทอดที่ซับซ้อนกว่า mitochondrial genome มาก ถ้าเปรียบข้อมูลในจีโนมเหมือนตัวหนังสือในสมุดอย่างที่กล่าวมาข้างต้น เราอาจแบ่ง “สมุด nuclear genome” ที่มนุษย์เราแต่ละคนถือไว้เป็นเล่มย่อยๆ 44 เล่มตามจำนวนโครโมโซมร่างกาย (autosome) ทั้งหมดที่เรามีอยู่ และมีอีก 2 เล่มพิเศษเป็นโครโมโซมกำหนดเพศ (sex chromosome) ใน 44 เล่มแรกนี้ เนื้อหาซ้ำกันเป็นคู่ๆแบ่งได้ทั้งหมด 22 คู่ สมุดคู่ซ้ำที่ว่านี้เราแต่ละคนได้เล่มหนึ่งจากพ่ออีกเล่มจากแม่ เนื้อหาในสมุดคู่ซ้ำเหมือนกันมากทั้งการแบ่งบท ย่อหน้า ไปจนถึงโครงสร้างประโยคย่อยๆแต่ละประโยค (ยีนที่ทำหน้าที่ต่างๆกันแต่ละยีน) แต่ก็อาจจะแตกต่างกันในรายละเอียดของคำและตัวสะกด (เช่น ยีนควบคุมสีตาของจากพ่ออาจจะเป็นสีฟ้า จากแม่อาจจะเป็นสีดำ) ส่วน 2 เล่มหลังที่กำหนดเพศนี้จะเป็นคู่ซ้ำเช่นในผู้หญิง (ที่เราเรียกว่าโครโมโซม XX) แต่จะเป็นเล่มใหญ่หนึ่งเล็กหนึ่ง  (โครโมโซม XY) ในผู้ชาย

เนื่องจากโครโมโซม Y ส่งจากพ่อถึงลูกชายเท่านั้น เราก็สามารถใช้หลักการคล้ายกับการศึกษา mitochondrial genome แกะรอยประวัติศาสตร์พ่อของพ่อของพ่อไปเรื่อยๆ ผลการวิเคราะห์บ่งชี้ไปที่บรรพบุรุษร่วมของโครโมโซม Y ของชายทั้งโลก (เรียกชื่อเล่นว่า “Y-chromosomal Adam”) เมื่อราวๆ 2.5 แสนปีที่แล้วที่แอฟริกา ที่น่าสนใจคือรูปแบบการกระจายตัวของความหลายหลายของโครโมโซม Y ต่างจาก mitochondrial genome พอสมควร สาเหตุหนึ่งน่าจะเป็นเพราะผู้ชายเคลื่อนย้ายถิ่นฐานได้ง่ายกว่าไกลกว่า และผู้ชายหนึ่งคนมีลูกได้เยอะกว่าผู้หญิงหนึ่งคนมาก คอขวดประชากรของโครโซมโซม Y ปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดในช่วงประมาณหมื่นปีที่แล้วในแทบทุกประชากรสำรวจแต่กลับไม่พบคอขวดแบบเดียวกันบน mitochondrial genome นั่นแปลว่าช่วงเวลานั้นเกิดเหตุการณ์ปริศนาบางอย่างที่ทำให้ประชากรผู้ชายส่วนใหญ่ตายหรือหมดโอกาสสืบพันธุ์ไป สมมติฐานหนึ่งที่มีตอนนี้คือช่วงเวลานั้นสอดคล้องกับช่วงเวลาที่มนุษย์ทยอยเปลี่ยนวิธีชีวิตจากคนเร่ร่อนเก็บของป่าล่าสัตว์ในเผ่าเล็กๆเข้าสู่สังคมเกษตรและตั้งรกรากกันเป็นเมือง สังคมขนาดใหญ่ที่มีลำดับขั้นแบบนี้เอื้อให้ผู้ชายส่วนน้อยที่อยู่ยอดๆของพีระมิดชนชั้นได้เมียเยอะลูกเยอะโอกาสส่งต่อโครโมโซม Y มากกว่าผู้ชายส่วนใหญ่ที่อยู่ชั้นล่างๆ

“สมุด autosome” 44 เล่มที่เหลือเป็นแหล่งข้อมูลประวัติศาสตร์อีกมหาศาล สมุดคู่ซ้ำทั้ง 22 คู่จะถูกดึงออกมาแบบสุ่มคู่ละเล่มเหลือเป็น 22 เล่มในเซลล์สืบพันธุ์ รอเอาไปเข้าคู่กับอีก 22 เล่มให้ครบ 44 เล่มตอนปฏิสนธิ กระบวนการสุ่มเลือกโครโมโซมระหว่างการสร้างเซลล์สืบพันธุ์นี้เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญว่าทำไมพี่น้องที่ไม่ใช่แฝดเหมือนจากพ่อแม่เดียวกันจึงแทบไม่มีโอกาสที่จะมีจีโนมเหมือนกันอย่างสมบูรณ์เลย** ยิ่งไปกว่านั้นระหว่างการสร้างเซลล์สืบพันธุ์โครโมโซมคู่ซ้ำก็มีโอกาสที่จะเอาชิ้นส่วนมาแลกเปลี่ยนกัน (recombination) เปรียบเหมือนเอาประโยค/หัวข้อ/ย่อหน้าจากเล่มนึงมาตัดแปะสลับกับอีกเล่มที่เข้าคู่กัน กระบวนการนี้เพิ่มความหลากหลายของเซลล์สืบพันธุ์ขึ้นไปอีกและก็ยังทิ้งร่อยรอยประวัติการผสมพันธุ์ข้ามกลุ่มประชากร (interbreeding) ไว้ด้วย

สองกลุ่มประชากรที่แยกจากกันไปนานแล้วจะค่อยๆสะสม mutation ที่แตกต่างกันกระจายอยู่ทั่วทั้งจีโนม แบบแผนของ mutation พวกนี้บอกเราได้ว่าจีโนมไหนน่าจะมาจากประชากรไหน เมื่อสองประชากรที่แยกจากกันไปนานกลับมาผสมข้ามกัน เราก็จะเห็นหลักฐานเป็นชิ้นส่วนจีโนมของประชากรหนึ่งแทรกปนอยู่ในอีกประชากรหนึ่ง สัดส่วนการแทรกปน ขนาดและการกระจายตัวของชิ้นที่แทรกยังบอกเราได้คร่าวๆด้วยว่าการผสมข้ามกันนี้เกินขึ้นเมื่อไหร่ นานแค่ไหน และแต่ละประชากรตั้งต้นมีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใด 

บรรพบุรุษมนุษย์เริ่มแยกจากบรรพบุรุษชิมแพนซี (ญาติใกล้ชิดที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ของมนุษย์) เมื่อราวๆ 7-10 ล้านปีก่อนแต่ยังคงมีการผสมข้ามสายกันบ้างจนมาแยกขาดจริงๆประมาณ 4 ล้านปีก่อน บรรพบุรุษมนุษย์ที่อยู่ในจีนัสโฮโม (Homo) มีกะโหลกใหญ่ เดินสองขา หลังตรงและนิ้วโป้งจับกับปลายนิ้วทั้งสี่ได้หมด (opposable thumb) ปรากฏขึ้นเมื่อ 2 ล้านปีก่อน และแบ่งกลุ่มแยกสายเป็นมนุษย์โบราณสายพันธุ์ต่างๆ ที่น่าจะมีชื่อเสียงสุดคงจะเป็นกลุ่มนีแอนเดอร์ทัล (Homo neanderthalensis) ที่วิวัฒนาการแยกสายจากพวกเรา (Homo sapiens) เมื่อหลายแสนปีก่อน นีแอนเดอร์ทัลตั้งรกรากอยู่ในยูเรเชียก่อนพวกเรา มีเครื่องมือยุคหิน การใช้ไฟ พิธีศพ งานศิลปะ ฯลฯ นีแอนเดอร์ทัลสูญพันธุ์ไปเมื่อราวๆ ถึงช่วงประมาณ 4 หมื่นปีที่แล้วหลังจากการมาถึงของ Homo sapiens ผลวิเคราะห์จีโนมจากฟอสซิลนีแอนเดอร์ทัลชี้ถึงการผสมข้ามพันธุ์กับ Homo sapiens ประมาณ 2% ของจีโนมมนุษย์ปัจจุบันยังคงมีชิ้นส่วนของจีโนมนีแอนเดอร์ทัลแทรกอยู่

แทนที่จะมองว่าจีโนมถูกส่งต่อๆกันมาจากรุ่นสู่รุ่นเป็นเหมือนเป็นสมุดทั้งเล่ม เราอาจตั้งคำถามอีกมุมว่าชิ้นส่วนจีโนมต่างๆ (เทียบเท่ากับประโยค/หัวข้อ/ย่อหน้าในสมุด) ที่เราศึกษาส่งทอดมาจากไหน สัมพันธ์กับใครบ้าง จีโนมของมนุษย์เผ่าหนึ่งอาจจะมีชิ้นส่วนของจีโนมจากมนุษย์อีกเผ่าแทรกปนอยู่จากการผสมข้ามสายในอดีตดังที่กล่าวมาข้างต้น ชิ้นส่วนจีโนมที่ถูกส่งต่อไปด้วยกันนี้นักชีววิทยาเรียกว่า haplotype และการศึกษาเทือกเถาเหล่ากอของแต่ละ haplotype บนจีโนมก็จะช่วยเผยภาพการวิวัฒนาการและประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์มนุษย์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา (2022) ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด (University of Oxford) รวมข้อมูลจีโนมมนุษย์ปัจจุบันกว่าสามพันตัวอย่างจากกว่าสองร้อยกลุ่มประชากรและจีโนมที่สมบูรณ์จากซากมนุษย์โบราณอีกแปดตัวอย่างสร้างเป็นแผนที่ความสัมพันธ์ของมวลมนุษย์ (genealogy) ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา ประกอบด้วยรายละเอียดความเชื่อมโยงระหว่าง haplotype กว่า 27 ล้านชิ้น ทำนายเส้นความสัมพันธ์การสืบทอดพันธุกรรมกว่า 270 ล้านสาย และขอบเขตถิ่นที่อยู่ของบรรพบุรุษแต่ละเผ่าพันธุ์ย้อนไปกว่าแปดแสนปี 

งานแกะรอยประวัติศาสตร์จากจีโนมในสเกลนี้เพิ่งจะเป็นไปได้ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ด้วยข้อมูลจีโนมมหาศาลอันเป็นผลมาจากเทคโนโลยีการถอดรหัสจีโนม (genome sequencing) ยุคใหม่ที่เร็วและถูกกว่าเดิมเป็นล้านเท่า เทคนิคการสกัดและวิเคราะห์ตัวอย่างจีโนมจากซากมนุษย์โบราณที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียง mitochondrial genome และที่สำคัญคือระบบการจัดการฐานข้อมูลและอัลกอริทึมรุ่นๆหลังๆที่กลั่นกรองและผสานข้อมูลมหาศาลที่มาจากหลากหลายแหล่งและอาจจะไม่ได้สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์

ประวัติศาสตร์ไม่เพียงตอบคำถามเราเป็นใคร? มาจากไหน? แต่ยังเป็นวัตถุดิบชั้นดีของ “เรื่องเล่าที่ยังไม่จบ” ประวัติศาสตร์ให้แรงบันดาลใจจากความสำเร็จอันรุ่งโรจน์และบทเรียนจากข้อผิดพลาดอันเจ็บปวด นำทางว่าเราควรไปทางไหนและทำอะไรต่อ? ในทางกลับกัน มนุษย์แทบทุกอารยธรรมเชื่อมาช้านานแล้วว่าสายเลือดและชาติกำเนิดเป็นตัวกำหนดอะไรหลายๆอย่างในชีวิตเรา ชนชั้นวรรณะที่อยู่ งานที่ทำ สหายที่ควรคบหา หรือเผ่าพันธุ์แปลกหน้าที่ควรฆ่าฟัน ฯลฯ เรื่องเล่าความเชื่อพวกนี้จริงบ้างเท็จบ้างคละกันไปขึ้นกับว่าใครจะเล่าในบริบทไหนจุดประสงค์อะไร การศึกษาประวัติศาสตร์ที่วางอยู่บนข้อเท็จจริงยืนยันด้วยหลักฐานวิทยาศาสตร์อาจจะเป็นส่วนสำคัญที่ลบล้างเรื่องเล่าที่บิดเบี้ยวไปเหล่านี้ 

ประวัติศาสตร์ในสมุดจีโนมที่เราทุกคนถืออยู่เป็นหนึ่งในบันทึกย้อนเหตุการณ์อดีตที่สมบูรณ์ที่สุดและซื่อตรงที่สุด ประวัติศาสตร์ฉบับนี้บอกว่า ณ เวลาหนึ่งในห้วงอดีตพวกเราทั้งหลายเชื่อมโยงเป็นสายพันธุ์เดียวกัน มีอพยพเดินทาง แยกจาก และพบเจอผสมปนเปกันใหม่ เราเพิ่งได้เข้าใจเพียงเศษเสี้ยวเดียวของบันทึกอันทรงคุณค่านี้ยังเหลือเรื่องราวปลีกย่อยอีกมากรอการค้นหาอยู่ในสมุดประวัติศาสตร์จีโนม บางทีการค้นพบและเข้าใจอดีตอาจเป็นหนึ่งในไม่กี่หนทางที่จะปล่อยเราเป็นอิสระในอนาคตก็เป็นได้

*ตอนหลังมีหลักฐานมี mitochondrial genome อาจมาจากฝั่งพ่อได้ด้วยแต่ยังถือว่าเป็นส่วนน้อยมาก

** โครโมโซม 22 คู่เลือกมาคู่ละหนึ่งเพื่อสร้างเซลล์สืบพันธุ์ได้ทั้งหมด 222 แบบ รวมจากพ่อและแม่คู่หนึ่งเกิดคอมบิเนชั่นของการปฏิสนธิได้ 222 x 222 ~ 17 ล้านล้านแบบ ถ้ารวม sex chromosome ด้วยก็เป็น 223 x 223 ~ 70 ล้านล้านแบบ ถ้า

อ้างอิง คลิก

โปรดอย่าลืมกดติดตามเพจของ MIC ได้ที่ : Facebook MatichonMIC

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image