Natural Science : “Bioart: Intimacy With Nature” ศิลปิน พันธุวิศวกรรม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดย ดร.ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราเอาศิลปินเจ็ดชีวิตจากห้าประเทศไปฝากไว้ในแล็บพันธุวิศวกรรมหนึ่งเดือนเพื่อปั้นงานจาก ประวัติศาสตร์-ธรรมชาติท้องถิ่น? มหกรรมยำใหญ่ใส่สารพัดทางวิชาการนี้กำลังจะเริ่มในอีกหนึ่งสัปดาห์ข้างหน้า ณ เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งแถวภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย นี่คืองานอะไรกันแน่ เดี๋ยวตอนนี้จะเล่าให้ฟัง

“ชีววิทยา” กับ “ศิลปะ” ผูกพันกันมายาวนาน มนุษย์เราใช้สิ่งมีชีวิตเป็นสื่อ (medium) สร้างสรรค์ศิลปะมาเป็นพันๆ ปีแล้ว เราผสมคัดเลือกพันธุ์ปรับเปลี่ยนพืชและสัตว์ตามธรรมชาติตามต้องการ หลายๆ ครั้งก็เป็นเรื่องของความงาม (aesthetic) ล้วนๆ  ลองนึกถึงสีสันและรูปร่างหลากหลายของดอกไม้ ใบหญ้า หมา แมว นกแก้ว ปลากัด ฯลฯ ทั้งหลายที่หาไม่ได้ในธรรมชาติมีแต่ในบ้านในสวนของเรา หรือถ้าจะมองให้กว้างกว่านั้นงานจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ไล่ไปจนถึงแฟชั่นเสื้อผ้าเครื่องประดับที่เราสวมใส่ก็ได้ “วัตถุดิบ” หลายส่วนมาจากสิ่งมีชีวิต ทั้งที่เป็นวัสดุสารจับต้องได้ (ไม้ กระดูก เส้นใย รงควัตถุ ฯลฯ ที่ใช้สร้างงานศิลปะ) และที่เป็นคอนเซ็ปต์แรงบันดาลใจ (ลวดลาย สัณฐานและกายวิภาค ของมนุษย์ สัตว์ พืช ฯลฯ ที่ปรากฏอยู่ในศิลปะ)

ความพยายามสังเกตและดัดแปลงธรรมชาติของศิลปินเป็นแรงขับเคลื่อนชั้นดีของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีย้อนไปตั้งแต่สมัยกรีกถึงหลังยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการบันทึกของศิลปินว่าด้วยกายวิภาคและสัณฐานวิทยาของมนุษย์ สัตว์ และพืช เป็นหนึ่งคลังความรู้ด้านธรรมชาติวิทยาที่สมบูรณ์ที่สุด นอกจากประโยชน์ด้านการบันทึก และนำเสนอแล้วความเป็นศิลปินยังอาจนำพาการค้นพบปรากฏการณ์หรือเทคนิคใหม่ๆ 

หนึ่งในการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศตวรรษที่ยี่สิบ การค้นพบสารปฏิชีวนะจากราเพนิซิลลิน (Penicillin) ที่ช่วยชีวิตคนนับล้านของอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่ง (Alexander Flemming) เราหลายคนอาจจะเคยเรียนมาว่าเป็นเรื่องความบังเอิญล้วน ๆ ที่ราฆ่าแบคทีเรียตัวนี้ดันมาขึ้นบนจานเพาะเชื้อ หลายคนคงไม่รู้ว่าเฟลมมิ่งเป็นจิตรกรมือสมัครเล่นที่ใช้จุลินทรีย์ในงานวาดบนจานเพาะเชื้อ จุลินทรีย์หลากชนิดถูกเอามาขีดๆ เขียนๆ และปล่อยทิ้งให้เจริญเป็นรูปร่าง เฟลมมิ่งสังเกตุ สะสม และบันทึก รายละเอียดของจุลินทรีย์ต่างสี รูปร่าง อัตราเจริญ ฯลฯ เป็นคลังวัตถุดิบงานวาดเขียน เฟลมมิ่งคงไม่ใช้นักวิจัยคนแรกที่เคยเห็นราเพนิซิลลินบังเอิญงอกบนจานเพาะเชื้อ แต่น่าจะเป็นคนแรกมองมันด้วยดวงตาศิลปินนักวิจัย

Advertisement

เอ็ดเวิร์ด สไตเชน (Edward Steichen) หนึ่งในศิลปินช่างภาพที่ทรงอิทธิพลที่สุดจากต้นศตวรรษที่ยี่สิบ เป็นนักปรับปรุงพันธุ์พืชสมัครเล่น สไตลเชนเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกใช้เทคนิคทำให้กลายด้วยเคมี (chemical mutagenesis) กับดอกเดลฟินเนียม (Delphinium) ผลงานดอกไม้กลายพันธุ์ของสไตเชนถูกยอมรับว่าเป็นชิ้นงานบุกเบิกวงการ “ชีวศิลป์ (Bioart)”

เทคนิคพันธุวิศวกรรมตัดต่อดีเอ็นเอถูกคิดค้นต้นทศวรรษที่ 1970s และกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของศิลปิน Bioart ยุคใหม่ ช่วง 1980s โจ เดวิส (Joe Davis) ศิลปิน Bioart จากเอ็มไอที-ฮาร์วาร์ดทำงานร่วมกับทีมวิจัยด้านการสื่อสารระหว่างอารยธรรมในห้วงอวกาศ ด้วยข้อจำกัดด้านสัญญาณวิทยุทางไกล เดวิสและทีมวิจัยคิดค้นแนวทางใหม่ในการบันทึกและส่งข้อมูลในโมเลกุลดีเอ็นเอ ผลงาน “ไมโครวีนัส (Microvenus)” ภาพสัญลักษณ์ของชีวิตและเพศหญิง กลายเป็นไฟล์ดิจิตอลไฟล์แรกของโลกที่ถูกบันทึกลงดีเอ็นเอและตัดต่อใส่ลงในเซลล์แบคทีเรียอีโคไล งาน bioart ชิ้นนี้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของศาสตร์การบันทึกของมูลดิจิตอลลงดีเอ็นเอ หนึ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตมูลค่าหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ อ่านเพิ่มเติมจากตอน ดีเอ็นเอ – ฮาร์ดไดรฟ์แห่งอนาคต จากไมโครวีนัสถึงไมโครซอฟท์ คลิก

Advertisement

งาน Bioart ได้รับอิทธิพลจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพทั้งในด้านเครื่องมือที่ศิลปินใช้ และประเด็นทางสังคม จริยธรรม และมนุษยวิทยาที่ศิลปินต้องการนำเสนอ ผลงานสิ่งมีชีวิตเรืองแสงของ เอดัวร์โด แคค (Eduardo Kac) เปิดประเด็นเรื่อง GMO กับงานศิลปะ ผลงานประติมากรรมจากเนื้อเยื่อเพาะเลี้ยงของ ไอโอแนต เซอร์ (Ionat Zurr) และ โอรอน แคทท (Oron Catt) นำเสนอประเด็นเรื่องความมีชีวิต จริยธรรมกับปศุสัตว์ และบุกเบิกงานวิจัยและอุตสาหกรรมเนื้อเพาะเลี้ยง ผลงานการปลูกถ่ายหูจำลองบนแขนของ สเตลาร์ค(Stelarc) สื่อสารกับผู้ชมในประเด็นความหมายของการเป็นมนุษย์ ฯลฯ 

ผมเรียนป.โท-เอกที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดช่วงปี 2008-2014 ช่วงเวลาเดียวกับที่ศาสตร์ใหม่ที่เรียกว่าชีววิทยาสังเคราะห์ (synthetic biology) กำลังเริ่มเป็นรูปร่าง ชีววิทยาสังเคราะห์คือคลื่นลูกสองของพันธุวิศวกรรมที่มาพร้อมกับระลอกความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งในด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงงานฝั่งดีไซน์และศิลปะอย่าง bioart ด้วย ชุดเทคโนโลยีใหม่ๆทั้งการสังเคราะห์-แก้ไขยีน จีโนม การถอดรหัสพันธุกรรม ฯลฯ ที่ออกมาติดๆ กันในช่วงเวลาไม่กี่ปีทำให้การวิศวกรรมสิ่งมีชีวิตง่าย เร็ว และถูกกว่ายุคแรกเริ่มมาก สังคมของคนที่สามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมในงานพันธุวิศวกรรมขยายตัวและเพิ่มความหลากหลายอย่างรวดเร็ว ในโรงเรียน-มหาวิทยาลัยมีสมาคมอย่างการแข่งขัน iGEM  (International Genetically Engineered Machines) ที่เติบโตจากคลาสเรียนเล็ก ๆ ที่เอ็มไอทีกลายเป็นงานพันธุวิศวกรรมประจำปีระดับนานาชาติของนักเรียนมัธยม-นิสิตมหาลัยหลายพันคนจากหลายสิบประเทศทั่วโลก ในภาคอุตสาหกรรมตัวเลขการลงทุนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดและจำนวนสตาร์ทอัพใหม่ ๆ ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ในภาคสังคมนอกรั้วสถาบันการศึกษาและบริษัทเราก็ได้เห็นเมคเกอร์สเปส (makerspace) หลายสิบแห่งทั่วโลกที่ผันตัวเป็นห้องแล็บชุมชนที่สามารถรองรับงานพันธุวิศวกรรมพื้นฐานและเปิดกว้างสำหรับใครก็ได้ที่สนใจ

(บน) iGEM การแข่งขันวิศวกรรมสิ่งมีชีวิตประจำปีของนักเรียนนักศึกษา
(ล่าง) BioCurious หนึ่งในห้องแล็บชุมชนที่เมือง ซันนี่เวลล์ แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

ช่วงปี 2009-2010 ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและจากมหาวิทยาลัยแห่งเอดินเบอระ (University of Edinburgh) ได้ทุนวิจัยจากรัฐบาลอังกฤษและสหรัฐอเมริกามาทำโครงการ “Synthetic Aesthetics” ว่าด้วยการบูรณาการ “ศิลปะ (art) การออกแบบ (design)  และชีววิทยาสังเคราะห์ (synthetic biology)” จุดประสงค์ของโครงการนี้ไม่ใช่แค่การสื่อสารหรือนำเสนอภาพชีววิทยาสังเคราะห์ในมุมสุนทรีย์ แต่เป็นการสำรวจและตีความเชิงลึกของความสัมพันธ์/ข้อขัดแย้งข้ามศาสตร์นี้จากผู้เชี่ยวชาญต่างสาขา

Synthetic Aesthetics คัดเลือกศิลปินและนักวิจัยชีววิทยาสังเคราะห์หกคู่จากกว่าร้อยผู้สมัคร ศิลปินและนักวิจัยทำงานร่วมกันอย่างน้อยสี่สัปดาห์ ในห้องแล็บและสตูดิโอที่กระจายกันอยู่ในห้าทวีป ศิลปินและนักวิจัยทดลองแลกเปลี่ยนเครื่องมือและโจทย์ สร้างต้นแบบ และวิพากย์ผลงาน มีตั้งแต่ซอฟต์แวร์ออกแบบสถาปัตยกรรมจากอัลกอริทึมการเจริญของเซลล์พืช ถ้วยชามจากวัสดุมีชีวิต บันทึกกาลเวลาจากสาหร่ายบนคอมพิวเตอร์เมนเฟรม เสียงสังเคราะห์จากลำดับเบสดีเอ็นเอ เนยแข็งจากจุลินทรีย์ร่างกายมนุษย์ ฯลฯ กลุ่มวิจัยของดรูว์ เอนดี (Drew Endy) อาจารย์ที่ผมทำป.เอกอยู่ตอนนั้นเป็นผู้จัดการหลักของโครงการนี้ ดีไซน์เนอร์ ศิลปิน นักสังคมศาสตร์ แวะเวียนกันมาถกประเด็นเชิงปรัชญา อะไรคือการออกแบบ? อะไรคือความงาม? อะไรคือการสังเคราะห์? อะไรคือบทบาทของมนุษย์? ขณะพวกเรานักวิจัยทำวิจัยกับเซลล์กับดีเอ็นเอในแล็บ พวกนักสังคมศาสตร์ก็มาวิจัยพฤติกรรมนักวิจัยอย่างพวกเราอีกที!!

หนังสือและต้นแบบผลงานจากโครงการ Synthetic Aesthetic

ผมกลับไทยมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยนเรศวรปลายปี 2016 กลุ่มวิจัยของเราที่ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ต่อยอดงานวิจัยแนวพันธุวิศวกรรม-ชีววิทยาสังเคราะห์ที่เคยร่ำเรียนมาให้เข้ากับโจทย์ท้องถิ่น/ประเทศ ชีวเคมีและชีวโมเลกุลเป็นภาษาสากลของทุกสิ่งมีชีวิต เครื่องมือและเทคนิคพื้นฐานทางพันธุวิศวกรรม-ชีววิทยาสังเคราะห์สามารถพลิกแพลงใช้กับงานได้หลากหลายด้วยความช่วยเหลือของมิตรสหายทีมงานและผู้ร่วมวิจัยที่เหมาะสม ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมางานที่ทีมเราเข้าไปช่วยทำมีตั้งแต่เรื่องเชื้อดื้อยา อาหารปลากัด โรคระบาดในกล้วย ชุดตรวจโควิด ฯลฯ ไปจนถึงเบเกอรี่เสริมอาหารและสเต็มเซลล์เพื่อการรักษา

…รวมถึงงานหลุด ๆ โลกอย่าง bioart ที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดในไทย

ปี 2018 ทีมผมได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดค่าย JSTP (Junior Science Talent Program) ร่วมกับทีม FREAK Lab ที่นิยามตัวเองว่าเป็นกลุ่มคน “บ้าๆ” ที่ทำงานแบบไร้สาขา (anti-disciplinary) ผลงานทีมนี้มีตั้งแต่ชุดแฟชั่นตอบสนองกับฮอร์โมน, หุ่นยนต์เลียนแบบสิ่งมีชีวิต, เครื่องปริ้นเซลล์สามมิติ, ออเคสตราเสียงหอย, เครื่องผลิตอินซูลินแบบสวมใส่, อาหารไทยในอวกาศ ฯลฯ อ่านเพิ่มเติม 

ทีม FREAK โตมาจากกลุ่มวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีของ “อาจารย์วี” (รศ.ดร.วีระศักดิ์ สุระเรืองชัย) รวมกับบรรดาศิษย์เก่า/ที่ปรึกษา JSTP ตลอดช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมาซึ่งตอนนี้กระจายกันออกไปเป็นทั้งอาจารย์ นักวิจัย นักประดิษฐ์  ฯลฯ ในหลายหลายหน่วยงานทั้งในไทยและต่างประเทศ

ค่าย JSTP ปี 2018 ภายใต้ชื่อ “Hack Biodesign” เอาเด็กมัธยมฉลาดๆ (และประหลาดๆ) หกสิบกว่าคนจากทั่วประเทศ มากินนอนทำกิจกรรมด้วยกันหนึ่งสัปดาห์ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก มี “พีพี” (พัทน์ ภัทรนุธาพร) ศิษย์เก่า JSTP จาก MIT Media Lab  ดูเพิ่มเติม พากลุ่ม FREAK ทั้งแก๊งค์ขึ้นมาช่วยกันจัดงานร่วมกับทีมอาจารย์/นักวิจัยจากพระจอมเกล้าธนบุรี เชียงใหม่ มหิดล สุรนารี และฝั่งของนเรศวรเอง

ค่ายประกอบด้วยสามโมดูลหลัก: “Design + Bio” (งานซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต), “Design with Bio” (งานปรับแต่งพันธุกรรม-ชีววิทยาสังเคราะห์) และ “Design inspired by Bio” (งานออกแบบ วิศวกรรม เลียนแบบสิ่งมีชีวิต) แต่ละโมดูลประกอบด้วยส่วนบรรยายจากวิทยากร ต่อด้วยแล็บหรือกิจกรรมภาคสนาม และปิดท้ายด้วยช่วง Ideate/Sketch/Prototype ประดิษฐ์กรรม “หลุดๆ” โดยทีมเด็ก ๆ นักเรียนผู้เข้าร่วม

ค่าย Jstp: Hack Biodesign

หลังค่ายปี 2018 ผมกับกลุ่ม FREAK ก็ยังคบหาร่วมงานกันอยู่ด้วยศีลเสมอกัน ปี 2020 เรามีงาน Bioart ชิ้นแรกร่วมกับองค์กรด้านอวกาศแนวหน้าของไทยอย่าง spaceth.co  และ Mu Space  เพลง “ความฝันกับจักรวาล” ” ของพี่ตูน บอดี้สแลม ลงดีเอ็นเอและส่งขึ้นสู่อวกาศ ภายใต้ชื่อโครงการ MESSE  โครงการนี้เราได้เล่นกับทั้งอัลกอริทึ่มการแปลงทำนองเพลงเป็นลำดับเบส เทคนิคการประกอบชิ้นส่วนดีเอ็นเอ การทดสอบความทนทานของดีเอ็นเอในอวกาศ ไปจนถึงการตีความเชิงปรัชญาถึงที่ยืนของมนุษย์ อิสรภาพและจักรวาล

โปรเจก MESSE ดีเอ็นเอเพลงไทยไปอวกาศ

โครงการ “BioArt: Intimacy with Nature”  ที่เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2022 ถือได้ว่าเป็นภาคต่อของ Hack Biodesign และ MESSE โดยคราวนี้เราจะโฟกัสกับกลุ่มศิลปินมืออาชีพยาวหนึ่งเดือนเต็ม ตีมหลักของงานนี้คือการหวนคืนสู่ความสัมพันธ์ใกล้ชิด (intimacy) กับธรรมชาติ พวกเรามองว่าสิ่งที่ดูล้ำๆหลุดโลกอย่างชีววิทยาสังเคราะห์และศิลปสมัยใหม่สามารถจะเชื่อมต่อกลับยังสิ่งที่เป็นพื้นฐานบ้านๆ ใกล้ตัวมากๆ อย่างธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่น ความเข้าใจในรากเหง้าอย่างลึกซึ้งจะมอบเครื่องมือ เรื่องราว และแรงบันดาลใจสู่ bioart ที่จำเพาะไม่เหมือนที่ไหน แต่ก็เป็นสากลพอที่ใครๆบนโลกนี้ก็สามารถเข้าถึง ใช้ประโยชน์ และมีส่วนร่วมได้

โครงการนี้นำทีมโดย “เฮนรี่” (พรเลิศ ตันติพาณิชย์กูล) หนึ่งในสมาชิก FREAK Lab ผู้ที่น่าจะเป็นศิลปินอาชีพหนึ่งในไม่กี่คนของไทยที่เข้าใจงาน Bioart และชีววิทยาสังเคราะห์อย่างแท้จริง เฮนรี่ทำงานศิลปะด้วยสื่อผสมผสาน ทั้งที่เป็นชิ้นงานจัดวางและการแสดงที่เน้นให้ผู้ชมมีส่วนร่วม เคยได้ทุนไปเป็นศิลปินพำนัก (artist in residency) จัดแสดงงานศิลปะแล้วในหลายประเทศ อย่าง “Retriever” การเดินทางของหมาเหงาผู้สูญเสียการดมกลิ่นที่เกาหลี, “Merchant Trinity” เรื่องราวของทางสายไหม และการสิ้นอิสรภาพที่ศรีลังกา, “Young Eel” ว่าด้วยความทรงจำของคนหนุ่มสาว ปลาไหล และเนื้อเพาะเลี้ยงที่ญี่ปุ่น “Pearl Of Lunar” ไข่มุกแกะสลักบนสถานีอวกาศนานาชาติ ร่วมกับทีมของ Mit Media Lab 

ภาพผลงาน “Retriever”, “Merchant Trinity”, “Young Eel” และ “Pearl of Lunar”

เฮนรี่ได้แรงบันดาลใจสู่วงการ bioart ตอนไปเป็นศิลปินพำนักที่กลุ่ม Metaphorest ของฮิเดโอะ ไอวาซากิ (Hideo Iwasaki) อาจารย์นักวิจัยด้านสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (cyanobacteria) ที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น ฮิเดโอะเป็นหนึ่งกลุ่มนักวิจัยในโครงการ Synthetic Aesthetic ของสแตนฟอร์ด-เอดินเบอระเมื่อสิบกว่าปีก่อนและเป็นผู้บุกเบิกงาน bioart คนแรก ๆ ของเอเชีย 

อีกฝั่งของโครงการ “BioArt: Intimacy with Nature”  รับหน้าที่โดย BIPAM (Bangkok International Performing Art Meeting) ทีมนักบริหารจัดการศิลปะการแสดงมืออาชีพ ที่ต้องการเปิดพื้นที่ใหม่ ๆ ให้กับเครือข่ายศิลปินด้านศิลปะการแสดงทั้งในและต่างประเทศ เมื่อต้นปีนี้เราได้จัดเวิร์คชอปบรรยายเกี่ยวกับ BioArt ร่วมกัน BIPAM ก็ได้ชวนศิลปินกลุ่ม B-Floor มานำเสนอการสร้างการแสดงจากงานวิจัยโรคติดเชื้อเมลิออยด์ของทีมมหิดล-ออกซ์ฟอร์ด เรื่อง Survival Games  สำหรับวงการศิลปะการแสดงการทำงานข้ามศาสตร์มายังแวดวงวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่จะเป็นการนำศิลปะการแสดงไปใช้เสริมสกิล ต่อยอดองค์ความรู้ในฐานะเครื่องมือหนึ่งมากกว่าที่จะผลิตเป็นผลงานสร้างสรรค์แบบเต็มโปรดักชั่น เรียกได้ว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกเลยที่ศิลปินศิลปะการแสดงในเมืองไทยจะได้เข้ามาใช้แล็บชีวสังเคราะห์อย่างจริงจัง  

ฝั่งมหาวิทยาลัยนเรศวรนอกจากกลุ่มวิจัยของผมที่ทำงานด้านชีววิทยาสังเคราะห์แล้วก็ยังมีอาจารย์นักวิจัยอีกหลายท่านที่เป็นทีมทำงานหลักทั้งฝากที่เป็นสายวิทย์อย่าง อาจารย์หวาย (ดร.วรัชรี ศรีฟ้า) นักวิศวกรรมสเต็มเซลล์, อาจารย์เมย์ (ผศ.ดร. เมธาวี ศรีคำมูล) นักแกะรอยประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์จากดีเอ็นเอ และฝั่งที่เป็นสายศิลป์สังคมอย่างอาจารย์ท็อป (รศ.ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล) ผู้ชำนาญประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและการประยุกต์ใช้

ศิลปินเจ็ดท่านจากห้าประเทศ (ออสเตรีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ และไทย) มาพร้อมความชำนาญที่หลากหลายตั้งแต่การชงชาจากเอเลี่ยนสปีชีย์ จิตรกรรมบำบัด สิทธิถือครองเมล็ดพันธุ์ ศิลปะจากปัญญาประดิษฐ์ มรดกดีเอ็นเอ และการออกแบบจากราเมือก ศิลปินทั้งเจ็ดท่านจะทำงานร่วมกับนักวิจัย ศิลปินและผู้ประกอบการในพื้นที่เพื่อทดลองการหลอมรวมและตีความใหม่ของธรรมชาติและวัฒนธรรมพื้นถิ่นในบริบทของ bioart เราจะมีเวิร์กช็อบทั้งออนไลน์และออฟไลน์ (ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร) ในช่วงสัปดาห์ที่สามและการแสดงผลงานต้นแบบหลังจากนั้น

จะเกิดอะไรเข้าถ้าเราเอาชีววิทยาสังเคราะห์ มายำรวมกับศิลปะ การออกแบบ ธรรมชาติและวัฒนธรรมพื้นถิ่น? กลุ่ม Synthetic Aesthetic เคยตั้งคำถามคล้ายคลึงกันนี้เมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว

“We will be surprised!” (พวกเราก็คงประหลาดใจ) ใครซักคนเขียนตอบไว้ระหว่างประชุมระดมสมอง

พวกเราทีมงาน “BioArt: Initimacy with Nature” ก็คาดหวังอย่างเดียวกัน เป้าหมายส่วนตัวของพวกเราในการรวมตัวกันในงานนี้คือได้ “เซอร์ไพรซ์” กันและกัน และ “เซอร์ไพรซ์” คนผู้ชมของเรา ความประหลาดใจนำมาสู่ความสงสัย ความสงสัยนำมาสู่การค้นคว้า ค้นพบ และเข้าใจ ได้มองเห็นโลกใบทั้งที่ย้อนไปในอดีตหรือสู่อนาคตผ่านเลนส์ใหม่ๆ ที่ได้แบ่งปันกัน

โปรดอย่าลืมกดติดตามเพจของ MIC ได้ที่ : Facebook MatichonMIC

เอกสารอ้างอิง คลิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image