Science Insights : Morning Glory cloud เมฆที่ยาวที่สุดในโลก โดย ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ

สมมติว่ามีคนขอให้คุณวาดภาพเมฆ ผมขอเดาว่าส่วนใหญ่มักจะวาดภาพเมฆก้อนที่เรียกกันว่า คิวมูลัส  (Cumulus) แต่ก็อาจมีบางคนวาดแตกต่างออกไป เช่น วาดเมฆฝนฟ้าคะนองก้อนใหญ่ๆ ที่เรียกว่า คิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) หรือวาดเมฆเป็นเส้นๆ ริ้วๆ ที่เรียกว่า ซีร์รัส (Cirrus) 

แต่เมฆในธรรมชาติอาจมีรูปทรงอื่นๆ ได้อีก ไม่ว่าจะคล้ายจานบิน ก้างปลา ระลอกคลื่น ฯลฯ หรือแม้กระทั่งทรงกระบอก!

เมฆทรงกระบอกนี่ มีชื่อเรียกแบบง่ายๆ ว่า เมฆม้วน (roll cloud) ชื่อวิชาการคือ โวยูตัส (volutus) มีรูปร่างคล้ายท่อตันยาวๆ วางตัวในแนวนอนขนานกับพื้น 

ดูตัวอย่างเมฆชนิดนี้ได้ใน International Cloud Atlas ที่นี่คลิก  

Advertisement

ในบ้านเราก็เคยเกิดเมฆม้วนขึ้นหลายครั้ง แถมบางครั้งยังเป็นข่าวซะด้วย

ดูตัวอย่างข่าวเกี่ยวกับเมฆม้วนได้ที่ (แต่ในข่าวเรียกผิดเป็นชื่ออื่น) อ่านเพิ่มเติม

ทีนี้ถ้าถามว่า เมฆม้วนที่ยาวที่สุดในโลกยาวสักแค่ไหน? กี่กิโลเมตร?

Advertisement

ลองเดาคำตอบไว้ในใจก่อนนะครับ ค่อยๆ อ่านไปอีกนิดจะเจอเฉลย 

เมฆที่ยาวที่สุดในโลกมีชื่อว่า เมฆมอร์นิงกลอรี (Morning Glory cloud) ครับ เมฆแบบนี้เกิดได้ในหลายพื้นที่ของโลก แต่มีอยู่แห่งที่หนึ่งที่มาแบบทำนายได้แม่นยำพอสมควร นั่นคือ บริเวณอ่าวคาร์เพนทาเรีย (Gulf of Carpentaria) ติดกับแหลมเคปยอร์ค (Cape York Peninsula) ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย 

ในช่วงเดือนกันยายนถึงราวกลางเดือนพฤศจิกายนของทุกปี บริเวณนี้จะมีเมฆมอร์นิงกลอรีเกิดในช่วงเช้าตรู่ เฉลี่ยแล้วทุกๆ 2 วันมาครั้งหนึ่ง

เมฆมอร์นิงกลอรีหนาประมาณ 1 กิโลเมตร และกว้างราวๆ 1-2 กิโลเมตร ฐานเมฆ (ขอบด้านล่าง) อยู่สูงจากพื้นไม่มากนัก สัก 100-200 เมตร เท่านั้น ขนาดย่อมๆ ก็ยาวสักหลายสิบกิโลเมตร แต่ที่เคยเกิดยาวที่สุด ยาวถึงประมาณ 1,000 กิโลเมตร!

ใช่ครับ ยาว 1,000 กิโลเมตร ยืนยันด้วยภาพถ่ายดาวเทียม 

ชมภาพและข้อมูลจากเว็บสำหรับเมฆมอร์นิงกลอรี ได้ที่นี่คลิก

เมฆมอร์นิงกลอรีอาจมาแค่เพียงเส้นเดียว แต่บางทีก็เรียงแถวตามกันมาทีละหลายๆ เส้น งานวิจัยระบุว่าสูงสุดถึง 20 เส้นก็เคยมีมาแล้ว เมฆนี้เคลื่อนตัวตั้งฉากกับความยาวด้วยอัตราเร็วในช่วง 36-54 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากเราอยู่บนพื้นในขณะที่มันเคลื่อนที่ข้ามศีรษะไป ก็จะรู้สึกว่ามีลมแรงพัดมาแบบทันทีทันใด อีกทั้งความกดอากาศก็จะเพิ่มขึ้นราว 1-2 เฮกโตพาสคัล (hPa)

เนื่องจากความยิ่งใหญ่อลังการ และการที่เมฆนี้ไม่ค่อยผิดนัดนี่เองที่ทำให้คนจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะนักบินและนักเล่นเครื่องร่อน (hang glider) เฝ้ารอคอยช่วงเวลาที่จะได้ขึ้นไป “โต้เมฆ” บนฟ้า โดยมักจะไปพักที่เมืองเล็กๆ ชื่อเบิร์คทาวน์ (Burketown)

ใน YouTube มีคลิปสัมภาษณ์นักโต้เมฆมอร์นิงกลอรีซึ่งบอกว่าเป็นประสบการณ์พิเศษสุดที่ยังหวนระลึกถึงเสมอๆ  ใครสนใจตามไปดูคลิปชื่อ Hang Gliding a Morning Glory ( Jonny Durand ) Surfing the biggest wave Ever ได้ที่นี่ครับ คลิก

เมฆมอร์นิงกลอรีที่บริเวณนี้มีถึง 3 ทิศทางแตกต่างกัน ที่เจอบ่อยที่สุดคือ เมฆที่เคลื่อนมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeasterly Morning Glory) ซึ่งมีจำนวนเกินครึ่งของเมฆมอร์นิงกลอรีทั้งหมด 

ส่วนอีก 2 ทิศทางได้แก่ เมฆที่เคลื่อนมาจากทิศใต้ (Southerly Morning Glory) ซึ่งมีราวๆ หนึ่งในสาม และที่เหลือคือ เมฆที่เคลื่อนมาจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ (Southeasterly Morning Glory) 

คำถามสำคัญที่หลายคนน่าจะสนใจก็คือ เมฆมอร์นิงกลอรีเกิดขึ้นได้อย่างไร?

นักวิชาการด้านลมฟ้าอากาศเสนอไว้หลายทฤษฎี แต่ที่ผมขอนำมาเล่าให้ฟังในที่นี้มาจากบทความวิจัยเรื่อง The Generation of Morning Glory เขียนโดย Robert A. Goler และ Michael J. Reeder ตีพิมพ์ใน Journal of the Atmospheric Sciences เมื่อปี ค.ศ.2004 บทความนี้นำเสนอหลักการและผลการคำนวณตามแบบจำลองเชิงตัวเลข (numerical model) ซึ่งทำให้ได้ข้อสรุปชัดเจนและเป็นรูปธรรม

ทีมวิจัยศึกษาเมฆมอร์นิงกลอรีที่เคลื่อนมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือมากเป็นพิเศษเพราะเกิดบ่อยที่สุด การศึกษาเมฆมอร์นิงกลอรีที่เกิดในบริเวณนี้จำเป็นต้องคำนึงถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์ ได้แก่ แหลมเคปยอร์ค ด้วย เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญ  เพราะลมทะเล (see breeze) ที่พัดเข้าหาแหลมนี้จาก 2 ฝั่ง มีลักษณะแตกต่างกัน ดังนี้

ลมทะเลฝั่งทิศตะวันออกของแหลม (east-coast sea breeze) อุ่นกว่า และมีระยะที่พัดในแนวดิ่งมากกว่า (มองด้านข้างคือ “หนากว่า”) ลมนี้ดูจากแผนที่จะพัดจากขวาไปซ้าย

ส่วนลมทะเลฝั่งทิศตะวันตกของแหลม (west-coast sea breeze) เย็นกว่า และมีระยะที่พัดในแนวดิ่งน้อยกว่า (มองด้านข้าง คือ “บางกว่า”) ลมนี้ดูจากแผนที่จะพัดจากซ้ายไปขวา

เมื่อลมทะเลทั้งสองพบกัน ลมฝั่งตะวันออก (ซึ่งอุ่นกว่า) จะเคลื่อนตัวคร่อมเหนือลมฝั่งตะวันตก (ซึ่งเย็นกว่า) เนื่องจากอากาศอุ่นนั้นเบา (มีความหนาแน่นต่ำ) ส่วนอากาศร้อนหนัก (มีความหนาแน่นสูง) ผลก็คือ บริเวณผิวรอยต่อของลมฝั่งตะวันตกจะเกิดเป็นลอนคลื่นกระเพื่อม โดยลอนคลื่นนี้จะเคลื่อนไปทางซ้าย ในทิศทางเดียวกับลมฝั่งตะวันออก

จากการคำนวณ Goler & Reeder พบว่ายิ่งลอนคลื่นที่เกิดขึ้นเคลื่อนที่เร็วใกล้เคียงกับลมทะเลฝั่งตะวันออกมากเท่าไร ก็จะทำให้ขนาดคลื่นกระเพื่อมในแนวดิ่งมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นมากเท่านั้น หากในบริเวณที่คลื่นกระเพื่อมสูงขึ้นมีความชื้นมากเพียงพอ ก็จะเกิดเป็นเมฆมอร์นิงกลอรีเคลื่อนตัวไปทางซ้ายนั่นเอง (ตัวเลขแม่นๆ ก็คือ อัตราส่วนระหว่างความเร็วของคลื่นกระเพื่อมต่อความเร็วของลมทะเลฝั่งตะวันออกต้องมีค่าตั้งแต่ 0.7 ขึ้นไป จึงจะเกิดเมฆมอร์นิงกลอรีได้)

นอกจากนี้ยังพบว่า หากอากาศเย็นที่ผิวพื้นมีเสถียรภาพดี หรือ อัตราส่วนระหว่างความเร็วของคลื่นกระเพื่อมต่อความเร็วของลมทะเลฝั่งตะวันออกมีค่าใกล้เคียง 1.0 เท่าไร ก็จะเพิ่มโอกาสที่จะเกิดเมฆมอร์นิ่งหลายเส้นตามไปด้วย

หมั่นมองท้องฟ้าบ่อยๆ ครับ ถ้าเจอปรากฏการณ์ที่สงสัย อาจส่งมาถามให้ผม หรืออาจนำภาพถ่ายท้องฟ้าที่คุณผู้อ่านเจอไปแบ่งปันในกลุ่มชมรมคนรักมวลเมฆได้ที่นี่ครับ Facebook CloudLoverClub

พบกันใหม่ในบทความหน้าครับ! 😊

———————————————-

โปรดอย่าลืมกดติดตามเพจของ MIC ได้ที่ : Facebook MatichonMIC

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image